ตลาดตราสารหนี้เดินหน้าโต ชำระหนี้การค้าเปลี่ยนมือได้ แบงก์ออกสั้นแทนเงินฝาก

07 ก.พ. 2560 | 01:00 น.
เอกชนใช้ประโยชน์หลากหลายจากตลาดตราสารหนี้ ใช้ตั๋วชำระหนี้การค้า แบงก์ใช้บี/อีสั้นแทนเงินฝากจ่ายดอกเบี้ยพิเศษลูกค้ารายใหญ่ คาดปีนี้ บจ.ออกหุ้นกู้อีกเพื่อจ่ายค่าซื้อกิจการ

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเติบโตเร็วมาก โดย ณ สิ้นปี 2559 มีมูลค่าคงค้าง 3.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 ประมาณ 18% หรือคิดเป็นมูลค่า 437,292 ล้านบาท

ทั้งนี้ตลาดตราสารหนี้เอกชนที่เติบโตมาก เพราะนอกจากมีการระดมเงินเพื่อใช้สำหรับการลงทุนแล้ว ยังสามารถใช้ชำระหนี้การค้าได้ด้วยสำหรับตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดวงเงินสินเชื่อไว้กับธนาคาร เมื่อต้องการชำระค่าก่อสร้าง หรือวัสดุก่อสร้าง ธนาคารก็จะออกตั๋วแลกเงิน(พี/เอ็น)จ่ายแทน ขณะที่เอกชนก็สามารถนำตราสารหนี้ไปขายลดได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เช่นเดียวกับธุรกิจที่มีซัพพลายเชนยาวมากๆ ก็สามารถนำตราสารหนี้ชำระสินค้าและนำไปขายต่อได้

นอกจากนั้นธนาคารพาณิชย์ก็ใช้ตราสารหนี้ เช่น ออกตั๋วบี/อี ระยะสั้นใช้แทนเงินฝากให้กับผู้ฝากเงินรายใหญ่ที่มีเงินเหลือระยะสั้นมาลงทุน โดยได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร
“แบงก์ใช้ตราสารหนี้ในการทำธุรกิจและ สามารถเป็นเครื่องมือในการติดตามการใช้เงินของลูกหนี้ ว่ามีการใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ หากปล่อยสินเชื่อเป็นเงินสด จะไม่ทราบว่าลูกค้านำเงินไปใช้อะไรบ้าง “นายธาดากล่าว

สำหรับภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นระยะยาว คิดเป็นมูลค่า 2,671,617 ล้านบาท หรือ 86.6% ของมูลค่าคงค้างกว่า 3 ล้านล้านบาท ผู้ออกทั้งสั้นและยาวกระจายในหลายอุตสาหกรรม ส่วนแนวโน้มการเสนอขายได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในปี 2559 ที่มากถึง 8.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการออกมูลค่า 5.9 แสนล้านบาท เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนมีการซื้อกิจการจำนวนมาก มีการประมูลใบอนุญาต 4 จี ส่วนในปีนี้คาดไว้ประมาณ กว่า 6 แสนล้านบาท โดยจะมีหุ้นกู้ชุดเดิมครบกำหนดชำระประมาณ 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการรีไฟแนนซ์ประมาณ 60-80%

“การออกตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ย ท่ามกลางสภาพคล่องในประเทศเหลือเยอะ และราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศน่าสนใจ เช่นในยุโรป ทำให้เอกชนไทยระดมทุนได้ค่อนข้างต่ำช่วง ส่วน บริษัทที่ออกหุ้นกู้จำนวนมากเพื่อซื้อกิจการ ในปีนี้ก็ยังมีความต้องการอยู่ เช่น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ฯ (BJC) คาดว่าจะเสนอขายอีกไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท หลังจากออกแล้ว มูลค่า 84.9 หมื่น

ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ส่วนบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการฯ (BDMS) คาดว่าจะออกขายประมาณ 8,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนซื้อทรัพย์สินบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศมูลค่า 10.8 หมื่นล้านบาท”นายธาดากล่าว

ทางด้านการซื้อขายตราสารหนี้เอกชนก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ขยายตัวเฉลี่ย 40.2% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2554 หลังจากในปี 2559 ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 4,331 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 30.4% จากเฉลี่ย 3.32 ล้านบาทในปี 2558 เปรียบเทียบกับการซื้อขายไม่ถึงวันละ 1,000 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา(ปี 2549-2554)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,233 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560