‘โออีซีดี-เวิลด์แบงก์’ มองจีดีพีโลกขยายตัว

05 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 34 ประเทศ จัดทำรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ระบุว่าปี 2560 จะได้เห็นเศรษฐกิจโลกขยายตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากมาตรการทางการคลังของหลายประเทศที่นำมาใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามปริมาณการค้าและการลงทุนอาจจะยังแผ่วบางเนื่องจากกระแสการกีดกันทางการค้าที่ก่อตัวมากขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้งที่ได้นายโดนัลด์ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เขาคนนี้มีนโยบายปกป้องแรงงานภายในประเทศ และพร้อมจะก่อกำแพงภาษีตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่ทุ่มตลาดสหรัฐฯ

นอกจากนี้ทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯภายใต้นโยบายของผู้นำคนใหม่ และเกี่ยวกับตลาดยุโรปจากกระบวนการถอดถอนอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2560 นี้

แต่กระนั้นสิ่งที่ทำให้โออีซีดีมองแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในทิศทางบวก โดยคาดว่าจะขยายตัวในอัตราถึง 3.3% (เพิ่มขึ้นจากเดิมประเมินไว้ในเดือนกันยายน 2559 ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.2%) ก็คือ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการคลังที่หลากหลายและมาตรการที่เกื้อหนุนการค้า เชื่อว่าความพยายามเหล่านี้จะทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปในปี 2561 ซึ่งโออีซีดีมองว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะมีการขยายตัวถึง 3.6 % และเป็นการหลุดพ้นออกจาก ‘กับดักการเติบโตอัตราต่ำ’ หรือ low-growth trap ในที่สุด

สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ กระแสการกีดกันทางการค้าและตอบโต้กันด้วยสงครามการค้าอาจจะส่งผลบั่นทอนผลลัพธ์เชิงบวกที่ได้จากมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศคู่กรณีอาจจะต้องเผชิญกับภาวะไม่สมดุลทางการคลังได้หากควบคุมสถานการณ์ไม่ดีพอ

ประเทศที่โออีซีดีมองว่ามีแนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตรา 2.3% ในปี2560และจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 3% ในปี 2561 คือสหรัฐอเมริกา เพราะหากรัฐบาลใหม่เร่งเดินหน้าลงมือทำตามแผนที่ให้สัญญาไว้ก่อนและหลังการเลือกตั้ง นั่นจะหมายถึงการขยายเพดานหนี้เพื่อเพิ่มการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการสาธารณะอื่นๆ ขณะที่ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีรายได้นิติบุคคลมีการปรับลดลง

ส่วนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างญี่ปุ่นจะมีการขยายตัวที่ระดับ 1% (มากกว่าที่เคยพยากรณ์ไว้เดิมที่ 0.7%) แต่ในปี2561 คาดว่าจะขยายตัวน้อยลงที่ 0.8% เท่านั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯและจีน โออีซีดีให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า ธนาคารกลางของญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ ควรจะดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย (คิวอี) ต่อไปก่อนจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายผลักดันเงินเฟ้อให้ได้เกิน 2% ตามที่วางไว้

ทางด้านประเทศกลุ่มยูโรโซน (สมาชิก 19 ประเทศ) เศรษฐกิจภาพรวมในปี 2559คาดว่าจะเติบโตที่อัตรา 1.6% และโตต่อเนื่องที่ 1.7% ในปี2561 ขณะที่อังกฤษซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการแยกตัวออกไปจากอียู คาดว่าเศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัวที่อัตรา 1.2% ในปีนี้ก่อนจะปรับลดลงเหลือเพียง 1% ในปี 2561

ในส่วนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินสถานการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในระดับ 3.1% ในปี2559 จะเพิ่มสปีดการเติบโตในระดับ 3.4% ในปี 2560 นี้ ไอเอ็มเอฟประเมินสถานการณ์โดยคำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณี Brexit และเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้

ขณะที่จีนเองก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากอานิสงส์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ประเทศอื่นๆในเอเชียกลับเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไป ประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มดาวรุ่งตลาดเกิดใหม่รวมทั้งอินเดียยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผิดกับประเทศในแอฟริกาแถบทะเลทรายซาฮารา ที่เศรษฐกิจลดวูบลงมาก

ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์คาดหมายจีดีพีโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 2.4% ในปีที่ผ่านมาเป็น 2.8% ในปี2560 การเติบโตที่ยังแผ่วบางในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปริมาณการค้าโลกที่ยังชะลอตัว และเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าน้อยลง ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในปีระกาจะขยายตัวในอัตราไม่สูงนัก นายจิม ยอง คิม นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมอาจขยายตัวเพียง 0.4% ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จะสามารถขยายตัวได้มากกว่า

“ท่ามกลางบริบทที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอแต่เครื่องมือของภาครัฐที่จะนำมาใช้ลดทอนแรงกระทบลดน้อยลง การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจก็ยิ่งเป็นภารกิจที่ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน” ผู้บริหารของธนาคารโลกยังกล่าวต่อไปว่า หลายประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (ที่ราคากำลังตกต่ำลง) จำเป็นต้องปรับตัว

“ราคาสินค้าส่งออกที่ตกต่ำลงมีผลฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้น เพื่อให้สามารถกระจายความมั่งคั่งและแก้ไขปัญหาความยากจน ภาครัฐจำเป็นต้องนำนโยบายส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกๆด้านมาใช้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560