"อภิสิทธิ์-กรณ์"หนุนรัฐบาลเร่งสร้างความชัดเจนกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้

08 ก.พ. 2560 | 07:06 น.
อภิสิทธิ์-กรณ์ หนุนรัฐบาลเร่งสร้างความชัดเจน กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ เสนอสูตร “เทพา–LNG  กระบี่–ปาล์มน้ำมัน”  ผลักดัน “พลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคง สะอาด ยั่งยืน”

วันที่ 8 ก.พ.2560  ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร่วมกับ นายกรณ์ จาติกวณิช   แถลงข่าวสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวว่าจะเร่งหาข้อยุติกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า  โดยย้ำจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ปรารถนาจะเห็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ และเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจเลือกใช้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและโลกในอนาคต  โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางให้รัฐบาลเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แต่เปลี่ยนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ควบคู่ไปกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ โดยใช้ปาล์มน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก  พร้อมกับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะเป็นทิศทางของการใช้พลังงานในอนาคต

นายอภิสิทธิ์  กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ภาคใต้และลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังสามารถดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยไม่มีการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า รวมทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากับประชาชนในพื้นที่และกลุ่มอนุรักษ์  ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินการในแนวทางดังกล่าวยังจะเป็นวิธีการรองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในอนาคต  สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่และสอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ใช้งบประมาณที่ประหยัดได้จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี (LNG) ที่มีต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาลงทุนในระบบ Smart Grid เพื่อรองรับการซื้อพลังงานหมุนเวียนจากภาคเอกชนและประชาชนในอนาคต

ทั้งนี้ นายกรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยให้ข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนแนวทางดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. สาเหตุที่เสนอ LNG แทนถ่านหินเนื่องจาก LNG เป็นเชื้อเพลิงที่มีแหล่งผลิตที่หลากหลาย  ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง  มีตลาดซื้อขายที่พัฒนาจึงทำให้ลดความเสี่ยงในด้านการจัดหาและเป็นการกระจายความเสี่ยงเรื่องแหล่งผลิต  ในขณะที่ถ่านหินนั้นแม้จะผลิตได้จากหลายพื้นที่ก็จริงแต่ในภาคปฏิบัตินั้นลักษณะของถ่านหินที่จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละโรงจะมีข้อจำกัดมากมายเสี่ยงต่อการทำให้เกิดภาวะผูกขาดทางวัตถุดิบและไม่ยืดหยุ่นต่อการสรรหาวัตถุดิบที่แพร่หลายได้

2. ราคา LNG และราคาถ่านหินในปัจจุบัน ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก LNG ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจากถ่านหินแม้ว่าข้อมูลของทางราชการในอดีตจะเป็นข้อมูลตรงกันข้าม เราจึงต้องพิจารณาในเนื้อหาสาระและข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันที่สุด

3. เงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้า LNG ต่ำกว่าเงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 50% ทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างได้อีกจำนวนมาก

4. การก่อสร้างโรงไฟฟ้า LNG  ใช้ระยะเวลาในการขออนุญาตและก่อสร้างเพียง 48 เดือน เทียบกับระยะเวลาในการขออนุญาตและก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เวลา 80 เดือน  โรงไฟฟ้า LNG จึงตอบโจทย์ตรงประเด็นต่อภาวะการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และพร้อมรับมือได้อย่างรวดเร็วกว่าแผนเดิมมาก

5. การก่อสร้าง LNG Receiving Terminal ในภาคใต้จะเสริมความมั่นคงให้ประเทศ จากปัจจุบันที่มีการนำเข้า LNG ที่ระยองเพียงจุดเดียว

6. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องผ่านการอนุมัติ EHIA  ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า LNG ต้องผ่านการอนุมัติ EIA เท่านั้น ซึ่งทำให้ระยะเวลาอนุมัติของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนานกว่า  อันจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

7. การยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของไทยในการแสดงความตั้งใจที่จะช่วยลดภาวะเรือนกระจก และการแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเนื่องจาก LNG จัดเป็นพลังงานสะอาด และมีกระบวนการผลิตที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงในระดับที่น้อยมาก

นายกรณ์ กล่าวต่อไปว่า โดยนับตั้งแต่วันที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแถลงจุดยืนต่อสาธารณะ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคำถามจำนวนมากจากผู้ที่สนใจ จึงได้สรุปคำถามหลักและชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไป