ศึกรถบรรทุกแข่งเดือด โฟตอนลุยรถเล็ก/วอลโว่ทรัคส์-ยูดีขยายกำลังผลิต

05 ต.ค. 2559 | 11:00 น.
อานิสงส์เมกะโปรเจ็กต์ - เออีซี ส่งตลาดรถบรรทุกระอุ “โฟตอน จีน” โดดลงทุนประกอบและขายรถขนาด 4 ล้อ , 6 ล้อ และตู้ 16 ที่นั่ง ฟุ้งสิ้นปีลุยกระบะเสริมอีก 6 รุ่น ด้านตันจงทำตลาดรถขนาดใหญ่-รถมิกเซอร์ ยันสินค้าไม่ทับไลน์ ขณะที่วอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ประกาศแนวรบเต็มสูบ ทุ่มทุนกว่า 2,000 ล้านขยายกำลังการผลิต มั่นใจยอดขาย-ส่วนแบ่งตลาดเติบโต

นายเกิ่ง เชา ประธาน บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถบรรทุกโฟตอนในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อทำการประกอบรถบรรทุกขนาดเล็ก 4 ล้อ ,6 ล้อ และรถตู้ ขนาดกว้างและหลังคาสูงสำหรับ 16 ที่นั่ง และช่วงปลายปีจะประกอบรถกระบะ 6 รุ่น แบ่งออกเป็น ดับเบิลแค็บ 4x4 ,4x2 รุ่นซิงเกิลแค็บ 4x2 โดยใช้งบลงทุนเบื้องต้นประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อทำการผลิตและประกอบโดยใช้โรงงานของบริษัท บางชันเยนเนอเรล เอสเซมบลี จำกัด (BGAC) ที่มีประสบการณ์ในการผลิตและประกอบรถยนต์
มี 3 โรงงานบนพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร โดยตั้งเป้าหมายการผลิตในเฟสแรก 1 หมื่นคันต่อปี

ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดจะเน้นสร้างแบรนด์ มีการเข้าร่วมงานมอเตอร์เอ็กซ์โป มีกิจกรรมโรดโชว์ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ด้านนโยบายการขายจะใช้ราคาเป็นหลัก และมีการรับประกันคุณภาพตัวสินค้า มีอะไหล่รองรับ ให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขาย รวมไปถึงสนับสนุนด้านการเงินผ่านไฟแนนซ์ นอกจากนั้นแล้วจะทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 15 แห่ง และภายในสิ้นปีจะขยายเป็น 25 แห่ง และตั้งเป้าหมายภายในปี 2560 จะมีจำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ

“ด้านศูนย์อะไหล่ต่างๆ การจัดไฟแนนซ์ , คอลล์เซ็นเตอร์ และการช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งหมดนี้เรามีการร่วมมือกับผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง อาทิ ดีเอชแอล (DHL) อลิอันซ์ โกลบอล แอสซิสแทนซ์ (AGA) และ แอลเอ็มจี ประกันภัย (LMG) ซึ่งแม้เราจะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่เราจะพยายามสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในประเทศ และคาดหวังว่าภายใน 2 -3 ปีจะมีส่วนแบ่งการตลาดและสามารถเข้าไปเกาะกลุ่มแบรนด์หลักๆของประเทศไทยได้”

นาย เกิ่ง เชา กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำตลาดของบริษัท และตันจงกรุ๊ปที่ได้รับสิทธิการทำตลาดในไทยก่อนหน้านั้นว่า ตันจงกรุ๊ปถือเป็นพาร์ตเนอร์ของโฟตอนสำหรับรถบรรทุกหนัก ส่วนผลิตภัณฑ์หรือสินค้ารุ่นอื่นๆนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด โดยการที่บริษัทแม่หันมาลงทุนเองเนื่องจากเล็งเห็นความต้องการของตลาดไทยและในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ซึ่งนอกจากจะผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศแล้ว ยังจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาสำหรับส่งออกไปทั่วโลก

ด้านแหล่งข่าวจากตันจงกรุ๊ป ที่ได้รับสิทธิในการประกอบและจำหน่ายในไทย เปิดเผยว่า การเข้ามาของบริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ส่งผลกระทบ เพราะบริษัทแม่ที่จีนมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายหลายรายในประเทศต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากแบรนด์ญี่ปุ่น ที่จะแต่งตั้งแค่เพียงรายเดียว นอกจากนั้นแล้วตันจงกรุ๊ปได้รับสิทธิ์ในการประกอบและขายรถบรรทุกหัวลากขนาดใหญ่ และรถโม่ผสมปูน ซึ่งถือว่าเป็นคนละตลาดกัน จึงทำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบ และบริษัทยืนยันเป้าหมายการขายในปีนี้ไว้ที่ 150 คัน

ด้านนายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธานกรรมการ วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ผู้จัดจำหน่ายรถวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถบรรทุก 8 เดือนที่ผ่านมีการเติบโต 1.6 % ซึ่งรถแบรนด์ญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตสูงกว่าแบรนด์อื่นๆ เนื่องจากทิศทางตลาดเริ่มดีขึ้น กลุ่มก่อสร้างโครงการต่างๆมีคำสั่งซื้อรถ โดยตัวเลขการขายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 1.2 หมื่นคัน คาดว่าหากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบจะทำให้ตลาดมียอดขายรวม 1.8 หมื่นคัน

สำหรับยอดขายรวมของบริษัททำได้ประมาณ 700 คัน โดยยูดี ทรัคส์ ทำได้ 450 คัน เติบโต 45 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนวอลโว่ ทรัคส์ ยอดขายหดตัวลง ทำได้ 224 คัน คาดว่าจนถึงสิ้นปียอดขายรวมทั้ง 2 แบรนด์จะมีการเติบโต เช่นเดียวกับส่วนแบ่งตลาด ที่ปัจจุบันทำได้ 6.2% ซึ่งถือว่าเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำได้ประมาณ 6%

“ภาพรวมตลาดรถบรรทุก - หัวลาก ในช่วงต้นปี ติดลบ 20% อย่างไรก็ดีในครึ่งปีหลังแนวโน้มเริ่มดีขึ้น และเดือนที่ผ่านมามีการเติบโต ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ โครงการต่างๆของรัฐที่เริ่มเดินหน้า ประกอบกับการเปิดเออีซี ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทโดยเฉพาะแบรนด์ ยูดี ในรุ่นเควสเตอร์ ได้รับการตอบรับดีมาก เพราะมีสินค้าครบไลน์ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ รองรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนวอลโว่ หดตัวลงเพราะกลุ่มลูกค้ามีการชะลอเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจส่งผลให้ลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจ”

ส่วนนางเฮเลน ซาฟมึล รองประธานอาวุโสกลุ่มธุรกิจรถบรรทุกวอลโว่ภูมิภาคเอเชียและกรรมการผู้จัดการโรงงานกรุงเทพฯ เผยว่า เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตและฉลองเข้าสู่ปีที่ 40 ของการดำเนินงานในประเทศไทย บริษัทได้ขยายการลงทุนในประเทศไทย 2,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสายการผลิตรถยูดี เควสเตอร์ โดยมีกำลังการผลิต 2 หมื่นคันต่อปี ส่วนวอลโว่ ทรัคส์ ได้ขยายมาเป็น 2,000 คันต่อปี

“การขยายการลงทุนที่ผ่านมาเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ กล่าวคือการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยูดี ทรัคส์ จำหน่ายทั้งในและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อีกทั้งยังรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ประเมินว่าความต้องการรถบรรทุกของภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่ดี เพราะมีการตื่นตัวด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ต่างๆ”

สำหรับโรงงานผลิตรถบรรทุกของโรงงานกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 77 ไร่ มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1หมื่นคันต่อปี มีการจ้างพนักงานทั้งสิ้น 690 คน และโรงงานในประเทศไทยใช้ชิ้นส่วนภายในภูมิภาคอาเซียนที่ 50%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559