วัยรุ่นไทยเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 3 ล้านคน ป่วยแล้วกว่า 1 ล้านคน

24 ธ.ค. 2560 | 11:26 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2560 | 18:26 น.
กรมสุขภาพจิต พบวัยรุ่นไทยเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ากว่า  3 ล้านคน ป่วยแล้วกว่า 1 ล้านคน ชี้อาการป่วยดูยาก อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวใช้ความรุนแรง ใช้ยาเสพติด ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิด ไม่เข้าใจ!

[caption id="attachment_244894" align="aligncenter" width="503"] นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์[/caption]

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาโรคซึมเศร้าว่า เป็นภาวการณ์เจ็บป่วยที่ต้องเร่งรักษาและป้องกัน เนื่องจากโรคนี้ส่งผลต่อการสูญเสียทั้งชีวิต การงาน การเรียน การเข้าสังคมของผู้ป่วย   องค์การอนามัยโลกระบุว่าในปีที่ผ่านมาประชากรโลกเผชิญปัญหานี้   1 ใน  20 คน และเมื่อป่วยแล้วมีอัตราป่วยซ้ำได้สูงถึงร้อยละ 50-70 ที่น่าวิตกไปกว่านั้น ยังพบว่าโรคซึมเศร้าเป็นต้นเหตุใหญ่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกฆ่าตัวตายหรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ส่วนของประเทศไทย มีผลการศึกษาพบวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ  44  หรือมีประมาณ 3 ล้านกว่าคนจากวัยรุ่นที่มีทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน  และมีอัตราป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 18  คาดว่าขณะนี้ทั่วประเทศมีวัยรุ่นป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่ยังเข้าถึงบริการน้อย เนื่องมาจากลักษณะอาการทางอารมณ์และพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ป่วยซึมเศร้าจะไม่เหมือนอาการของผู้ใหญ่ กล่าวคือ อาจมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง  ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น มีอารมณ์ก้าวร้าวหรือแปรปรวนง่าย หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นใช้ยาเสพติด   หรืออาจแยกตัว ไม่กล้าเข้าสังคม ทำให้ผู้ปกครอง ครู เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปัญหานิสัยเกเร     จึงทำให้วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าจำนวนมากไม่ได้รับการช่วยเหลือและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่มีความรุนแรงขึ้นตามมา เช่น ฆ่าตัวตาย  ทำร้ายคนอื่น ติดยา เรียนไม่จบ เป็นต้น

“ ขณะเดียวกันด้วยลักษณะเฉพาะของตัววัยรุ่นเอง ที่ไม่ต้องการถูกระบุว่ามีปัญหา อาจปฏิเสธการไปรับการรักษา โดยเฉพาะเมื่อเจอผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ  ตำหนิ   กรมสุขภาพจิตได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พัฒนาแนวทางการดูแลรักษาวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ   เพื่อให้วัยรุ่นที่มีปัญหาได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นอย่างทันท่วงที” นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าว

ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา  สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  กทม.กล่าว สถาบันฯได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า เพื่อให้แพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการดูแลรักษา ป้องกันภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นได้อย่างถูกต้อง  ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของวัยรุ่น และระบบบริการมากที่สุด  คาดว่าจะพร้อมใช้ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 นี้

แพทย์หญิงมธุรดากล่าวต่อว่า วัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า  มี 4 กลุ่มใหญ่ที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. ผู้ที่มีประวัติเป็นคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช  เช่น เป็นโรคซึมเศร้า        โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรควิตกกังวล สมาธิสั้น   2. มีโรคเรื้อรังทางกาย เช่นโรคมะเร็ง โรคไต โรคที่ทำให้ร่างกายผิดรูปหรือมีผลต่อภาพลักษณ์  3. ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม เช่น อกหัก ใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์  ปัญหาการเรียน โดนรังแก ใช้ความรุนแรงในครอบครัว  เป็นต้น และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีครอบครัวไม่อบอุ่น  มีความขัดแย้งในครอบครัว รวมทั้งการเลี้ยงดูที่ขาดการสอนทักษะการจัดการอารมณ์ตนเอง

สำหรับแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า มี4 ส่วนหลักได้แก่ 1.การคัดกรองซึมเศร้า  ซึ่งทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นกำลังพัฒนาเครื่องมือและช่องทางที่เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น  2. การตรวจวินิจฉัย การตรวจร่างกายและตรวจสภาพทางจิต 3.การรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัดเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมและอารมณ์ทางบวก  ปรับความคิดที่ทำให้ซึมเศร้า ซึ่งจะสามารถลดภาวะซึมเศร้าลงได้ภายใน 4 สัปดาห์ และ4.การส่งเสริมการป้องกันปัญหาซึ่งครอบครัวและโรงเรียนมีส่วนสำคัญ เนื่องจากวัยรุ่นต้องการความรัก ความเข้าใจ อีกทั้งเป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการความขัดแย้ง  ส่งเสริมให้วัยรุ่นรู้จักใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา   ในส่วนของโรงเรียน ควรมีระบบการเฝ้าระวังและป้องกันภาวะซึมเศร้าของนักเรียน เช่น การจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังเข้มแข็งทางใจ ทักษะชีวิต เป็นต้น โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15