ธพว.มั่นใจ3เดือนพ้นแผนฟื้นฟู สคร.ขีดเส้นไอแบงก์ปีนี้กำไร-บี้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่าย

12 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
เอสเอ็มอีแบงก์มั่นใจหลุดแผนฟื้นฟูภายใน 3 เดือน หลังเร่งวางระบบลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาสินเชื่อ ขีดเส้นไอแบงก์ต้องมีกำไรเท่านั้น ด้านสคร.จี้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่าย

แหล่งข่าวจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารยอมรับผลการพิจาณราของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา มีมติให้ขยายระยะเวลาการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการของธพว.ออกไปอีก 3 เดือน

“ถามว่าวันนี้เราทำได้ตามข้อกำหนดในแผนใหม เราตอบได้เลยว่าทำได้หมด แต่แบงก์ชาติอาจจะเห็นว่าเราเป็นคนไข้ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล จึงจะต้องขอเวลาดูแล หรือดูอาการสักระยะหนึ่งก่อน แบงก์ชาติบอกว่าเรื่องระเบียบหรือกฎเกณฑ์ไม่มีปัญหา แต่ต้องมาปรับเรื่องคน ซึ่งบอร์ดก็จะมีการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น ส่วนเรื่องของเป้าการปล่อยสินเชื่อ หรือ การลดหนี้เสีย แบงก์ทำได้อยู่แล้ว”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็ฯที่ต้องพิจารณาคือการวางระบบเพื่อลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาสินเชื่อ โดยเน้นการนำระบบมาพิจารณามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดหนี้เสียในอนาคต

ปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์ซึ่งอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของธปท. ที่มีผลบังคับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 แต่หากออกจากแผนฟื้นฟูได้เมื่อใดก็จะต้องเข้าไปอยู่ทันที หมายความขนาดเงินกองทุนจะลดลงจาก 13-14% มาอยู่ที่ 8-9% เนื่องจากการคำนวณการสำรองใหม่

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุมคนร.ยังมีมติถึงการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างทำแผนฟื้นฟู 7 แห่ง โดยที่ผ่านมา คนร. ได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหา รวมทั้งแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจพร้อมประเมินผลการทำงานของซีอีโอ แต่ละหน่วยงานในปี 2560 เช่นกัน

หน่วยงานที่ถือว่ามีความคืบหน้าและน่าจะผ่านหรือหลุดจากแผนฟืนฟูได้คือ 2 ธนาคารรัฐ คือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลาม หรือ ไอแบงก์

เอสเอ็มอีแบงก์คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจเสนอไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้กำหนดแผนงานในปี 2560 ไว้ 3-4 ด้าน คือ ธนาคารจะต้องปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย วงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวม 3.4 หมื่นล้านบาท

2.สินเชื่อปล่อยใหม่จะต้องตกชั้นไม่เกิน 0.25%และ 3.หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)สิ้นปี 2560 จะต้องไม่เกิน 1.66 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้จะต้องปฏิบัติตามข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ตั้งข้อสังเกตถึงความเพียงพอของเงินกองทุนรวมถึงการตั้งสำรองจะต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด

ในส่วนของธนาคารอิสลาม(ไอแบงก์) คนร.ขอให้เน้นหนักในเรื่องผลประกอบการในปี 2560 ที่จะต้องมีกำไรตามแผนที่ได้เสนอเข้ามาก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงจะต้องเข้าไปทำงานร่วมกับธนาคารอื่นๆในลักษณะการใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันเพื่อให้ปี 2560 มีผลประกอบการได้ตามเป้า การลดหนี้เอ็นพีแอลและการสรรหาพันธมิตร ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองได้กำหนดว่า ภายในครึ่งปี 2560 นั้นธนาคารจะต้องทำให้ได้ตามแผนไม่ว่าจะเป็นการลดหนี้เอ็นพีแอล การเปิดสาขา หรือใช้คีออส เป็นต้น

นายเอกนิติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไอแบงก์ ได้รายงานความชัดเจนถึงการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) ซึ่งได้เร่งให้มีการโอนหนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีเอฟที่ไม่ใช่ของชาวมุสลิม กว่า 5 หมื่นล้านบาทเข้าไอเอเอ็มไปบริหารจัดการแล้ว

ดังนั้นที่เหลือทางกระทรวงการคลังจะต้องเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบแหล่งเงินการเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินงบประมาณและเงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ก่อนจะนำเข้าประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และให้ไอแบงก์หาพันธมิตรใหม่ให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน2560

“เงื่อนไขสำคัญภายในสิ้นปีธนาคารจะต้องทำกำไรให้เกิดขึ้น หลังจากในปีที่ผ่านมายังมีผลขาดทุนอยู่”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าไอแบงก์จะได้พันธมิตรใหม่หรือไม่ ท้ายที่สุดไอแบงก์จะต้องดำเนินงานตามแผนที่สคร.กำหนดให้ได้ โดยเฉพาะการกลับมาทำกำไร เพราะที่ผ่านมาได้ทำการโอนหนี้เสียตามที่ไอแบงก์ ขอไว้ซึ่งกระบวนการก็ได้โยกหนี้เสียไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เหลือแต่หนี้ดีที่ต้องบริหาร โดยพันธมิตรที่เข้ามาไม่ได้จำกัดเฉพาะต่างประเทศเท่านั้นแต่เปิดรับทั้งหมดเพียงแต่เข้ามาดำเนินงานบริหารธุรกิจด้านอิสลามและเข้าใจในการให้บริการตามหลักศาสนาอิสลามเท่านั้น

ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1 ปี 2560 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้สคร.เร่งติดตามโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของแต่ละหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแผนโดยในวันที่ 13 มกราคมนี้จะเร่งติดตามแผนลงทุนและการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย

หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สคร.จะต้องติดตามแผนการลงทุนเป็นพิเศษ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เนื่องจากกว่า 60% ของเม็ดเงินที่ลงทุนมาจากโครงการลงทุนของการร.ฟ.ท. โดยตามแผนที่วางไว้ปี 2560 ร.ฟ.ท.ต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 95% ของงบลงทุนรวม ที่วางไว้ 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งผลการเบิกข่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมประจำปี 2559 ณ เดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 2.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 81% ของแผนสะสม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560