แก้เกมสู้ภาษีน้ำหวาน เครื่องดื่มแบรนด์ดังซุ่มปรับแผนป้องตลาดหด

26 ส.ค. 2560 | 05:00 น.
ดีเดย์กรมสรรพสามิตประกาศใช้ภาษีนํ้าหวานใหม่ แบรนด์ดังตั้งการ์ดสู้ตลาดช็อกหากมีการปรับราคาขึ้น ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยชี้รอความชัดเจนจากภาครัฐ คาดผลกระทบแต่ละกลุ่มเครื่องดื่มไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง ด้านผู้ประกอบการแบรนด์นํ้าผลไม้ “มาลี” จ่อดันนวัตกรรมใหม่เข้าสู้ ชี้อัตราภาษีก้าวหน้าระยะยาวกระทบแค่ 10% ของยอดขาย ขณะที่ “เป๊ปซี่” เผยมีผลต่อราคาค้าปลีก

อีกไม่กี่วันมาตรการจัดเก็บ “ภาษีนํ้าหวาน” ครั้งแรกในประเทศไทยก็จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างและมีผลบังคับใช้ออกมา ซึ่งนโยบายการจัดเก็บภาษีนํ้าหวานในครั้งนี้ ยึดหลัก 3 ข้อใหญ่ๆได้แก่ 1. สินค้าฟุ่มเฟือย 2.สินค้าทำลายสุขภาพ 3.สินค้าทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) ในไทยมูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาทในปัจจุบันก็ได้รับอานิสงส์จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวด้วยเหตุผลว่า “สินค้าที่ให้ความหวานมากจนเกินไปถือเป็นการทำลายสุขภาพ” โดยจะเริ่มประกาศใช้และมีผลบังคับใช้จริงปี 2563 หลังจากให้เวลาปรับตัว 2 ปี

โดยนายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหารและโฆษก สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และผู้อำนวยการสายงานรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองไวตามิ้ลค์ เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มตลาดเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอล์) หลังจากที่สรรพสามิตออกมาประกาศจัดเก็บภาษีความหวานนั้น เบื้องต้นคงต้องรอดูความชัดเจนในส่วนของนโยบายจากภาครัฐในแง่ของรายละเอียดที่จะมีการประกาศออกมาภายในสัปดาห์นี้อีกระลอกหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาค่อนข้างมากในแง่ของผลกระทบที่มีต่อเครื่องดื่มในแต่ละกลุ่ม โดยภาษีที่จะมีการจัดเก็บประกอบด้วย 2 ขาคือ ภาษีสรรพสามิต กับภาษีความหวาน ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน สมาชิกสมาคมรอฟังในหลักการเปลี่ยนฐานภาษี ณ โรงผลิต เป็นราคาขายปลีกแนะนำ และจะต้องมีแสดงตัวเอง รับทราบ ฐานเปลี่ยนเป็นราคาแนะนำต้องแจ้งอีกรอบหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนคงอยู่ที่ภาครัฐว่าจะคงมีกระบวนการในการดำเนินงานอยู่ เพื่อให้ความรวดเร็ว และจะมีผลกลางเดือนหน้าซึ่งคาดการณ์ว่าอะไรต่างๆ คงจะมีความชัดเจนขึ้นซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายยังคงรอผลจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

MP36-3290-1 “ต้องบอกว่าเรื่องดังกล่าวนโยบายที่ออกมาอาจจะมีผลต่อตัวสินค้าที่อ่อนไหวมากน้อยต่างกัน ซึ่งคงรอดูผลกระทบที่ตามมากน้อยแค่ไหน และในตลาดเครื่องดื่มเองประกอบไปด้วยเครื่องดื่มหลายกลุ่มที่มีโครงสร้างแตกต่างกันไป โดยในส่วนตัวไม่สามารถตอบอะไรได้มาก คงต้องรอฟังผล ครม. ว่าจะออกมาในทิศทางไหน รวมถึงประกาศของกระทรวงที่จะออกมา และทุกคนต้องมานั่งดู นิยามราคาขายปลีกแนะนำอีกรอบ ถึงจะสามารถประเมินภาพรวมตลาดได้ ซึ่งภาษีความหวานที่รัฐจะจัดเก็บจากเครื่องดื่มชนิดต่างๆ จะต้องถูกผลักภาระส่วนหนึ่งไปยังผู้บริโภค ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายและภาวะการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละราย”

สำหรับในส่วนของบริษัทเองได้มีการใช้งบประมาณในการลงทุนไปกว่า 4,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มกำลังผลิตสำหรับขยายธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ และสร้างโรงงานใหม่รองรับการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพที่นิคมอุตสาหกรรมหนองแค โดยล่าสุดได้พัฒนาสินค้าตอบรับทั้งนโยบายด้านภาษีและกระแสสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมส่งสินค้าที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ 1-2 รายการต่อปี หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ออกสูตรกลมกล่อม นํ้าตาล 4% ออกมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีความหวานอัตราใหม่

“ปัจจุบันสินค้าของไวตามิลค์ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” แล้ว 7 สูตร ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานของปริมาณนํ้าตาลตามพ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่ ซึ่งแผนงานต่อจากนี้คือภายใน 3-5 ปีจะทำให้ทุกสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวด้วย”

ขณะที่นางสาวรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มาลี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการการจัดเก็บภาษีความหวานที่จะมีขึ้นไมได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนํ้าผลไม้ 100% ของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าในตลาดพรีเมียมอยู่แล้ว แต่จะไปส่งผล
กระทบต่อกลุ่มสินค้าใหม่ที่บริษัทจะมีการเปิดตัวในอนาคตมากกว่า โดยแนวทางนับจากนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆออกมารองรับ ขณะที่กลุ่มสินค้าเดิมอย่างนํ้าผลไม้ 100% ก็จะไม่มีการปรับสูตรแต่อย่างใด

“สินค้าเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างนํ้าผลไม้ 100% หรือสูตร อื่นๆที่มีฐานลูกค้าอยู่ก่อนคงไม่สามารถปรับสูตรได้ เนื่องจากตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าปริมาณนํ้าตาลที่มาจากผลไม้ (ฟรุ๊กโทส) จะถูกจัดเก็บภาษีความหวานนั้น เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ แต่โดยส่วนตัวมองว่าหากไม่อยู่ในปริมาณที่สูงจนเกินไปจะไม่กระทบและโดนจัดเก็บภาษี เพราะในแง่โครงสร้างภาษีมีรายละเอียดและเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของปริมาณความหวานต่อความเข้มข้นอยู่แล้ว ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกทีหนึ่ง”

แนวทางการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ บริษัทจะใช้จุดแข็งในเรื่องของการมีสินค้าที่หลากหลายในการทำตลาด การมีนวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงมองถึงมาตรการการกระจายความเสี่ยงในอนาคต โดยจะมีการบาลานซ์ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตัวผลิตภัณฑ์ในแต่ละกลุ่มให้เข้ากับสภาวะให้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าหากมาตรการจัดเก็บภาษีฉบับใหม่ออกมา และมีการจัดเก็บตามอัตรารก้าวหน้าก็อาจจะกระทบยอดขายเพียง 10% ของยอดขายรวมเท่านั้น ซึ่งตรงนี้บริษัทก็ต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมออกมาป้องกันความเสี่ยง

โดยกลุ่มสินค้าที่คาดการณ์ว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการครั้งนี้คือกลุ่มของ “นํ้าอัดลม” ที่จะโดนจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ขา ทั้งจาก 1.การจัดเก็บตามมูลค่า 2.การจัดเก็บตามปริมาณ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณนํ้าตาลหรือความหวาน จากปัจจุบันที่กลุ่มนํ้าอัดลมเสียภาษี 20% และจะต้องเสียภาษีค่าความหวานเพิ่มอีก 1 รายการ นั่นทำให้ในปีหน้าเซ็กเมนต์ดังกล่าวมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคงต้องมาดูว่าแต่ละค่ายจะมีกลยุทธ์หรือทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างไร

ต่อเรื่องนี้ผู้บริหารระดับสูง บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า แนวทางการจัดเก็บภาษีความหวานรวมทั้งภาษีสรรพสามิตใหม่นี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตจากราคาขายปลีกแนะนำในครั้งนี้ คือเรื่องของโพสิชันนิงของแบรนด์ที่แต่ละรายที่จะมีการบวกมูลค่าของแบรนด์เข้าไปในราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งไม่รู้ว่าแต่ละ แบรนด์จะมีราคาแนะนำอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะเป็นการใช้ฐานคำนวณที่ต่างกันจนนำไปสู่ความเลื่อมลํ้าในการแข่งขันหรือไม่อย่างไร ขณะที่เรื่องของราคาในตลาดนํ้าอัดลมที่อาจมีแตกต่างกันบ้าง 1-2 บาทในแต่ละแบรนด์มองว่าไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการแข่งขัน เนื่องจากไม่กระทบกลไกด้านราคาอยู่แล้ว แต่มองว่าอาจจะกระทบในเชิงการแข่งขันในทางธุรกิจมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของช่องทางกระจายสินค้าที่ผู้ประกอบการรายใดมีจำนวนมากกว่าและมีช่องทางการขายเป็นของตัวเองน่าจะได้เปรียบในเรื่องการเข้าถึง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560