เศรษฐกิจ-ดีมานด์โลกโต ส่งออกข้าว-ยาง-ไก่เนื้อปี 61 รุ่ง

06 ม.ค. 2561 | 09:40 น.
ภาคเกษตรของไทยแม้จะมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่เป็นภาคที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ณ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่รับขึ้นทะเบียนไว้ทั่วประเทศ 6.5 ล้านครัวเรือน รวมกว่า 14 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านผลผลิต และด้านราคาที่มีความผันผวนมาโดยตลอด ทั้งนี้สถานการณ์ และศักยภาพการแข่งขันสินค้าเกษตรสำคัญของไทยในเวทีโลกในปี 2561 จะเป็นอย่างไรนั้น “วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข” เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ได้วิเคราะห์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้

[caption id="attachment_246777" align="aligncenter" width="503"] วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข[/caption]

++ปีทองส่งออกข้าวไทย
“วิณะโรจน์” กล่าวว่า ในปี 2561 จะเป็นอีก 1 ปีทองของการส่งออกข้าวไทยคาดจะส่งออกได้ประมาณ 9.5-10 ล้านตัน เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังคงมีความต้องการข้าวคุณภาพดีจากไทยต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกข้าวไทยปรับลดลงไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เช่น เวียดนาม มีแผนยุทธศาสตร์ส่งออกข้าวปี 2560-2563 โดยตั้งเป้าส่งออกข้าว จำนวน 4.5-5 ล้านตันต่อปี มูลค่าปีละ 2,200-2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเวียดนามยังให้ความสำคัญกับตลาดส่งออกในแถบอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดของข้าวไทยเช่นกัน

ส่วนบังกลาเทศ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ จากเดิมที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เปลี่ยนเป็นเปิดประมูลซื้อข้าวกับเอกชนที่เป็นเทรดเดอร์แทน ส่วนประเทศผู้นำเข้า อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย พึ่งพาตนเองด้วยการปลูกข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศมากขึ้น

++ยางขาขึ้น-ราคาปรับตัว
สำหรับยางพารา ในปี 2561 คาดว่าผลผลิตยางพาราโลก 13.71 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.33% เนื่องจากประเทศผู้ผลิต เช่น เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ขยายพื้นที่ปลูก และได้ทยอยเปิดกรีดยางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราโลกจะมีประมาณ 13.28 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของจีนและอินเดียยังคงขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.7%

ส่วนราคายางพาราในตลาดโลกคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งเศรษฐกิจจีน ผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกก็ยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน

++ไก่เนื้อโตแต่ต้นทุนสูง
ในสินค้าเนื้อไก่ของโลกคาดจะมีปริมาณ 91.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 90.18 ล้านตันในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 1.22% การผลิตเนื้อไก่ของโลกขยายตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตสำคัญทั้งสหรัฐฯ บราซิล สหภาพยุโรปและอินเดีย ขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนไก่เนื้อของจีนคาดจะลดลง จากประสบปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ส่วนการส่งออกเนื้อไก่ของโลกในปี 2561 คาดจะมีปริมาณ 11.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 11.08 ล้านตัน ในปี 2560 คิดเป็น 3.29% โดยบราซิล ยังคงเป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่มากสุดของโลก รองลงมาคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ส่วนไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4

“ปัจจัยบวกของสินค้าเนื้อไก่คือการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกทำให้ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น โดยตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาจีน และบราซิล มีปัญหาเรื่องมาตรฐานส่งออก เรื่องความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร ทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อไก่แปรรูปจากไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีปัจจัยลบด้านต้นทุนการผลิตไก่เนื้อของไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน และประเทศต่างๆ เริ่มนำมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้เพิ่มขึ้น เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

++“มัน” รัฐพยุงราคา
ส่วนมันสำปะหลังในปี 2561 คาดพื้นที่เก็บเกี่ยวมี 8.07 ล้านไร่ ผลผลิต 28.57 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 3.54 ตัน เทียบกับปี 2560 พบว่าพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.91 ล้านไร่ ผลผลิต 30.94 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3.47 ตัน พื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตลดลง 9.39% และ 7.66% ตามลำดับ เนื่องจากราคาหัวมันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ราคาตํ่า ส่งผลให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า ปีนี้คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น มันอัดเม็ด มันฝาน และแป้งมันสำปะหลัง) จะใกล้เคียงกับปี 2560 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงหากประเทศจีนลดการนำเข้ามันเส้นจากไทย หรือราคาพืชทดแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลีปรับตัวลดลง จะส่งผลทำให้ราคามันสำปะหลังลดลงได้ ดังนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 สิงหาคม 2560 จึงได้อนุมัติหลักการแก้ปัญหา 14 โครงการช่วยพยุงราคา และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร

“ประเมินภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวเช่นปัจจุบัน การส่งออกจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้สศก.มีภารกิจหลักเป็นหน่วยงานชี้นำ จะต้องเร่งทำฐานข้อมูลให้ถูกต้อง และให้เกษตรกรรับรู้ข้อมูลมากที่สุด ทั้งการผลิต และสถานการณ์ตลาดโลก รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพราะถ้ากลไกข้อมูลถูกต้องจะไม่มีโอกาสให้พ่อค้ามากดราคา”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9