ช็อก!สินเชื่อข้าว แบงก์ตัดวงเงินบริษัทพันทุจริต

04 มี.ค. 2560 | 02:00 น.
คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวเปิดชื่อ 144 บริษัทถูกกล่าวหาร่วมเจ้าหน้าที่รัฐ “อคส.-อ.ต.ก.” พันทุจริตจำนำข้าวสร้างความเสียหายต่อรัฐ เร่งไต่สวนร่วมชดใช้1.15 แสนล้านบาท เลขาฯ ป.ป.ท.มั่นใจปิดคดีใน 4 เดือน ผู้ส่งออก-โรงสี โวยอย่าเหวี่ยงแหกระทบสินเชื่อข้าวทั้งระบบ

การดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดร่วมสร้างความเสียหายต่อรัฐในโครงการรับจำนำข้าวเริ่มงวดเข้ามามากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐหรือป.ป.ท.ลงไปสืบสวนในพื้นที่มีความคืบหน้าในคดีมากกว่า 80 % มีชื่อผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิดทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนจำนวนมาก

การไต่สวนเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมค้าข้าว โดยสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับโรงสี เซอร์เวเยอร์และเจ้าของโกดังที่มีส่วนร่วมสร้างความเสียหายและจะถูกดำเนินดคี

แหล่งข่าวคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการเรียกค่าเสียหายกับผู้เกี่ยวข้องในคดีรับจำนำข้าวในสัดส่วน 80% (อีก 20% นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ)ที่มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 1.15 แสนล้านบาทนั้น ตัวเลขดังกล่าว เป็นผลมาจากการตรวจสอบข้าวคงเหลือในคลังกลางของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตั้งแต่ปีการผลิต 2554/2555 จนถึงปีการผลิต 2556/2557

ผลจากการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 บางแห่งมีการปลอมปน และส่วนใหญ่มีคุณภาพไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน รวมถึงการจัดเก็บและดูแลรักษาข้าวไม่เป็นไปตามสัญญาทำให้คลังบางแห่งมีข้าวคงเหลือไม่ตรงยอดบัญชีหน้าคลัง และบางแห่งไม่สามารถตรวจนับได้ เนื่องจากกองข้าวล้มหรือจัดวางกองไม่เป็นระเบียบ

-เปิดชื่อบ.เอี่ยวรัฐเสียหาย

เบื้องต้นมีรายงานผู้ถูกกล่าวหาร่วมทุจริตสร้างความเสียหายต่อรัฐในส่วนของเอกชน(บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด/โรงสี)จำนวน 144ราย/บริษัท โดยมีผู้เกี่ยวข้องในส่วนของคลังกลางขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) จำนวน 45 บริษัท อาทิ บริษัท เอเชีย เพสคอนโทรล แอนด์ อินสเปคชัน จำกัด(บจก.) ,บจก. เอเชีย อินสเปคชัน ,บจก. เอส. เอ็ม. เบญจ ,ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกรกพระเซ็นเตอร์ไรซ์(หจก.) ,หจก.ไทยอบยาพืชไรj,หจก.ไทรงามไรซ์นิว 2010 ,หจก.โรงสีข้าวรวมชัยสังขะ,หจก.โรงสีง่วนเซ่งล้ง,หจก.โรงสีปัญจพล,หจก.โรงสีไฟเกียรติบุญครอง,หจก.โรงสีเจริญประภา,หจก.โรงสีไฟสุรินทร์เกียรติอาภาเดชและ หจก.โรงสีไฟธาราเจริญ (1973) เป็นต้น

ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.)จำนวน 99 บริษัท อาทิ บจก.สิงโตทอง ไรซ์ คอร์ปอเรชั่น,หจก.โกรกพระเซ็นเตอร์ไรซ์, ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอบยาพืชไร, หจก.ไทรงามไรซ์นิว 2010 ,หจก.โรงสีข้าวรวมชัยสังขะ, หจก.โรงสีง่วนเซ่งล้ง, หจก.โรงสีไฟกิจอุดมธัญญะ,หจก.โรงสีไฟเกียรติบุญครอง,หจก.โรงสีเจริญประภา ,หจก.โรงสีไฟสุรินทร์เกียรติอาภาเดช, คลังสินค้า นางมาลัย แก้วศรีงาม (หลังที่ 2), คลังสินค้าถาวรโชคชัย และคลังสินค้าบริษัท กิจเจริญชัยรุ่งเรือง หลังที่ 3 เป็นต้น

“กรณีเป็นความรับผิดชอบตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าคลังสินค้า/สัญญาฝากเก็บรักษาข้าวสาร หรือสัญญาจ้างตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพ ชนิดและน้ำหนักข้าวสาร (เซอร์เวเยอร์) หรือสัญญาจ้างรมยาฆ่าแมลง ให้ดำเนินการกับคู่สัญญาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น”

ส่วนกรณีเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ อคส.และอ.ต.ก.ให้พิจารณาดำเนินการทางละเมิดและทางวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือโดยทุจริตให้พิจารณาดำเนินการทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 ฟันอาญา-แพ่งรัฐ-เอกชน

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)กล่าวภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าผลดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า (1 มี.ค. 60) ว่า ในส่วนของการเรียกค่าเสียหายในส่วน 80% ในวงเงิน 1.15 แสนล้านบาทนั้น เป็นเรื่องที่หลายส่วนต้องมาร่วมรับผิดชอบ ไม่ใช่เป็นข้าราชการทั้งหมด

ในโครงการยังมีบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว(เซอร์เวเยอร์) โรงสีผู้รับจ้างสีแปรและส่งมอบข้าวเข้าคลัง และเจ้าของคลังให้เช่า ที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ หากตรวจสอบแล้วพบมีความผิดจะส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ส่วนความเสียหายสัดส่วนอีก 20% วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ผู้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวต้องรับผิดชอบถือว่าสมเหตุสมผล

“ยืนยันว่าไม่ได้รังแกข้าราชการ แต่อยากให้เป็นบทเรียนให้รู้ว่าอะไรผิดถูก จะได้ไม่คล้อยตามไปหมด และยืนยันว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยเร็วและมีความรอบคอบ ขณะนี้การทำงานของ ป.ป.ท.ในเรื่องนี้ผ่านมา 2 เดือนแล้วถือเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เหลือเวลาทำงานอีก 4 เดือนจากเป้าหมาย 6 เดือนจะไต่สวนแล้วเสร็จเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”

ตีกรอบเหลือ300ราย

เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ภาพการนำผู้กระทำผิดมาร่วมชดใช้ เห็นกรอบชัดเจนขึ้น จากเบื้องต้นประเมินมีผู้เกี่ยวข้องประมาณ 6,000 ราย ตรวจสอบแล้วมีผู้เกี่ยวข้องจริงกว่า 300 รายเท่านั้น ส่วนความเสียหายภาพจากนี้ก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้มอบหมายให้ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ท.คอยกำกับดูแลในเรื่องนี้ หากติดขัดในเรื่องใดทางสำนักงานจะรีบลงไปจัดการให้ทันที ซึ่งหากให้คะแนนทีมงานเวลานี้ให้ 80% ขึ้นไป

“หลังจากคณะอนุไต่สวน 987 คดี ยังไม่รวมสำนวนที่จะบวกเพิ่มอีก 3 สำนวน รวมเป็น 990 คดี ที่จะต้องตั้งคณะเพิ่มภายหลัง กระบวนการทำงานหลังจากทุกคณะไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว จะนำพยานหลักฐานทั้งหมดมาวิเคราะห์แล้วนำกลับไปเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาว่าตรงนี้มีใครผิดหรือถูก หากชี้มูลว่าไม่ผิด ให้ยุติก็จบ แต่หากพบว่ามีความผิดก็จะสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาส่งฟ้องศาลต่อไป โดยสามารถจำแนกตามหมวดหมู่ความเสียหายได้แก่ 1. ข้าวหาย 2.ข้าวผิดประเภท 3.ข้าวไม่ได้มาตรฐาน 4.ข้าวเสื่อมคุณภาพ” เลขา ป.ป.ท.กล่าว

 กระทบสินเชื่อ1.5แสนล.

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เผยว่า ในจำนวน 144 บริษัท เชื่อว่ามีทั้งคนดีและคนไม่ดี ในขณะนี้มี 2 หน่วยงานลงไปไต่สวนในบางจังหวัดก็เป็นตำรวจในพื้นที่ ดำเนินการสอบสวน โดยชี้ว่าคนที่กระทำผิดแล้วทำให้รัฐเสียหายคือ บริษัทเซอร์เวเยอร์กับเจ้าของคลังให้เช่า

ขณะอีกหน่วยหนึ่งคือ ป.ป.ท.ก็เข้าใจว่าหัวหน้าคลังร่วมกระทำผิดด้วย มองว่าการไต่สวนคิดต่างกัน ดังนั้นควรจะสร้างคู่มือที่ถูกต้อง เช่น บทบาทหัวหน้าคลังทำหน้าที่อะไร บทบาทของเซอร์เวเยอร์ตรวจสอบอย่างไร เงื่อนไขผิดอย่างไร หากผิด 100% เช่น เอาข้าวดีออกไป เอาข้าวเสียหรือข้าวเสื่อมมาใส่ไว้แทน ควรลงโทษทันทีเลย หรือกรณีนำข้าวเน่า ข้าวค้างปีไปส่งมอบให้กับผู้ส่งออก หรือผู้ที่รัฐขายข้าวให้ บริษัทแบบนี้ควรจะดำเนินคดีเลย เพราะความผิดชัดเจน แต่ที่ผ่านมากลับไม่ดำเนินดคีอะไรทั้งสิ้นปล่อยมา 2-3 ปีได้อย่างไร

“ส่วนบริษัทใดเมื่อไต่สวนแล้วพบไม่มีความผิดก็ควรจะคืนอิสรภาพให้เขา และขอให้ อคส.เร่งจ่ายค่าเช่าฝากเก็บข้าว เพื่อสร้างแรงจูใจให้กับผู้ประกอบการในการช่วยยกระดับราคาข้าว เพราะจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในวันนี้ วงการข้าวต่างหวาดผวากับเรื่องดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินเชื่อที่ทางแบงก์ปล่อยกู้ให้โรงสีประมาณ 1 แสนล้านบาทมีปัญหาและเกิดการสะดุด รวมถึงสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้ผู้ส่งออกไม่ต่ำกว่า 3-5 หมื่นล้าน รวมแล้วสินเชื่อในวงการค้าข้าว 1.5 แสนล้านบาทเป็นอัมพาตทั้งระบบ และจะลามกระทบต่อราคาข้าวของชาวนา ดังนั้นขอให้รัฐบาลเร่งไล่ล่าติดตามหาผู้กระทำผิดให้ได้โดยเร็ว”

 ติงอย่าเหวี่ยงแห

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า ทาง ป.ป.ท.ควรศึกษาสัญญาให้ดี เพราะโครงการรับจำนำใน 3 ฤดูการผลิตแรก (2553/2554, 2554/2555, 2555/2556) เจ้าของคลังมีสถานะเป็นผู้ให้อคส. และ อ.ต.ก.เช่าคลัง เก็บข้าว โดยทั้ง 2 หน่วยงานจ้างเซอร์เวเยอร์ตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนส่งมอบเข้าคลัง ยกเว้นโครงการรับจำนำข้าวปีสุดท้าย(2556/2557)ที่มีเงื่อนไข เจ้าของคลังต้องรับผิดชอบในการจ้างเซอร์เวเยอร์ตรวจสอบทั้งจำนวนและคุณภาพข้าวหากมีความผิดเกิดขึ้นเจ้าของคลังต้องรับผิดชอบ เพราะต้องร่วมถือกุญแจเปิด-ปิดคลังด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,240 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560