หั่นกำไรหนุนซื้อเฮดจิ้ง แบงก์อุ้ม SMEs สุดตัว ออกโปรฯกันยายนนี้

29 ส.ค. 2560 | 23:10 น.
แบงก์ช่วยเอสเอ็มอีสู้“บาทแข็ง”ทุกทาง ยอมเฉือนเนื้อทิ้งกำไร หั่นสเปรดเท่าทุนป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาท เตรียมออกมาตรการเด็ดกลางเดือนหน้า กสิกรไทย เร่งต้อนเข้าอบรมรู้จักเครื่องมือ Forward-Option ปรับพฤติกรรม ไทยพาณิชย์ชี้เอสเอ็มอีไซซ์เล็กยังน่าห่วง

ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแข็งค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีกว่า 7.7% แข็งค่าสุดในรอบ 26 เดือน ทำให้รัฐบาลโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หามาตรการช่วยเหลือโดยด่วน

[caption id="attachment_200346" align="aligncenter" width="401"] ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ล่าสุดนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมธนาคาร ธนาคารสมาชิก ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเร่งสรุปมาตรการเพื่อช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(Hedging)ชุดใหม่ คาดว่ากลางเดือนกันยายนจะมีความชัดเจน

มาตรการช่วยเหลือในเบื้องต้นของการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารจะให้ความร่วมมือในการจัดสัมมนา โดยเชิญลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของตัวเองเข้ามาอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยง โดยธนาคารจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด รวมถึงปรับลดสเปรดในราคาทุน โดยจะมีภาครัฐช่วยสนับสนุนเงินทุนอีกทางหนึ่งด้วย

“หลังจากมีแนวทางการช่วยเหลือผ่านบสย.ไปก่อนหน้านี้ ตอนนี้ก็กำลังคุยเรื่องเฮดจิ้ง คาดน่าจะเห็นชัดเจนกลางเดือนหน้า โดยเบื้องต้นทุกคนก็พร้อมจะช่วยคิดสเปรดในราคาทุน และเรื่องของการอบรมให้ลูกค้า ซึ่งลูกค้าต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจด้วย”

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ธนาคารเตรียมเรื่องของการอบรมการป้องกันความเสี่ยง ทั้งในส่วนของการจอง Forward และ Option เพราะจะเห็นว่าสัดส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีที่ซื้อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรายใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสีย หรือซื้อแล้วอาจเกิดการขาดทุนไม่เป็นตามที่คาดหวัง

MP24-3291-A ดังนั้นจะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหันมาป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น จะต้องปรับพฤติกรรมของลูกค้าโดยการอบรมให้ความรู้ก่อนในเบื้องต้น ส่วนหากภาครัฐต้องการความร่วมมือในเรื่องการปรับลดสเปรดหรือค่าธรรม เนียมการป้องกันความเสี่ยงนั้น ธนาคารก็พร้อมจะช่วยเหลือลูกค้า

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Offer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เอสเอ็มอียังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มขนาดเล็ก เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ส่งสัญญาณไปยังหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มที่อยู่ในช่วงประคองตัว อาจจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมาก

ขณะเดียวกันในภาวะที่ค่าเงินบาทมีความผันผวน จะเห็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกจะได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารพยายามช่วยเหลือลูกค้าโดยการแนะนำให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเห็นแนวโน้มลูกค้าหันมาป้องกันความเสี่ยงมากขึ้นตามสัดส่วนหรือธุรกรรมการนำเข้าและส่งออกของผู้ประกอบการมากขึ้น ส่วนภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือเพิ่มเติมนั้นธนาคารก็พร้อมให้ความร่วมมือช่วยลูกค้า
ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีของไทยพาณิชย์ปีนี้ อาจจะยังขยายตัวไม่มากนัก เพราะอยู่ในช่วงที่ประคองการเติบโตของลูกค้า และปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่าง Transformation ดังนั้น ปีนี้ธนาคารจึงตั้งเป้าเติบโตธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 1-2%

อย่างไรก็ตามธุรกิจเอสเอ็มอียังเป็นธุรกิจที่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการขยายตัว โดยตั้งเป้าในปี 2562 ภายหลังจาก Transformation และมีโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม ธนาคารต้องการเห็นสัดส่วนสินเชื่อ เอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 18% ของฐานสินเชื่อภาพรวมที่มีอยู่ทั้งสิ้น 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น สัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ 36% และที่เหลืออีกประมาณ 40% เป็นสินเชื่อรายย่อย

“ตอนนี้เอสเอ็มอีขนาดเล็กยังน่าเป็นห่วง เพราะได้รับผลกระทบมาหลายปี ส่วนคนที่มีธุรกิจเกี่ยวกับค่าเงินเราก็ช่วยลูกค้ามาต่อเนื่องเรื่องป้องกันค่าเงิน ส่วนจะมีมาตรการภาครัฐมาช่วยเพิ่มเติมคงต้องรอดู แต่สำหรับลูกค้าปล่อยใหม่ก็คงไม่โตมาก ประคองการเติบโตไว้ที่ 1-2% เพราะแบงก์ต้องประคองทั้งเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องดูให้สมดุลกัน ซึ่งภาพรวมสินเชื่อรวมเราคาดว่าจะโต 4-5% ผ่านมาครึ่งปีโตมาเกือบ 2% คาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะโตขึ้นตามอานิสงส์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่ส่งต่อมายังซัพพลายเชนกลุ่มก่อสร้าง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560