‘กวดวิชา’ดิ้นออกนอกระบบ รายเล็กผันเป็นโรงเรียนเถื่อน

26 ก.ย. 2559 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

โรงเรียนกวดวิชาปาดเหงื่อเจอศึกรอบด้าน ดิ้นหาช่องออกนอกระบบ หวังเปิดกว้างพัฒนาหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอน "เคมี อ.อุ๊" ระบุภาพรวมตลาดทรุดหนัก เหตุประชากรเด็กลดลง เจอเรียกเก็บภาษีดันต้นทุนพุ่ง แบรนด์ระดับกลางแห่ปิดสาขา รายเล็กโบกมือลาผันตัวเป็นร.ร.เถื่อน ด้าน "ออนดีมานด์" ชี้ตลาดแข่งเดือด พฤติกรรมนิวเจนเห่อเรียนตัวต่อตัว ส่งผลติวเตอร์หน้าใหม่ผุดเป็นดอกเห็ดเบียดชิงลูกค้าเจ้าดัง

นายอนุสรณ์ ศิวะกุล ประธานชมรมการศึกษาทางเลือก อดีตนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา และประธานบริหารกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาในเครือวรรณสรณ์ บริษัท วรรณสรณ์ธุรกิจ จำกัด ผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชา "เคมี อ.อุ๊" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมโรงเรียนกวดวิชามีการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี เพราะในอดีตไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาใด ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส โรงเรียนกวดวิชาไม่เคยได้รับผลกระทบหรือมีผลประกอบการและจำนวนผู้เรียนที่ลดลง

ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ภาพรวมตลาดลดลงมาจำนวนประชากรเด็กที่ลดลง การแข่งขันที่รุนแรงของโรงเรียนกวดวิชา ผนวกกับระบบการจัดเก็บภาษีที่เพิ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบมีภาระและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของติวเตอร์รุ่นใหม่ และระบบการเรียนแบบใหม่ อาทิ การเรียนผ่านเว็บไซต์ ฯลฯ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ต่างเห็นตรงกันว่าต้องการออกนอกระบบ ไม่ต้องการอยู่ในสังกัดของหน่วยงานภาครัฐ ที่คอยทำหน้ากำกับดูแล ทำให้ผู้ประกอบการต้องอยู่ในกรอบ ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนหรือโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนได้ อีกทั้งเมื่อโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ต้องยื่นเสียภาษีนิติบุคคล ก็ไม่แตกต่างกับการเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป ดังนั้นจึงยกเลิกการจดทะเบียนสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา พร้อมจัดตั้งเป็นชมรมการศึกษาทางเลือก เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องและผลักดันให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาออกจากสังกัดของหน่วยงานรัฐ พร้อมกับกลับมาดำเนินการตั้งสมาคมร่วมกันใหม่อีกครั้ง

นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษี พบว่าผู้ประกอบการบางรายยื่นขอถอนการจดทะเบียนโรงเรียนเพื่อออกนอกระบบ และกลายเป็นโรงเรียนกวดวิชาเถื่อน ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดให้บริการตามอาคารพาณิชย์ หรือบ้าน ที่ยังไม่เคยจดทะเบียนก็ยังมีปริมาณมาก รวมถึงโรงเรียนกวดวิชาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่มีการจดทะเบียนแต่อย่างใด ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนจำนวนมาก

"การต้องเสียภาษีไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเท่าใดนัก แม้ช่วงแรกจะยุ่งยากเรื่องของระบบการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ระบบ มีการปรับตัวทุกอย่างก็ลงตัว เสียภาษีนิติบุคคลไม่แตกต่างกับบริษัทเอกชน ก็ควรมีอิสระในการดำเนินงาน ไม่ต้องอยู่ในกรอบหรือมีหน่วยงานรัฐมากำกับดูแล หรือมีข้อกำหนดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพและหลักสูตร การเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่"

นอกจากนี้ยังพบว่า มีโรงเรียนกวดวิชาระดับกลาง เริ่มทยอยปิดสาขาลงเพราะไม่ต้องการแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนระดับล่างก็เลิกกิจการไปหลายราย หันไปเปิดสอนแบบติวเตอร์หรือตัวต่อตัว เพราะไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายและต้องแข่งขันกับแบรนด์อื่น

"ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งมีการทำตลาดที่แตกต่างกันไป มีการแข่งขันด้านราคาบ้าง แต่เมื่อเทียบกับติวเตอร์ ซึ่งคิดอัตราค่าสอนเฉลี่ย 300-500 บาทต่อชั่วโมง และหากเป็นการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษจะคิดค่าสอนเฉลี่ย 1,000 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับร้านใหญ่ซึ่งคิดค่าสอนเฉลี่ย 80-100 บาทต่อชั่วโมง แต่ด้วยจุดเด่นของติวเตอร์ ที่เป็นการเรียนแบบตัวต่อตัว หรือเรียนกลุ่มเล็ก สามารถเลือกสถานที่เรียนได้ หรือขยับเวลาได้ทำให้เป็นที่นิยมมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่" นายอนุสรณ์กล่าวและว่า

ปีนี้ยังลุ้นอยู่ว่า ภาพรวมโรงเรียนกวดวิชาจะมีการเติบโตหรือไม่ แต่จากช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นทำให้เชื่อว่าการเติบโตของตลาดรวมจะไม่ลดลง ขณะที่เคมี อ.อุ๊เองคาดว่าจะยังมีการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งจำนวนผู้เรียนและผลประกอบการ โดยจะขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งที่ฉะเชิงเทราส่งผลให้มีสาขารวม 29 แห่งในเดือนตุลาคมนี้

ด้านนายสาธร อุพันวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชา "ออนดีมานด์" กล่าวว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต จากเดิมที่มีโรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชาต่างๆ เปิดให้บริการมากมาย จนทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ผู้เรียนให้ความสนใจเรียนแบบตัวต่อตัว หรือเรียนกลุ่มเล็กมากขึ้น ทำให้มีนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยผันตัวเองมาเป็นติวเตอร์ สอนกวดวิชาให้กับน้องๆ เพิ่มมากขึ้นและได้รับความนิยมสูง เพราะจำนวนผู้เรียนน้อยและสามารถเลือกสถานที่เรียนได้

"การแข่งขันในตลาดโรงเรียนกวดวิชายังคงรุนแรงเช่นเดิม ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้ตลาดรวมเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ความนิยมของผู้เรียนที่หันมาเรียนผ่านติวเตอร์ ทำให้เกิดติวเตอร์หน้าใหม่ๆตามมา เป็นลักษณะเดียวกับดีมานด์ ซัพพลาย เมื่อเกิดดีมานด์มาก ก็มีซัพพลายเกิดขึ้นมารองรับ ซึ่งติวเตอร์หน้าใหม่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยที่มาเปิดสอนรุ่นน้องแบบตัวต่อตัว หรือเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ และสามารถเลือกสถานที่เรียนได้ ทำให้เกิดความสะดวก และไม่จำเจ"

ขณะที่การเกิดโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนก็ยังมีให้เห็น เพราะผู้ประกอบการบางรายไม่อยากรับภาระเรื่องภาษี หรือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และไม่อยากเปิดเป็นกิจจะลักษณะ จึงไม่ได้จดทะเบียนผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งรูปแบบการเรียนจะคล้ายคลึงกับติวเตอร์ คือ เรียนตัวต่อตัว หรือกลุ่มเล็กและสามารถเลือกสถานที่เรียนได้เช่นกัน ทำให้มีข้อได้เปรียบที่ต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนถูกต้อง และมีสาขามาก ซึ่งปัจจุบัน เข้าสู่ระบบการเสียภาษี ทำให้ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น

"โรงเรียนกวดวิชารายใหญ่ต้องเน้นที่คุณภาพเป็นหลัก เพราะมีคู่แข่งเยอะทั้งรายเล็กและรายใหญ่ หากจะนำเรื่องของราคามาเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดก็จะแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ ขณะที่กลยุทธ์การทำตลาดของออนดีมานด์ จะเน้นไปที่การพัฒนาด้านคุณภาพ การเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดองค์ความรู้อย่างแท้จริง "

อย่างไรก็ดี โรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ เป็นเซ็กเมนต์ที่ได้รับความนิยมมากสุด เพราะมีกลุ่มผู้เรียนหลากหลายทั้งนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วไป ผู้ที่เตรียมตัวสอบเพื่อเรียนต่อต่างประเทศ และคนทำงาน รองลงมาได้แก่คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559