ต่ออายุ GSP ล่าช้า กระทบส่งออกไทยไปสหรัฐฯจำกัด

10 ม.ค. 2561 | 07:58 น.
ต่ออายุ GSP ล่าช้า ...กระทบส่งออกไทยไปสหรัฐฯ จำกัด

ประเด็นสำคัญ

 ความล่าช้าของการพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ที่ให้แก่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ไม่น่ามีผลกระทบต่อแนวโน้มภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญหากการขาดช่วงสิทธิ GSP ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากสินค้าส่งออกภายใต้ GSP ของไทย คิดเป็นเพียงร้อยละ 16.0 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 1.9 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด

 อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเฝ้าระวังสินค้าอยู่ 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ กล่าวคือ 1. สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันไม่สูงนักและต้องเผชิญกับอัตราภาษี MFN ที่สูง และ 2. สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน แต่อาจโดนแย่งส่วนแบ่งตลาดในระยะยาว จากประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2561 จะเติบโตในร้อยละ 5.3 (ช่วงประมาณการร้อยละ 4.8-5.8) หากการต่ออายุสิทธิ GSP ทิ้งช่วงไม่เกิน 6 เดือน
การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แม้จะไม่มี FTA ระหว่างกัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของสหรัฐฯ หรือ GSP (Generalized System of Preferences) ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่ไปยังสหรัฐฯ มีแต้มต่อในการทำตลาดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อที่ทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาทบทวนการต่ออายุสิทธิ GSP ที่ให้แก่ประเทศต่างๆ จากรอบที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2560 อันส่งผลให้สินค้าส่งออกจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เดิม รวมถึงไทย ต้องเผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติในช่วงการพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP ดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในปี 2561 เป็นปีที่จะมีการจัดเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ทำให้ประเด็นเศรษฐกิจในประเทศไม่ว่าจะเป็นการปรับลดภาษีเงินได้ ตลอดจนการเร่งกดดันประเทศที่เกิดดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นประเด็นเร่งด่วนที่สหรัฐฯ น่าจะให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ทำให้การพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP มีช่วงเวลาไม่ชัดเจนซึ่งมีความเป็นไปได้ใน 2 กรณีดังนี้

กรณีที่ 1 การขาดช่วงสิทธิ GSP เป็นการชั่วคราวของไทยไม่เกิน 6 เดือน ก็จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2561 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะเติบโตในร้อยละ 5.3 (ช่วงประมาณการร้อยละ 4.8-5.8) ประกอบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายในสหรัฐฯ น่าจะทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้าหลายประเภทเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาการส่งออกของไทยภายใต้สิทธิ GSP โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 3,448 ล้านดอลลาร์ฯ (ข้อมูลจาก USITC) เติบโตร้อยละ 5.1 (YoY) และคิดเป็นสัดส่วน 16.0 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีนำเข้าภายใต้สิทธิ GSP และอัตราภาษีปกติ (MFN rates) ที่สหรัฐฯ ให้เป็นการทั่วไป ในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่อาศัยสิทธิ GSP เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และถุงมือยาง เป็นต้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 10-1-2561-14-44-42-01

กรณีที่ 2 การขาดช่วงสิทธิ GSP กินเวลายาวนานออกไป ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีนี้ลดลงร้อยละ 0.5 -1.0 ของคาดการณ์การส่งออก ที่อาจส่งผลกระทบในสินค้าบางประเภท โดยการขาดช่วงสิทธิ GSP ครั้งล่าสุดที่ยาวนานถึง 2 ปี ในช่วงสิงหาคม 2556 - กรกฎาคม 2558 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิ GSP ของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2556 หดตัวลงถึงร้อยละ 10.5 (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ เพิ่งเริ่มผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่และไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าได้มากนัก) ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานะของการต่ออายุสิทธิ ก่อนจะกลับมาเติบโตร้อยละ 5.7 ในปี 2557

การที่สิทธิ GSP ที่ไม่ต่อเนื่องในครั้งนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่ม GSP บางส่วนเผชิญความท้าทายระหว่างรอเวลาการต่ออายุสิทธิ GSP โดยอาจสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งสินค้าไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีนและเวียดนามที่มีสินค้าคล้ายคลึงกับไทย อีกทั้งแม้ไม่มีสิทธิ GSP ก็สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าไทย ซึ่งพิจารณาได้ดังนี้

 กลุ่มสินค้าที่ไม่น่ากังวลนักเพราะไทยครองตลาดในสหรัฐฯ และไทยมีส่วนแบ่งตลาดทิ้งช่วงห่างคู่แข่งพอสมควร แม้ราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นทันทีตามการเก็บภาษีที่ MFN แต่สินค้าไทยก็น่าจะยังไปได้ คือเลนส์ ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของสหรัฐฯ และไทยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างจีนและฟิลิปปินส์พอสมควร ขณะที่ถุงมือยาง ไทยมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมาก แต่หากขาดสิทธิ GSP เป็นเวลานานอาจสูญเสียตลาดในแก่จีนที่มีส่วนแบ่งตลาดพอๆ กับไทยและสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่าทั้งๆ ที่จีนที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP

 กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก เผชิญอัตราภาษี MFN ที่ค่อนข้างสูงทำให้ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นรุนแรง อีกทั้งไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อยจึงมีความเสี่ยงที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่นทันที โดยสินค้าที่ต้องเตรียมแผนการรับมืออย่างเร่งด่วน ได้แก่ กุญแจรถยนต์ มอเตอร์ อาหารปรุงแต่ง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เป็นเซรามิกส์ วาล์วสำหรับยางใน ของที่ทำด้วยพลาสติก ลิ้นจี่กระป๋อง และแผงควบคุมไฟฟ้า เป็นต้น

 กลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังอาจมีคำสั่งซื้อค่อยๆ ลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวสินค้าเป็นหลัก ถ้าหากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาสินค้าจากแหล่งอื่นมาทดแทนยาก ก็มีโอกาสที่สินค้าไทยจะยังคงรักษาตลาดไว้ได้ อาทิ ส่วนประกอบยานยนต์ ซอสปรุงรสที่เป็นเอกลักษณ์ไทย แต่ถ้าหากเป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่มีส่วนแบ่งกำไรที่ต่ำ ผู้ประกอบการนำเข้าทางฝั่งสหรัฐฯ อาจไม่สามารถแบกรับภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ จนอาจจะตัดสินใจไปสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นได้โดยง่าย ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอาหารบางรายการ เป็นต้น 10-1-2561-14-47-42-22-2

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สหรัฐฯ น่าจะยังคงต่ออายุสิทธิ GSP กับประเทศต่างๆ ต่อไป รวมทั้งไทย เพราะสินค้าส่วนใหญ่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ แต่ก็ยังต้องติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาสิทธิจาก USTR ที่ยังมีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจมีผลทำให้การต่ออายุ GSP ล่าช้าออกไป แต่ก็น่าจะเร็วกว่าการต่ออายุในปี 2558

ทั้งนี้ หากการต่ออายุสิทธิ GSP เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วก็น่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในภาพรวมไปสหรัฐฯ ในปี 2561 ก็น่าจะยังให้ภาพเติบโตต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า การส่งออกไปสหรัฐฯ น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.3 มีมูลค่าการส่งออกราว 27,700 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการร้อยละ 4.8-5.8) แต่ถ้าการขาดช่วงของ GSP กินเวลายาวนานออกไป ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ร้อยละ 0.5 -1.0 ของคาดการณ์การส่งออก ซึ่งการเติบโตดังกล่าวอาจชะลอลงจากปี 2560 ที่มีฐานค่อนข้างสูงเพราะการส่งออกที่เร่งตัวตลอดปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 8.1 (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 24,335 ล้านดอลลาร์ฯ

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15