ปลดล็อกขนส่ง CLMV เปิดทางเครื่องสำอางผ่านแดนเร็วขึ้น

21 ก.พ. 2560 | 03:00 น.
ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทยมีสัดส่วนมากถึง 90% ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่มีสายป่านดี สามารถเปิดตลาดส่งออกได้แล้ว และกลุ่มที่พร้อมพัฒนาตนเอง และพร้อมโกอินเตอร์ รวมถึงกลุ่มที่มีสายป่านไม่ยาว ยังต้องการความรู้ด้านวิชาการ ความรู้ในการจัดจำหน่าย และยังต้องใช้เวลาพัฒนา

อรรณพ อารัญญิก ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึง ความเคลื่อนไหว และทิศทางสนับสนุนให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เติบโตยิ่งขึ้น

  ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

โดยมองว่าสถานะเอสเอ็มอีกลุ่มเครื่องสำอางในปัจจุบันเส้นทางเดินธุรกิจยังไม่ราบรื่นนัก ทั้งที่มองเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้า ส่วนหนึ่งยังต้องรับศึกจากคู่แข่งเครื่องสำอางแบรนด์ญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามาตีตลาดในประเทศ เช่น การเข้ามาพร้อมๆกับกระแสเค-ป๊อบ โปรโมตตัวเองพร้อมโปรโมตผลิตภัณฑ์ โดยมีภาครัฐของแต่ละประเทศให้การสนับสนุนเงินทุน ในขณะที่ประเทศไทยการสนับสนุนยังมีกฎเกณฑ์มากมาย ทั้งจากสถาบันการเงินภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเครื่องสำอางยังไม่ผ่านเกณฑ์ ต้องยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

อย่างไรก็ตามทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องขยับก่อนคือ ปรับตัวพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ พร้อมกับมองหาโอกาสใหม่เพื่อให้สินค้ามีตลาดที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะการวิ่งเข้าหาตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)ให้ได้มากที่สุด ทั้งในรูปของการค้าและการลงทุนร่วมกัน โดยมองว่าตลาด CLMV มีการเจรจาด้านต่างๆง่ายกว่าตลาดอื่น เพราะนิยมสินค้าไทยอยู่แล้ว เพียงแต่จะเพิ่มการขายอย่างไร หรือหาคู่ร่วมทุนได้อย่างไร

อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐ เข้ามาเป็นตัวกลางในการจับคู่ธุรกิจกับทุนเพื่อนบ้านโดยใช้ไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านตั้งโรงงานผลิต แล้วแต่ความเหมาะสมและสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการจับคู่ทางธุรกิจไปบ้างแล้ว โดยมีภาครัฐนำร่อง แต่การเปิดกว้างของประเทศเพื่อนบ้านยังน้อยมากในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ด้านการลงทุน

TP13-3237-B  เร่งขนส่งรวดเดียวจบ

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมองว่า ปัจจุบันแม้จะมีตลาดCLMV อยู่แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคในการส่งออก และมีสิ่งที่อยากจะแก้ไขหลักๆ คือ ต้องการปลดล็อกอุปสรรคการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งผ่านแดนที่ล่าช้า ที่ต้องการขนส่งแบบรวดเดียวจบให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เริ่มต้นไปที่ด่านอรัญประเทศ ที่จะต้องขนถ่ายสินค้าจากรถป้ายทะเบียนไทยไปสู่รถของประเทศนั้นๆ โดยสินค้าเครื่องสำอางจะต้องระบุชัดเจนว่าเป็นครีม หรือครีมทำสีผม หรืออาหารเสริม ที่จะต้องระบุในใบส่งของ ดังนั้นสิ่งที่อยากได้รับการแก้ไขเพื่อให้การขนส่งสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยต้องการให้รถขนส่งของไทยเข้าไปทอดเดียวยาวไปถึงปลายทาง โดยมีใบยืนยันจากระบบขนส่งของไทยแสดงตน ซึ่งเรื่องเหล่านี้กลุ่มเครื่องสำอางกำลังเจรจาร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร ภาคเอกชนกลุ่มเครื่องสำอางในส.อ.ท.และกับกรมขนส่ง เมื่อการหารือตกผลึกแล้ว ก็จะยื่นหนังสือถึงสองหน่วยงานดังกล่าว คาดว่าการหารือกับสมาชิกในส.อ.ท กลุ่มเครื่องสำอางที่มีจำนวน 85 ราย และกับสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางกว่า300 ราย ให้เรียบร้อยภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะยื่นหนังสือถึง 2 หน่วยงาน(กรมศุลกากรและกรมขนส่ง) ตรงนี้ถ้าภาครัฐช่วยปลดล็อกให้ได้ จะเกิดผลดีต่อการส่งออกเครื่องสำอางไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

เปิดเส้นทางโลจิสติกส์

สำหรับความคืบหน้าเรื่องเส้นทางโลจิสติกส์ของสินค้าเครื่องสำอางไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ล่าสุดสมาชิกในส.อ.ท.วางกรอบการหารือว่า จะเดินไปยังเส้นทางไหนที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์สูงสุดทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ล่าสุดเท่าที่ดูความเป็นไปได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ คือเส้นไทย-พนมเปญประเทศกัมพูชา และเส้นไทย-เวียงจันท์ สปป.ลาว และเส้นไทย-ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา(ดูตาราง) โดยเที่ยวกลับส่วนใหญ่จะบรรทุก สมุนไพร กลับมาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางในประเทศไทย

สำหรับมูลค่าตลาดรวมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางโดยรวมเมื่อปี2559มีจำนวน 2.40 แสนล้านบาท ตั้งเป้าว่าปี 2560 จะเพิ่มเป็นจำนวน 2.70 ล้านบาท เติบโตราว 7-8% ต่อปี โดยขายในประเทศ 60% และส่งอก 40%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560