ทางออกนอกตำรา : 108 วิธี ‘ซิกแซ็กภาษี’ กรมศุลฯเอื้อคิงเพาเวอร์

16 มิ.ย. 2560 | 12:52 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ทางออกนอกตำรา

โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

108 วิธี ‘ซิกแซ็กภาษี’ กรมศุลฯเอื้อคิงเพาเวอร์ 

เรื่องราวที่หน่วยงานของรัฐเข้าไปเกี่ยวพันกับการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ ของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ยังมีความซ่อนเงื่อนอยู่อีกหลายประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ...

273376

ปัญหาแรกว่าด้วยการซอยพื้นที่ในการให้บริการเชิงพาณิชย์ในร้านค้าปลอดอากรออกเป็น 2 ชุด เพื่อหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 1.พื้นที่ดิวตี้ฟรี 5,000 ตารางเมตร  2.พื้นที่เชิงพาณิชย์ 20,000 ตารางเมตร ซึ่งจนถึงขณะนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับสิทธิแห่งความเป็นรัฐไปครอบครองแล้วให้สิทธิเอกชนบริหารนั่งยันนอนยันมาตลอดว่า ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จึงไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

เพราะมีการแยกสัญญาออกไป 2 ฉบับ  สัญญาดิวตี้ฟรีคำนวณเงินจากพื้นที่ออกมาแล้วคิดเป็นมูลค่า 800-900 ล้านบาท สัญญาในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่ที่  900 ล้านบาท

แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีการตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กลับพบว่า ตอนหลังมีการขยายออกไปมากกว่าความเป็นจริง ธุรกิจดิวตี้ฟรี มีพื้นที่ถึง 1.2 หมื่นตารางเมตร  พื้นที่เชิงพาณิชย์มีการขยายออกไปเกือบ 30,000 ตารางเมตร

เชื่อหัวบากบั่นได้เลยว่า ใน 2 สัญญานี้วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท

ผมคุยกับคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายท่าน ล้วนบอกว่า เข้าข่ายกฎหมายร่วมทุนฯ และหากยึดเอาการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในอดีตจะพบว่า การคำนวณเงินลงทุนรัฐกับเอกชนนั้น   ให้คิดเงินลงทุนของรัฐเอกชนในทุกอย่างเข้าไป ซึ่งหมายความว่าต้องเอาพื้นที่ไปรวมกับสิ่งอำนวยที่ทำให้กิจการนี้ดำเนินไปได้  เช่น ตัวอาคารส่วนอื่น ที่จอดรถ สัดส่วนของร้านค้า  เงินลงทุน แต่กรณีคิงเพาเวอร์ กลับไม่มีการนำไปใช้คำนวณ

นี่ก็คาใจประชาชน  และต้องร่วมมือกันตรวจสอบอย่างกัดไม่ปล่อย...เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี...

ปัญหาที่ 2 ที่เป็นเรื่องใหญ่ และคาใจยิ่งนักคือการเปิดช่องให้มีการขายสินค้าดิวตี้ฟรีแบบพรีออร์เดอร์ของคิง  เพาเวอร์  โดยที่หน่วยงานรัฐละเลย เพิกเฉยไม่ปฏิบัติ จนทำให้ระบบการค้าขายของประเทศเกิด 2 มาตรฐาน กลุ่มหนึ่งเสียภาษีให้รัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลุ่มหนึ่งไม่ต้องเสียภาษีสักบาทเดียว รัฐสูญเสียรายได้มหาศาล ในขณะที่คิงเพาเวอร์ผู้รับสัมปทานรวยเป็นหมื่นล้าน

เรื่องนี้ สตง.ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมศุลกากร ให้เรียกเก็บภาษีร้านค้าปลอดอากรบนสนามบิน กรณีเปิดการขายแบบ Pre-order หรือที่เรียกว่า “ซื้อขาออก-มารับของขากลับ” เพราะเห็นว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายศุลกากรและไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จนถึงป่านนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะเรียกเก็บ

คณะกรรมการกฤษฎีกาท่านหนึ่งกรุณาส่งเอกสารคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ลงนามโดย คุณพรทิพย์ จาละ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา  เป็นเรื่องวินิจฉัยที่ 700/2548 ซึ่งตีความในเรื่องนี้ว่า "การซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรแล้วนำไปฝากไว้ที่สนามบิน และมารับสินค้าเมื่อตอนเดินทางกลับ ไม่ใช่สินค้าที่ผู้โดยสารนำติดตัวมาจากต่างประเทศ จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530"

แต่เชื่อหรือไม่จนบัดนี้ ยังมีการเปิดช่องให้มีการซิกแซ็กให้เอกชนทำธุรกิจจนคิงเพาเวอร์รวยไม่รู้เรื่อง...

ประเด็นนี้ถูกจุดพลุขึ้นมาจากการที่กรมศุลกากรเอง มีหนังสือที่ กค 0503/6347 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อช่วยเอกชน เพราะเห็นว่าการเปิดให้ผู้เดินทางซื้อของจากคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับแสดงและขายของ (ร้านค้าปลอดอากร) แล้วเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ของนั้นจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและขาออก ตามที่กำหนดในวรรค 2 ของมาตรา 88 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 และเมื่อผู้เดินทางนำของนั้นกลับเข้ามาในราชอาณาจักรจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า ตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เพราะเหตุที่ของนั้นเป็นของส่วนตัวที่นำเข้ามาพร้อมกับผู้เดินทางสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะนั้นหากมีการจัดการที่ดี

เพราะการที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสามารถซื้อของจากร้านค้าปลอดอากร โดยไม่ต้องนำของที่ซื้อติดตัวออกไปนอกราชอาณาจักร และนำกลับเข้ามาในประเทศ หากได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 จะลดภาระให้กับผู้เดินทาง และสนับสนุนการจ้างแรงงานในประเทศ และการสร้างรายได้ทางภาษีให้แก่รัฐ เพราะส่งเสริมให้ผู้เดินทางซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรทดแทนการซื้อสินค้ามาจากต่างประเทศ

กรมศุลกากรจึงทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การที่กรมศุลกากรอนุญาตให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อของส่วนตัวสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ จากร้านค้าปลอดอากรตามระเบียบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด โดยถือว่าเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 นั้น เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมศุลกากรแล้ว เห็นว่าสินค้าที่จะได้รับการยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร ต้องเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตน (นำติดตัวมา) สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ยกเว้นรถยนต์ อาวุธปืนและกระสุนปืน และเสบียง ส่วนสุรา บุหรี่ ซิการ์ หรือยาเส้น ซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวมานั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้นอากรให้ได้ตามที่เห็นสมควร

แต่หากผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อจากร้านค้าปลอดอากร หลังจากที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว สินค้าดังกล่าว ย่อมไม่ใช่ของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร  แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ซื้อมาจากร้านค้าปลอดอากร สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะก็ตาม ดังนั้น เมื่อไม่ได้เป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรในกรณีนี้จึงไม่ใช่สินค้าตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ที่จะได้รับยกเว้นอากร...

ชัดเจน ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย ก็ทราบว่า การเปิดให้ซื้อของที่ซอยรางนํ้าแล้วฝากไว้ที่สนามบิน ขากลับค่อยมาขนของออกมาใช้ในประเทศทำไม่ได้...แต่ไฉนจึงปล่อยให้ทำกันจนบัดป่านนี้

ตามกันให้ดีเรื่องนี้งานช้าง...
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3271 ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2560