ภารกิจเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ค่าครองชีพ

14 พ.ค. 2566 | 10:09 น.

ภารกิจเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ค่าครองชีพ : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,887 ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ค. 2566

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,887 ระหว่างวันที่ 14-17  พ.ค. 2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย 

*** วันที่ 14 พ.ค.2566 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  ไม่ว่าพรรคการเมืองจากซีกที่เรียกตัวเองว่าฝั่ง “ประชาธิปไตย” หรือ ฝั่ง “อนุรักษ์นิยม” จะได้เป็น “รัฐบาลใหม่” หรือ ใครจะขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” เป็นผู้นำบริหารประเทศ ได้มี “การบ้าน” จากหลายส่วน ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลใหม่ให้เร่งแก้ไข ทั้งเรื่อง ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ 

+++ “เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66” ได้สำรวจความคิดเห็นถึงสิ่งที่ “คนไทย”  อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา และพัฒนาเรื่องใดมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแสดงความเห็นว่า พวกเขาต้องการให้รัฐบาลใหม่ “ลดค่าครองชีพ” ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ฯลฯ จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 115,399 ตัวอย่าง

ลดค่าครองชีพ ที่นำมาเป็นอันดับหนึ่งนั้น อยู่ที่ 46.23% รองลงมา อันดับ 2 ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลใหม่ สร้างงาน/เพิ่มรายได้/ฝึกอาชีพ ให้พวกเขามากที่สุด 20.06%

ตามด้วย แก้ปัญหาหนี้สิน 12.27%, พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประปา/ไฟฟ้า/ถนน,ขนส่ง/ระบบสื่อสาร/สวนสาธารณะ 6.75%,  แก้ปัญหาสิ่งเสพติด 5.99%, พัฒนาด้านการศึกษา  5.15%, จัดสรรที่ดินทำกิน/ที่ค้าขาย 2.53%, พัฒนาบริการสาธารณสุขและดูแลสุขภาพประชาชน 4.55%, ดูแลผู้สูงอายุ คนด้อยโอกาส ฯลฯ 3.75%, พัฒนาที่อยู่อาศัย มีที่อยู่อาศัย/ปลอดภัย 2.93%, พัฒนาบริการสาธารณสุขและดูแลสุขภาพประชาชน 1.71% 

*** ขณะที่ข้อเสนอของ “ภาคเอกชน-ภาคธุรกิจ” ที่ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลใหม่นั้น สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า ในช่วง 100 วันแรก อยากให้รัฐบาลทำตามนโยบาบฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ที่ต้องเร่งทำทันที เพื่อให้เม็ดเงินต่าง ๆ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้คือ การบริหารจัดการราคาพลังงานต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่านํ้า ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย จากปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

*** เช่นเดียวกับ ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่อยากให้รัฐบาลใหม่บริหารจัดการเรื่องค่าไฟฟ้าที่เป็นค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือน รวมถึงเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิตทั่วประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และสภาพคล่องของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ เป็นเรื่อง การกระตุ้นการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนในประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ การเร่งระบายสินค้าเกษตร และตั้งงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร และ SME ให้สามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพให้ส่งออกได้  

                    ภารกิจเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ค่าครองชีพ                      

*** ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) บอกว่า ทาง กกร. ได้จัดทำ 6 ข้อเสนอหลักเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปแก้ปัญหาของประเทศ ประกอบด้วย

1. การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ โดยส่วนหนึ่งขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็น ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนและรายจ่ายของทุกภาคส่วน

2.ด้าน Ease of Doing Business ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

3.ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็นเทคโนโลยีฮับของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี เพื่อดึงเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าประเทศ

4.ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ที่ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การสนับสนุนการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว  

5.ด้าน SME มีมาตรการช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็ว เร่งปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME

และ 6.ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

*** ส่วน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เสนอว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาควรมุ่งเน้นนโยบาย การพัฒนา และปรับปรุงข้อกฏหมาย หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวไม่ติดขัด ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นกว่าในอดีต และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า

…ทั้งหมดเป็นข้อเสนอ เป็นการบ้านของ “รัฐบาลใหม่” ที่หนักอึ้ง และรอคอยความหวังที่จะเห็นประเทศชาติพัฒนาเจริญขึ้น