นับเป็นเรื่องที่ประหลาดใจระคนกังวล เมื่อรับฟังการแถลงของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลว่า รัฐบาลพร้อมเดินหน้าเต็มสูบตามที่ให้คำสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน แต่ก็อ้างเหตุผลว่า นโยบายดังกล่าวมุ่งมั่นที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชน
นายกรัฐมนตรีซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่า นโยบายนี้เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และไม่รู้ว่าเป็นเวรเป็นกรรมของเมืองไทยหรืออย่างไร ที่ได้คนที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจการคลัง มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ และนับเป็นตำแหน่งที่สร้างความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิตของประเทศไทย อย่างยากที่จะประเมินความสำคัญได้
หากไล่เรียงทำเนียบขุนคลังของประเทศไทยในอดีตจะพบว่า ไม่ว่าช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ช่วงที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เป็นที่น่าอิจฉาของประเทศต่าง ๆ รัฐมนตรีคลังล้วนแล้วแต่มาจากคนดีมีฝีมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ และได้รับความไว้วางใจจากทุกภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็น คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ คุณกรณ์ จาติกวณิช คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ หรือแม้แต่ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ผู้ได้รับการยอมรับอย่างสูง ในฐานะรัฐมนตรีคลังคู่ใจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ยิ่งเห็นการบริหารเศรษฐกิจมหภาค หรือ เศรษฐกิจสาธารณะของรัฐบาลคณะนี้ ก็ยิ่งเห็นนโยบายที่เข้ารกเข้าพงมากขึ้นเป็นลำดับ และรัฐบาลก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หาได้มีกิริยาจะรับฟังคำทัดทานคัดค้านจากนักเศรษฐศาสตร์ หรือ แม้แต่หน่วยงานในกำกับของรัฐบาลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตาม
และหากวันนี้ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว นโยบายเด็กเล่นขายของแต่ทำเอาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย สุ่มเสี่ยงต่อภาวะขาดเสถียรภาพคงถูกตวาดและตีตกจนคว่ำอย่างรวดเร็ว
หลายต่อหลายคนกล่าวกันว่า หากวันนั้น พลเอกเปรม ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่มี สมหมาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เศรษฐกิจไทยคงถึงคราวกัลปาวสานไปตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 และคงไม่มีมหัศจรรย์แห่งเอเชีย (Miracle of Asia) ที่ทั้งฝรั่งหัวดำ หรือ ฝรั่งหัวทองมานั่งแปลกอกแปลกใจถึงความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ด้วยอัตราเติบโตปีละ 2 หลัก จนก้าวกระโดดจะไปเป็นประเทศ NICS (Newly Industrial Countries) ของโลกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักลงทุนหลายหลากสัญชาติ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะความเป็นมืออาชีพของ คุณสมหมาย ที่มุ่งทำงานในตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อชาติบ้านเมือง ให้เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มิได้มุ่งแต่จะรักษาอำนาจทางการเมือง และจิตใจคับแคบจนขาดวิสัยทัศน์ดังเช่นปัจจุบัน
คุณสมหมายก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีคลัง ในยามที่ปัญหาต่าง ๆ เสนอหน้าท้าทาย รัฐบาลพลเอกเปรม อย่างพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดดุลงบประมาณก็ดี ปัญหาการขาดดุลการค้าก็ดี ปัญหาสถาบันการเงินล้มก็ดี แต่ละปัญหาต่างเข้ามารุมเร้ารัฐบาลให้โซซัดโซเซไม่เว้นแต่ละวัน พลเอกเปรม และ บรรดาที่ปรึกษาต่างเห็นตรงกันว่า คงมีแต่คนอย่าง คุณสมหมาย เท่านั้นที่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้ที่สุด
ด้วยความเป็นนักการคลังแบบอนุรักษ์นิยม นโยบายที่ คุณสมหมาย ทำคลอดเป็นนโยบายแรก คือ นโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะการรัดเข็มขัดการใช้จ่ายภาครัฐอย่างเข้มงวด ผ่านการจัดทำงบประมาณที่ประหยัดแต่มีประสิทธิภาพสูง ความมัธยัสถ์ของรัฐบาลในช่วงนั้น ส่งผลให้รัฐบาลสามารถประคองตัวผ่านภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงได้อย่างไม่ลำบากมากนัก
มิเพียงเท่านั้น นโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เข้มข้นของ คุณสมหมาย ต่างเป็นที่กล่าวขานกันทั่วสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้ คือ นโยบายการปรับลดอัตราแลกเปลี่ยน หรือ มาตรการการลดค่าเงินบาทจาก 23 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็น 27 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ
มาตรการประวัติศาสตร์นี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าค่าเงินบาทจะลดค่าลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ คุณสมหมาย มีความเชื่อมั่นว่า การลดค่าเงินบาทจะเป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชนมากที่สุด และมิใช่เพียงครั้งเดียวที่ คุณสมหมาย หยิบนโยบายนี้ออกจากลิ้นชักมาใช้ในการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
ในช่วงชีวิตการนั่งเป็นขุนคลัง คุณสมหมาย ได้ใช้มาตรการลดค่าเงินบาทเข้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปถึง 6 ครั้ง ครั้งแรกสมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยคลังปี 2515 ครั้งที่ 2 และ 3 เมื่อปี 2516
และเมื่อหวนกลับมาเป็นขุนคลังอีกครั้งใน รัฐบาลเปรม คุณสมหมาย ก็เริ่มลดค่าเงินบาทอีกในวันที่ 12 พฤษภาคม 2524 และถัดมาอีก 2 เดือนก็ยกเลิกการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Daily Fix หันมาเป็นแบบ Basket of Currencies เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกเป็นหลัก
ในที่สุดผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าว ก็สะท้อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ดังที่ คุณสมหมาย เชื่ออย่างแท้จริง และแม้ว่า คุณสมหมาย จะวางแนวรักษาวินัยทางการคลังไว้อย่างเข้มงวด จนผู้คนพากันก่นด่าทั่วบ้านทั่วเมือง
แต่ คุณสมหมาย เป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการ กล้าตัดสินใจในการทำงาน และพูดน้อยแต่เด็ดขาด หาก คุณสมหมาย คิดว่าถูกต้อง โดยไม่เกรงต่อผลกระทบใด ๆ ที่ตามมา ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในหน่วยงานบริหารเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศไทยในทุกวันนี้
กล่าวกันว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก หลังการลดค่าเงินบาท คุณสมหมาย มีสภาพยับเยินเหมือนนักมวยที่ถูกนับสิบ หลายชั่วโมงที่รัฐมนตรีหลายคนเมามันกับการอัด คุณสมหมาย ให้น่วม ฐานทำให้รัฐบาลมีปัญหาหนักขึ้นจากที่หนักอยู่แล้ว
แต่กระนั้นก็ตาม นับเป็นความกล้าหาญ และอดทนอย่างมากของ คุณสมหมาย เนื่องด้วย คุณสมหมาย รู้ดีว่า การลดค่าเงินบาทเป็นการตัดสินใจที่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็คงต้องโดนสวดชยันโต
หากแต่คุณสมหมาย ก็มิได้แสดงอาการหวั่นไหวต่อการตัดสินใจที่กระทำลงไป และพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาท ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นกับทุกฝ่ายว่า มาตรการดังกล่าวมีผลดีมากกว่าผลเสีย และโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายยอมรับกับการตัดสินใจดังกล่าว
บทบาทรัฐมนตรีคลังที่ชื่อ “สมหมาย ฮุนตระกูล” แตกต่างจากรัฐมนตรีคลังคนอื่น แทบจะเรียกได้ว่าโดยสิ้นเชิงทีเดียว คุณสมหมาย น่าจะเป็นรัฐมนตรีคลังคนเดียวในรอบหลายสิบปี ที่สามารถแก้ไขวิกฤตของประเทศ ด้วยคุณธรรม และความสามารถในการบริหารอย่างแท้จริง
แต่หากถามหา รัฐมนตรีคลังในยามนี้ ก็เห็นจะไม่เทียมเท่าคุณสมหมาย อย่างแน่นอน เพราะขุนคลังคนปัจจุบันขาดความกล้าหาญและไม่มีความเป็นผู้นำเหมือนดังที่ คุณสมหมาย หาญกล้าที่จะลดค่าเงินแบบที่ไม่มีใครคิดว่ารัฐมนตรีคลังคนใด กล้าที่จะทำและรับผิดชอบผลที่ตามมา