SCGลุยอีอีซีต่อยอดปิโตรเคมี ศึกษาความเป็นไปได้โครงการหลังหนุนตั้งอีอีซีไอ

03 พ.ค. 2560 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เอสซีจี หนุนการขับเคลื่อนอีอีซี เริ่มศึกษาลงทุนต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี หลังเปิดตัวพร้อมลงทุนในเขตนวัตกรรมภาคตะวันออก สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ที่แต่ละปีใช้งบอาร์แอนด์ดีไม่ตํ่ากว่า 4 พันล้านบาท สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกือบ 40% ของยอดขาย

การลงนามความร่วมมือจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ ของหน่วยงานภาครัฐ 11 แห่ง สถาบันการศึกษา 14 แห่ง และเอกชน 20 ราย เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ให้เกิดขึ้น โดยส่วนของภาคเอกชนมีเอสซีจีรวมอยู่ด้วย ถือเป็นการประกาศชัดเจนว่าเอสซีจีมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพื่อวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่อย่างปิโตรเคมีแล้ว

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปลงต่อยอดธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจซีเมนต์และการก่อสร้าง และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยเฉพาะปิโตรเคมีซึ่งมีฐานการผลิตอยู่แล้วในจังหวัดระยอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ รวมถึงสถานที่ตั้งควรจะอยู่บริเวณไหน เพื่อให้เกิดต้นทุนต่ำสุด และการใช้ประโยชน์ร่วมกับโครงการที่มีอยู่แล้ว ซึ่งการขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซีดังกล่าว ทราบว่าภาครัฐอยู่ระหว่างจัดทำเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุน จึงทำให้ภาคเอกชนสนใจเข้าไปลงทุน

ทั้งนี้ เอสซีจี เป็นรายหนึ่งที่ต้องการเห็นให้การขับเคลื่อนอีอีซีเกิดขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของเอสซีจีที่มีอยู่ในการลงทุนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา โดยเห็นได้จากเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเอสซีจีเป็น 1 ในเอกชน 20 ราย ที่ได้ลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับสถาบันภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนจัดตั้งเขตอีอีซีไอ ขึ้นมา ซึ่งในอนาคตอันใกล้หรือภายในปี 2564 ตามแผนที่เปิดให้เอกชนเข้าไปลงทุนในการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ก็เป็นโอกาสที่เอสซีจีจะเข้าไปสนับสนุนได้

"ในปีนี้เอสซีจีตั้งงบสำหรับการวิจัยและพัฒนาไว้ราว 4,500 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของยอดขาย ที่จะเติบโตสูงขึ้นทุกปี ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว เมื่อมีเขตนวัตกรรมอีอีซีไอเกิดขึ้น และเอสซีจีเข้าไปลงทุนหรือเพิ่มงบมากขึ้นจะส่งผลดีต่อการดำเนินงาน เพราะปัจจุบันพบว่ายอดขายของสินค้าที่เกิดจากการสร้างนวัตกรรมหรือเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม(เอชวีเอ) ทำรายได้ให้กับเอสซีจีในสัดส่วนที่สูงมาก โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีรายได้อยู่ที่ 4.37 หมื่นล้านบาทหรือราว 38 % ของยอดขายรวมที่ 1.16 แสนล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายทั้งปีเติบโต 5-10% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 4.23 แสนล้านบาท"

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า สำหรับธุรกิจปิโตรเคมียังมีทิศทางที่ดี ซึ่งปัจจุบันเป็นยังช่วงขาขึ้นอยู่ จะเห็นว่าในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมากำไรจากการขายสินค้ามีค่อนข้างสูง จึงมองว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ธุรกิจปิโตรเคมียังพอไปได้

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์ไตรมาสแรกความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนยังต่ำกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคของภาครัฐเดินหน้าบ้างแล้ว แต่การลงทุนของภาคเอกชนหดตัว ทำให้คาดว่าทั้งปีนี้ความต้องการใช้ปูนอาจจะไม่ได้ตามเป้าที่คาดว่าจะโต 1-3% อยู่ที่ 40 ล้านตัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560