พิธาน องค์โฆษิต ครบเครื่องซีอีโอรุ่นใหม่

28 ก.พ. 2560 | 15:00 น.
พิธาน ไม่ใช่แค่คนดัง ในแวดวงสังคมไฮโซ บันเทิง เท่านั้น บทบาทการเป็นผู้บริหารแห่ง KCE ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รางวัลที่ “พิธาน” ได้รับ การันตีคุณภาพได้อย่างดี จากผลประกอบการของ KCE และรางวัลบริษัทจดทะเบียนที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยม ที่มีมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป ) 3 หมื่น – 1 แสนล้านบาท

บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีผลประกอบการของกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมา (2559) กำไรสุทธิ 3,038 ล้านบาท เติบโต 35% จากปี 2558 ที่มีกำไรเพียง 2,240 ล้านบาท และปี 2557- 2556 กำไรสุทธิ 2,109 และ 1,173 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราการทำกำไรสุทธิปีที่ 2559 ทำได้ 21.70% ของยอดขาย เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558 ที่ทำได้ 17.85% และปี 2557 ทำได้ 18% สินค้าเกือบทั้งหมด 95% ส่งออกไป มีตลาดหลักเป็นลูกค้ารถยนต์

“พิธาน” ถือเป็นทายาทคนสำคัญที่เข้ามาต่อยอดให้ KCE เติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ซึ่ง “พิธาน” ไม่ใช่แค่ทายาทเศรษฐกิจถูกบิดาวางตัวให้มาสานต่อดูแลกิจการเท่านั้น แต่ด้วยสูตรองค์ความรู้ที่มีดีกรีจากวิศวะไฟฟ้า และปริญญาโทการเงินจากสหรัฐฯ ทำให้ “พิธาน” ครบเครื่องเรื่องซีอีโอ

ช่วงปี 2548 - 2550 การเป็นวิศวะใน KCE ขณะนั้นโรงงานมีปัญหาขาดทุน เนื่องจาก นายบัญชา บิดา ชอบการทดลอง คิดค้น -วิจัย และลงทุนเครื่องจักรใหม่ ๆ ทำให้ ขาดทุนจากการทำวิจัยและการทำราคาสินค้า โดยไม่ดูตัวเลขการเงิน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นๆ

ความรู้ผสมผสานระหว่าง วิศว & การเงิน “พิธาน” สามารถทำให้ KCE พลิกเคยขาดทุน 400 ล้านบาท เมื่อ 8 ปีก่อน ( 2552 ) ขณะนั้นราคาหุ้น KCE อยู่ที่ 90 สตางค์

“พิธาน” เริ่มลงมือผ่าตัดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีหัวใจหลักที่ประสิทธิภาพการบริหารบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การควบคุมค่าใช้จ่าย และการเปิดตลาดใหม่ ๆ เขายังให้เครดิตกับพี่ชาย ที่เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ มาช่วยวางระบบการจัดซื้อ บริหารคนและต้นทุนให้ บริษัทแห่งนี้จึงใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยบริหารจัดการทั้งหมด 100%

ซีอีโอรุ่นใหม่ แจกแจงว่า การบริหารคน เพิ่มประสิทธิชิ้นงาน สามารถลดการสูญเสียของชิ้นงานแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้ เมื่อลดการสูญเสียได้ ก็ข้ามไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยการผลิต เพิ่มขีดการแข่งขันให้มากขึ้น ทำให้สินค้าของ KCE พัฒนาขึ้นสู่สินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น

“ผมเข้ามาช่วยงานคุณพ่อ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนระบบแบล็กออฟฟิศ ควบคุมการใช้อุปกรณ์สำนักงาน ควบคุมต้นทุน-ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ วัดผลงาน และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งต้นทุนจะมาชี้วัด (KPI) การทำงานของแต่ละคน แล้วเริ่มให้ โบนัส เป็นสิ่งตอบแทนเพิ่มติมจากเงินเดือนสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน โบนัสและเงินเดือน จึงมาจากผลงานของแต่ละคนจริง ๆ”

หลังจากที่ “พิธาน” จัดการงานหลังบ้านแล้ว การเดินหน้าหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาไม่หยุด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ของ KCE ไม่เก่าล้าสมัย โดยเฉพาะแผ่นวงจรที่ใช้ในชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทมากว่า 25 ปี สามารถหาตลาดใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งผลประกอบการที่เติบโตในทุก ๆ ปี จะมีลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม 6-7% ของลูกค้า ขณะที่ลูกค้าเดิมก็เพิ่มเติมเทคโนโลยี เข้าไป การเติบโตของลูกค้าใหม่ จะให้น้ำหนักเท่ากับลูกค้าเดิม โดยลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นตัวแทนขายอะไหล่รถยนต์เบอร์ 1 และ 2 ของโลก มียอดขายประมาณ 30% ของยอดส่งออกไปยุโรป 50% เป็นลูกค้าที่ซื้อขายกันมาไม่น้อยกว่า 13- 20 ปี ปัจจุบันสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ยุโรป 50% เอเชีย 35% และสหรัฐอเมริกา 15%

สำหรับตลาดในเอเชีย ที่ KCE มีเป้าหมายที่ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดรถยนต์หลายใหญ่ บริษัทจึงเข้าซื้ออาคารและที่ดินในประเทศญี่ปุ่น เป็นสำนักงานย่อย มีแผนเจาะโรงงานอะไหล่รถยนต์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น หากสำเร็จสามารถทำให้ยอดขายในเอเชียขึ้นขยับขึ้นมาเท่ากับตลาดยุโรป

พิธาน บอกอีกว่าหัวใจของแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ คือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามา ซึ่งทุก ๆ 3-4 ปี จึงต้องสร้างโรงงานใหม่ตามเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เปลี่ยน หากผลประกอบการต้องการเติบโต 2 หลัก ควบคู่ไปกับการเป็นหุ้นแข็งแกร่งที่เติบโตสูง แม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลไม่สูงนักแต่ปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560