พลิกโฉมลงทุนไทย บูมอีอีซี1.5แสนล้าน

15 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
15 กุมภาพันธ์ รัฐบาลประกาศความพร้อมไทยเป็นศูนย์กลางลงทุนในภูมิภาค ดึงสื่อและนักธุรกิจนอกรวม เผยแพร่ทั่วโลก ชู 3 ทิศทางหลัก ตั้งแต่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงก.มและสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุน ตั้งเป้ามูลค่าคำขอส่งเสริมเฉพาะในอีอีซีล็อตแรกมาแน่ 1.50 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_129988" align="aligncenter" width="503"] หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ[/caption]

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ บีโอไอจะจัดสัมมนาใหญ่ หัวข้อ"Opportunity Thailand"หรือโอกาสการลงทุนของไทย ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีพล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ "โอกาสกับประเทศไทย4.0" จะเป็นเวทีที่บีโอไอมีรายละเอียดทั้งหมดด้านการลงทุน เป็นวันที่บีโอไอประกาศความพร้อมพลิกโฉมประเทศไทยด้านส่งเสริมการลงทุน ให้นักลงทุนทั้งไทยและทั่วโลกได้รับทราบว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้แล้วอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลให้นักลงทุนมองเห็นทิศทางหลัก 3 ด้านที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนนับจากนี้ไป

ทั้งนี้ 3 ทิศทางหลัก ประกอบด้วย 1.การเตรียมความพร้อม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ การลงทุนทั้งรถไฟความเร็วสูง ระบบโลจิสติกส์ ทางบก ทางเรือ และท่าเรือเป็นต้น จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด่านแรกให้กับนักลงทุนว่ารัฐบาลพร้อมแล้ว 2.วางกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะการส่งเสริม10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve

3.มีเครื่องมือด้านกฎหมายเป็นตัวเร่งในการขับเคลื่อนนโยบายทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่ (ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว) พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งพ.ร.บ.นี้ขั้นตอนได้ผ่านสภาฯมาแล้ว ก็คงจะมีผลใช้บังคับในเร็วๆนี้ และพ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งอยู่ระหว่างขบวนการกฤษฎีกา ที่มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จะไปลงในพื้นที่อีอีซี โดยเครื่องมือต่างๆ ของบีโอไอจะเป็นตัวผลักดันให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกันและไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างน่าจับตามอง

เลขาธิการบีโอไอกล่าวถึง หลักในการมองเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ จะต้องแยกเป็น 2 เรื่องคือ ดูที่ประเภทกิจการ และดูที่ระดับเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น ที่กำหนดไว้คือ พัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Targeted Core Technologies) 4 กลุ่ม คือ ไบโอเทคโนโลยี, นาโนเทคโนโลยี, Advanced Materials Technology (เทคโนโลยีการผลิตวัสดุขั้นสูง) และ ดิจิตอล เทคโนโลยี หากผู้ประกอบการที่ผลิตมีการพัฒนา ตัวใดตัวหนึ่งใน 4 Core Technologies โดยมีการเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ก็จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล10 ปี (เดิม8ปี)หากตั้งกิจการอยู่นอกพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซี แต่ถ้ากิจการที่เกี่ยวข้องกับ 4 Core Technologies ไปตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี ก็จะได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก50% เป็นเวลา 5 ปี เหล่านี้คือได้สิทธิประโยชน์ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ

นอกจากนี้ที่พิเศษไปกว่านั้นถ้าเป็นกิจการที่ประเทศต้องการมาก เป็นเทคโนโลยีใหม่ในโลกนี้ มีผลิตน้อยราย เราต้องไปแย่งชิงกับคู่แข่ง อยากให้เข้ามาลงทุนในไทย เพราะจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมหาศาล เราก็จะใช้พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุดถึง 15 ปี บวกเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจากงบ 10,000 ล้านบาทอีกตามความเหมาะสม โดย Core Technologies จะกระจายไปสู่ทุกอุตสาหกรรมในหลายอุตสาหกรรม เช่นไบโอเทค เอาไปใช้ผลิตยา หรือด้านการเกษตร หรือเครื่องมือแพทย์ก็ได้ แต่เราจะชูเทคโนโลยีเป็นหลัก และจะไปเสริม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นางหิรัญญาตั้งเป้าว่าการขอรับการส่งเสริมปี2560 ที่ประกาศไปแล้วคือ 6 แสนล้านบาทก่อนนี้นั้น เป็นยอดที่เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มียอดคำขอส่งเสริมอยู่ที่ 5.80 แสนล้านบาท(เป้าเดิม 5.50 แสนล้านบาท) ทั้งนี้เป้าปี 2560 นั้น จะมาจากยอดคำขอรับการส่งเสริมที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจำนวน 1.50 แสนล้านบาทเป็นการลงทุนใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

"เหล่านี้คือสิ่งที่บีโอไอจะขับเคลื่อนนับแต่ปี 2560 เป็นต้นไป โดยจะช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้วย ไม่ใช่อยู่ดีๆรัฐบาลไปยกสิทธิประโยชน์ให้ แต่ต้องมีสิ่งที่ตอบแทนกลับมาต่อประเทศด้วยคือ ให้เกิดการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา เกิดการพัฒนาบุคลากรด้วย"

ทั้งนี้รายละเอียดของงานสัมมนาโอกาสการลงทุนของไทย จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้า นอกจากไฮไลต์อยู่ที่ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษแล้วนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายหกรัฐมนตรี ในหัวข้อ" การขยายตัวของไทยทามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก" นอกจากนั้นจะเป็นหัวข้อเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนไทย เป็นต้น

ส่วนช่วงบ่ายจะมีไฮไลต์ โดยเชิญระดับซีอีโอจากบริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติมาเป็นสปีกเกอร์ในหัวข้อ"สร้างประเทศไทย 4.0 ให้เป็นจริงได้อย่างไร" โดยฝ่ายไทย คือนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริหาร บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และต่างชาติจากบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีฯ , แอร์บัส กรุ๊ปและอายิโนะโมะโต๊ะ จากนั้นเป็นช่วงของการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ หุ่นยนต์, อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาแสดงความเห็นร่วมกันว่าการที่รัฐบาลไทยจะมุ่งไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตเหล่านี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ มีข้อเสนอแนะร่วมกันอย่างไร โดยมีผู้เข้าร่วมในส่วนนี้ราว 1,600 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุน ภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา

สำหรับจำนวนคนเข้าร่วมงานล่าสุดตอบรับแล้วราว 3,000 คน ประกอบด้วย นักลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่บีโอไอทำจดหมายเชิญร่วมจำนวน 200 คน นักข่าวต่างประเทศ 100 คน ที่เหลือเป็นบริษัทไทยและต่างชาติที่มาลงทุในไทยอยู่แล้ว และสำนักงานบีโอไอจากต่างประเทศ 14 แห่ง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนไทย ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายที่ภาครัฐต้องการโปรโมตให้เห็นภาพทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของไทยนับจากนี้ไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560