ปปง.จี้แบงก์สกัดพนันออนไลน์

24 เม.ย. 2560 | 11:09 น.
ผงะ FATF ตรวจความคืบหน้าผลการสกัดการฟอกเงินในไทย ก่อนจัดอันดับในเดือนก.ค.ล่าสุด ปปง.ส่งหนังสือเตือนสถาบันการเงิน105 แห่ง ให้รายงานธุรกรรมต้องสงสัยตามจริง พุ่งเป้าแบงก์ปล่อยพนันออนไลน์ลอยนวลยอดแจ้งตํ่า เสี่ยงสอบตก

ใกล้เข้ามาสำหรับไทม์ไลน์การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน การป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการ สนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism - AML/CFT) กำหนดขึ้นโดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force - FATF)

ในเดือน มิ.ย.หรือกลางปีนี้ AML/CFT โดย FATF จะมีการเก็บข้อมูลอีกครั้งก่อนนำไปประเมินผลงานเพื่อจัดอันดับประเทศไทยในเดือน ก.ค. ประเทศไทย 1 ในสมาชิก 108 ราย ถูกจับตา เฝ้าระวังทางการฟอกเงิน ยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำแต่สุ่มเสี่ยง เนื่องจากการรายงานธุรกรรมต้องสงสัยช่วงปลายปี 2559 ยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกรรมในระบบ

กรรมการใน ปปง.เปิดเผยว่า สำนักงาน ปปง.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปปง.ได้ส่งหนังสือแจ้งสถาบันการเงินรวม 104 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 36 แห่ง ผู้ให้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 8 แห่ง ผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 10 แห่ง และผู้ประกอบอาชีพรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 50 แห่ง เพื่อเร่งรัดการติดตามธุรกรรมของลูกค้าที่เข้าข่ายการฟอกเงิน โดยเฉพาะการเปิดบัญชีสำหรับเล่นการพนันออนไลน์ พร้อมกำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่ง ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัด การเปิดบัญชีต้องมีการแสดงตัวตนของลูกค้าที่ชัดเจน สถาบันการเงินต้องรู้ความเคลื่อนไหวของการนำบัญชีไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน หากผู้ใดอ้างให้เปิดบัญชีแทนกันหรือรับจ้างเปิดบัญชี และมีการรับโอน เปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน กระทำในลักษณะที่ปกปิด อำพรางข้อเท็จจริง สนับสนุน จัดหาหรือให้เงินช่วยผู้กระทำผิดกฎหมายฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปปง.มีการทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ประเทศต้องถูกขึ้นบัญชีดำ หากไทยถูกลดชั้นหมายถึงความเสียหายของประเทศ เพราะการฟอกเงินไม่เพียงกระทบต่อความมั่นคง แต่จะทำลายความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ ต้นทุนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและเอกชน เสถียรภาพระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่ต่างชาติก็ไม่มาลงทุน

“แนวโน้มยังลำบาก หาก FATF ประเมินแล้วพบว่า ประเทศสมาชิกมีข้อบกพร่อง เช่น กฎหมายยังไม่สอดคล้องกับสากล การกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ อาจถูกกำหนดรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงหรืออาจถูกขึ้นบัญชีดำ” แหล่งข่าว ปปง.กล่าวและยืนยันว่า ปปง.เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดีอี กสทช.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินด้วย

  ยอดสงสัยต่ำเกิน
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ยอมรับว่ามีความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการเป็นสมาชิก FATFแต่ยังต้องเร่งทำความเข้าใจ หากลงรายละเอียดจะพบว่า ในส่วนสถาบันการเงิน 36 ราย ซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความร่วมมือในการรายงานธุรกรรมต้องสงสัยในพนันออนไลน์ที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละวันทั้งเจ้ามือและผู้แทงแม้ว่าปัจจุบันระบบการฝากถอนพนันฟุตบอลออนไลน์ ลูกค้าสามารถทำเองหรือ ACT (Automated Credit Transfer) โดยไม่ผ่านคนกลางแต่การเปิดบัญชีกับการฝากหรือถอนเงินทุกครั้งธนาคารจะต้องทราบถึงความผิดปกติ

สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบอาชีพรับชำระเงิน ยิ่งไม่ให้ความร่วมมือในธุรกรรมทั้งหมด ส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจ เห็นได้จากรายงานที่ส่ง ปปง.ผู้ประกอบการบางอาชีพกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน บางแห่งเราทราบว่าทำธุรกรรมต่อวันหมื่นรายการ แต่ 6 เดือนพบว่าหลักพันรายการเท่านั้น ยังไม่นับมีผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่จดทะเบียน ซึ่งยอมรับว่าเป็นความอ่อนแอของฝ่ายกำกับ

นางสาวปราณี เก้าเอี้ยน ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ ปปง. กล่าวว่า เนื่องจากมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องรายงานธุรกรรมทางการเงินหลายประเภท ในทางปฎิบัติ อาจจะมีบางประเภทที่ไม่เข้าใจ ซึ่งทางกองกำกับและตรวจสอบอาจจะขอเพิ่มให้ทำรายละเอียดธุรกรรมให้ครบถ้วน เช่น ร้านค้าทองคำ หรือผู้ค้าเงินที่อยู่ในโรงแรม

“หลังจาก FATF ขอข้อมูลปลายปี 2559 เขาก็ส่งคำขอกลับมาอีก 2 เวอร์ชั่น ต่อมาปลายเดือนมีนาคม เข้ามาขอข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งประเด็นที่ยังสงสัยอีกครั้ง”

  กม.ยังต่ำมาตรฐาน
นายดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ อาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยอมรับว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินที่เกี่ยวข้องในเชิงกฎหมาย ประเทศไทยยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะตัวกฎหมายที่ใช้ควบคุมการโอนเงินบุคคลต่อบุคคลผ่านระบบออนไลน์ แม้จะมีผลบังคับใช้ได้บางด้าน แต่จากการตรวจสอบธุรกิจที่ประกอบุรกิจที่ไม่ตรงกับใบอนุญาต เช่น Pay All ที่ถูกระงับพร้อมปรับเนื่องจากกระทำผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ในอนาคตธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัทตัวแทนด้านการชำระเงินมีแนวโน้มที่อยากจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปทำหน้าที่เหมือนธนาคาร ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แบงก์ ออนไลน์ เพย์เมนท์” ต่อไปจะมีผู้ที่มีเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ทันสมัย เข้ามาแข่งขันในตลาดการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นจำเป็นต้องกลับไปดูว่ากฎหมายที่ควบคุมโดย ธปท.ดูแลได้ครบถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะการตีความคำว่าอี-มันนี่ หมายถึงอะไร

อาจหมายรวมหมายถึงการมีตัวแทนชำระเงินโดยมีคนไปเปิดถุงเงินหรือรีจิสเตอร์อยู่บนระบบ หรือเป็นบริษัทที่ทำบัตรเครดิตมีการติดตั้งเครื่องอีดีซี หากเข้าข่ายเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นตัวแทนผู้ชำระเงิน ผู้ประกอบการเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องขอใบ ค.3 ขณะที่หมวด ก. จะเป็นตัวแทนการชำระเงินสำหรับสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นตัวกลางการชำระเงิน เช่น ทำบัตรเติมน้ำมัน และหมวด ข.จะเป็นรูปแบบศูนย์อาหาร

นายดนัยธัญยังกล่าวถึงการขยายตัวของธุรกรรมที่เกี่ยวกับอี-มันนี่ ปัจจุบันขนาดธุรกิจในไทยมีขนาดเล็กหรือเพิ่มเริ่มตั้งไข่ จึงยังไม่มีข้อมูลในเชิงสถิติหรือตัวเลข ธุรกรรมทางการค้าครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภค มีสัดส่วนต่ำกว่า 5% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ขณะที่เมื่อ 10 ปีก่อนที่มีสัดส่วนต่ำกว่า 5% แต่ในปัจจุบันมีการจ่ายผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 20-30%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560