เปิดโผอุตฯ รุ่ง-ร่วง ปีมะโรง รถอีวีเด่น-เหล็กน่าห่วง จับตาต้นทุนพุ่งยกแผง

13 ธ.ค. 2566 | 01:00 น.

เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในภาคการผลิตส่วนใหญ่ ระบุในปี 2567 หรือปีมะโรงที่จะมาถึง เป็นอีกปีที่ “เหนื่อย” แม้สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบได้ที่ 3-4% ก็ตาม

เปิดโผอุตฯ รุ่ง-ร่วง ปีมะโรง รถอีวีเด่น-เหล็กน่าห่วง จับตาต้นทุนพุ่งยกแผง

โดยการบริหารต้นทุน และการสร้างรายได้ ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ในมุมมองของผู้นำภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมองอย่างไร นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง ตัวแปรสำคัญ ปัญหาใหญ่ของประเทศ อุตสาหกรรมกลุ่มใดเป็นดาวเด่น-ดาวโรย และสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขมีอะไรบ้าง

  • มรสุมปัจจัยเสี่ยงรุมซัด

นายเกรียงไกร เปิดประเด็นด้วยปัญหาใหญ่ที่ภาคการผลิตจะต้องเผชิญในปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น ไล่ตั้งแต่ 1.ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 โดยมีทางเลือกปรับขึ้นค่า Ft ตั้งแต่ 4.68 - 5.95 บาทต่อหน่วย (เพิ่มขึ้น 17-49% จากงวดปัจจุบันอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย) คาดจะส่งผลทำให้เอกชนต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้า 5-12% หลังจากสต๊อกสินค้าเก่าหมด

2.ราคานํ้ามันและก๊าซธรรมชาติยังคงมีความผันผวน จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งหากราคานํ้ามันกลับไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก แก้ว อาหาร ฯลฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

3.การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ปัจจุบันจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างสูงที่สุดในประเทศอยู่ที่วันละ 354 บาท คือ ระยอง ชลบุรี และภูเก็ต รองลงมาวันละ 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็น 400 บาทตามที่เป็นข่าว (บังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 67) ในบางจังหวัดเช่น กรุงเทพฯ จะปรับขึ้นอีก 47 บาท หรือเพิ่มขึ้น 13.31% จะส่งผลกระทบทั้งค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนของนายจ้าง

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 “จากสรุปมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าจังหวัดล่าสุด ค่าจ้างขั้นตํ่าจะแบ่งตามรายภาค ภาคเหนือ 331-350 บาท, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 337-343 บาท, ภาคกลาง 335-367 บาท และภาคตะวันออก 360-372 บาท และภาคใต้ 328-340 บาท ซึ่งต้องนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีอีกครั้งก่อน”

อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้นำข้อสรุปของบอร์ดค่าจ้างเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(12 ธ.ค. 2566 )เพื่อพิจารณาอนุมัติปรับขึ้นค่าข้างขั้นต่ำทั่วประเทศอีก 2-16 บาทต่อวัน ซึ่งครม.มีมติรับทราบมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอขอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่าจะนำกลับเข้ามาในครม.ก่อนสิ้นปี 2566 นี้ 

4.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ในเดือนตุลาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.30-7.57% ต่อปี ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs

  • แบกไม่ไหวจ่อปรับราคาสินค้า

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ในแง่ผู้ประกอบการ การปรับขึ้นราคาสินค้าจะเป็นวิธีการท้าย ๆ ที่จะดำเนินการ หลังจากที่พยายามแบกรับภาระต้นทุน และปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจแล้ว ทั้งการปรับกระบวนการผลิต การลดขนาดผลิตภัณฑ์ หรือลดโปรโมชั่น เนื่องจากการปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงเวลาที่กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัว จะส่งผลทำให้ยอดขายลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้มีการปรับลดราคาสินค้าลงมาจากช่วงต้นปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทั้งการดูแลค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย การลดราคานํ้ามันทั้งในกลุ่มดีเซลและเบนซิน ประกอบกับผลกระทบจากสงครามทั้ง 2 กรณี ที่ยังไม่ขยายวง ทำให้ผลกระทบยังอยู่ในกรอบที่จำกัด

“การปรับขึ้นราคาสินค้าในปี 2567 อาจต้องดูกันเป็นรายสินค้าไป เนื่องจากมีต้นทุนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม รวมถึงในบางรายการสินค้าอาจต้องเทียบเคียงกับราคาตลาดโลกด้วยว่า สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่”

  • เปิดโผสินค้ารุ่ง-โรยปี 67

ประธาน ส.อ.ท.ยังได้ประเมินและจับตาอุตสาหกรรมในปี 2567 โดยกลุ่มที่คาดว่ายังเป็นดาวเด่น ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม BCG ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ต้องการลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องเตรียมรับมือ หรืออยู่ในกลุ่มดาวร่วง เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์สันดาปที่ไม่จำเป็นต่อรถยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า, เคมีภัณฑ์, อลูมิเนียม, ปูนซีเมนต์, ปุ๋ย และไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องดิ้นหนีเอาตัวรอดด้วยแนวทางต่าง ๆ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และบางกลุ่มยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน และบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป เป็นต้น

เปิดโผอุตฯ รุ่ง-ร่วง ปีมะโรง รถอีวีเด่น-เหล็กน่าห่วง จับตาต้นทุนพุ่งยกแผง

  •  วาระด่วนรัฐบาลต้องเร่งแก้

นายเกรียงไกร ตอกยํ้าว่า ปี 2567 มีปัญหาใหญ่หลายเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข ไล่ตั้งแต่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ SMEs ปัจจุบันหนี้สินครัวเรือนไทยมีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% หรือมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ SMEs โดยไตรมาสที่ 2/2566 จากผลสำรวจของ สสว. พบผู้ประกอบการ 59.7% มีภาระหนี้สิน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 53.4% ส่วนใหญ่กู้ยืมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนกิจการ มีภาระหนี้สินอยู่ในช่วง 5 หมื่นถึง 1 แสนบาท

นอกจากนี้ผู้ประกอบการ 55.4% ยังคงเผชิญปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และสภาพคล่องลดลง ปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 9-12% และการเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

อีกทั้งให้เร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากเวลานี้ไทยมีกฎหมายจำนวนมากที่ออกมาบังคับใช้ โดย พ.ร.บ.และพ.ร.ก. มีเกือบ 1,400 ฉบับ และกฎหมายลำดับรองอีกกว่า 1 แสนฉบับ ไม่นับรวมกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับอื่น ๆ อีก และใบอนุญาต กว่า 2,115 ฉบับ ในขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) แนะนำว่าแต่ละประเทศควรมีกฎหมายแค่ไม่เกิน 300 ฉบับ

ขณะที่จากการศึกษาของธนาคารโลก และ OECD กฎหมายที่ล้าสมัยเป็นต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ตํ่ากว่า 10-20% ของ GDP และจากการศึกษาของ กกร. พบว่าใน 1,094 กระบวนงาน จาก 16 กระทรวง 47 กรม สร้างภาระต้นทุนให้ประชาชน และภาคธุรกิจ กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยินดีให้รัฐบาลนำกฎหมายที่ได้มีการศึกษาไว้ ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็น Quick Win ของรัฐบาลที่สามารถทำได้ทันที

  • จัดการน้ำยั่งยืน-คุมเข้มสินค้านอก

นอกจากนี้เรื่องบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัย เช่น การวางแผนบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ ลดการสูญเสียน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพท่อส่งน้ำ (Water Grid) การจัดตั้งกองทุนน้ำ และพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานน้ำเหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความยั่งยืนในระยะยาวและช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนให้กับประเทศไทย 

ส่วนการลักลอบนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำจากต่างประเทศ ตอนนี้มี 20 กว่าอุตสาหกรรมออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา รวมถึงปัญหากีดกันทางการค้าที่ต้องรับมือได้ทันท่วงที  และโดยเฉพาะเรื่องใหญ่คือปัญหาคอรัปชั่น  ปัญหานี้ใหญ่โตมากถ้าแก้ไขปราบปรามได้จะช่วยแก้ปัญหาอื่นได้อีกมาก ดังนั้นทางออกของปัญหาคอรัปชั่นนั้นในปี 2567 รัฐบาลควรกำหนดให้การปราบคอรัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติทันที บางปัญหาเราควบคุมได้แต่ก็มีปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้