หวังพ้นบัญชี PWLรอบ 10 ปี อธิบดีคนใหม่ลั่นเร่งปราบละเมิด-ร่นเวลาจดสิทธิบัตร

02 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
อธิบดีใหม่ทรัพย์สินทางปัญญาไฟแรง โชว์แผนปีระกา เดินหน้าปรุงปรุงกฎหมายร่นระยะเวลาตรวจสอบและจดสิทธิบัตรจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี พร้อมดันโรดแมปสู่ยุค 4.0 ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ลุยหนักปราบละเมิดฯหวังหลุดบัญชี PWL ของสหรัฐฯครั้งแรกรอบ 10 ปี โชว์ 10 เดือนปี 59 จับแล้วกว่า 8,733 คดี

นายทศพล ทังสุบุตร ว่าที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา(ทป.)คนใหม่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนงานที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2560 ที่สำคัญคือการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาด้านส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางกรมได้เสนอแผนที่นำทาง (Roadmap) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศในระยะ 20 ปีเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คทป.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว โดยจะมีการทำ IP Roadmap ครอบคลุมเรื่องการส่งเสริม คุ้มครอง ปราบปรามและปลุกจิตสำนึก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและบูรณาการทำงานตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง คือ ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค ให้สอดรับกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เช่น ด้านการสร้างสรรค์ ด้านการคุ้มครอง ด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีขั้นตอนในการดำเนินการนาน การปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรใหม่จะลดระยะเวลาในการตรวจสอบ และรับจดทะเบียน จากเดิมใช้เวลา 5 ปีเหลือประมาณ 3 ปี โดยขณะนี้ทางกรมอยู่ระหว่างการหารือกับประเทศต่างๆในการทำกระบวนการพิจารณาซึ่งสามารถนำผลการตรวจสอบสิทธิบัตรของประเทศอื่นมาใช้ได้ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น เช่น การขอจดสิทธิบัตรที่ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่นแล้วเมื่อมายื่นที่ไทยก็อาจจะผ่านได้เลยโดยที่ไทยไม่ต้องมาตรวจซ้ำอีก เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีแผนแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรไทยให้มีการดูแลเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติการดูแลและเข้าถึงระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ของชุมชน คาดจะมีผลสรุปในเร็ว ๆ นี้

"ในเรื่องการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรยา ในกฎหมายสิทธิบัตรที่จะปรับปรุงใหม่ เรื่องนี้จะมีเงื่อนไข กำหนดให้ ผู้ที่มายื่นขอจดสิทธิบัตรยาจะต้องมีเอกสารมาแสดงประกอบคำขอด้วยว่ายาที่พัฒนามานั้นมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของใคร และได้รับอนุญาตในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์มาจากท้องถิ่นหรือยัง"

ส่วนการผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ(Priority Watch List : PWL)สำหรับประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงของสหรัฐอเมริกา(ไทยถูกขึ้นบัญชี PWL มาตั้งแต่ปี 2550) ในปี 2559 ที่ผ่านมาไทยได้มีมาตรการและปราบปรามมากขึ้น เช่น การจับกุมดำเนินคดี ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางเฟซบุ๊กมากขึ้น และการปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 16 เว็บ ซึ่งในปีใหม่จะเร่งปราบปรามการละเมิดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรวม 5,488 คดี สามารถยึดของกลางได้ 2.71 ล้านชิ้น จากในปี 2558 ทั้งปีสามารถจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรวม 7,849 คดี ยึดของกลางได้ จำนวน 9.52 แสนชิ้น ขณะที่ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถจับกุมได้ 20 คดี ของกลาง 1.01 ล้านชิ้น จากในปี 2558 ทั้งปีจับกุมได้ 38 คดี ของกลาง 7.13 แสนชิ้น ส่วนของกรมศุลกากรช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 จับกุมได้ 613 คดี ของกลาง 1.09 ล้านชิ้น จากในปี 2558 ทั้งปีจับกุมได้ 846 คดี ของกลาง 2.22 ล้านชิ้น

"รวมทั้ง 3 หน่วยงาน ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 จับกุมได้ 6,121 คดี ของกลาง 4.82 ล้านชิ้น จากทั้งปี 2558 จับกุมได้ 8,733 คดี ของกลาง 3.88 ล้านชิ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560