เครื่องมือแพทย์ 1 ในอุตฯเป้าหมาย

13 ก.ค. 2560 | 23:10 น.
TP11-3268-b จากที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจและบันทึกแสดงเจตจำนง จำนวน 5 ฉบับ เพื่อแสดงความร่วมมือในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะร่วมมือกันต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของ SMEs ของไทยให้มีมาตรฐานเพื่อการขยายตลาดทั้งในไทย อาเซียน และญี่ปุ่น

คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์หุ่นยนต์และคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจรเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดหาข้อเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านั้น ประกอบด้วยอุตสาหกรรมกลุ่มยาสมุนไพรและอาหารทางการแพทย์อุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมกลุ่มบริการทางการแพทย์

จากการดำเนินการได้มีการระบุผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ ในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ เครื่องมือรักษาผิวพรรณและความงาม วัสดุสิ้นเปลือง (ที่มีนวัตกรรม) วัสดุฝังใน (Implant) ชิ้นส่วนของเครื่องวินิจฉัยทางไฟฟ้าและรังสี หุ่นยนต์ทางการแพทย์และระบบอัตโนมัติ ทันตกรรม (เครื่องมือวัสดุรากฟันเทียมฯลฯ) แก้วตาเทียม นํ้ายาและชุดตรวจวินิจฉัย เป็นต้น

พร้อมกันนี้ยังมีการเพิ่มมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน2.มาตรการการพัฒนาคนและเทคโนโลยีเป้าหมายเพื่อผลิตบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานของรัฐและใช้จุดแข็งของบุคลากรทางการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ที่ประเทศไทยมีเชื่อมโยงสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4.การแก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรค 5.การสนับสนุนเงินทุน/ การอุดหนุนการวิจัยเครื่องมือแพทย์และสุขภาพนับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญและมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานเป็นจำนวนมาก

โดยในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จะนำคณะนักธุรกิจด้านเครื่องมือทางการแพทย์จากญี่ปุ่นกว่า 50 รายเดินทางมาศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการแสดงถึงความร่วมมือด้านการลงทุนของอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ในไทย ให้เป็นไปตามทิศทางประเทศไทย 4.0

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560