สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ขอบคุณวิกฤตต้มยำกุ้ง “ทำให้ธุรกิจเหล็กผมเจ๊งไปก่อน”

07 ธ.ค. 2566 | 01:38 น.

กลับมาเป็นที่จับตามองครั้งใหญ่อีกรอบ สำหรับวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย และทำท่าจะลากยาวไปถึงปี 2567 ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ติดตามและนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ขอบคุณวิกฤตต้มยำกุ้ง “ทำให้ธุรกิจเหล็กผมเจ๊งไปก่อน”

เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศ ยังต้องต่อสู้กับเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนที่เข้ามาในหลายรูปแบบ บางบริษัทเริ่มทยอยออกมาประกาศถึงภาวะการขาดทุนต่อเนื่อง เลิกจ้าง และต้องปิดตัวลงในที่สุด

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์เปิดใจ เจ้าของวลี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” อดีตกูรูคนสำคัญของวงการเหล็กในยุคที่อุตสาหกรรมเหล็กไทยบูมสุดขีด ในวัย 82 ปี ผ่านบทเรียนสำคัญมาหลายเหตุการณ์ โดยเจ้าตัวได้เปิดใจแบบหมดเปลือก และมองทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กไทยน่าห่วง

  • ทุนจีนชี้ชะตาเหล็กไทย

นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กในขณะนี้ นอกจากทุนจีนส่งเหล็กเข้ามาขายในไทยและในอาเซียนแล้ว เมื่อ 4-5 ปีก่อนก็มีทุนจีนมาเปิดโรงหลอมเหล็กในไทย เป็นโรงงานที่ล้าสมัยที่ในจีนเองไม่ผลิตแล้ว จะสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเหล็กที่ผลิตยังไม่ได้มาตรฐาน และขายออกไปในพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวนมาก และก่อนหน้านี้มีการวิ่งเต้นให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ด้วย อีกทั้งมีการขายในราคาตํ่ากว่าตลาด เช่น ถ้าราคาเหล็กเส้นอยู่ที่ 19,000 บาทต่อตัน ก็จะขายตํ่ากว่านี้มาก

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง อดีตบิ๊กวงการเหล็กไทย

“สมัยก่อน เอ็น.ที.เอส.สตีล บริษัทที่ผมเคยทำ และโรงเหล็กรายอื่น จะมีขนาดกำลังผลิตรวมราว 6 ล้านตัน รองรับการเติบโตของอาคารสูง ซึ่งไม่พอขาย พอตลาดบูมก็มีมาตรฐานโลก เราผลิตตามมาตรฐานที่กำหนด ผมผลิตตรงกับมาตรฐาน มอก. แต่วันนี้ถ้าผลิต 6 ล้านตัน ใช้แค่ 3 ล้านตัน ก็น่าเป็นห่วงอนาคตอุตสาหกรรมเหล็กไทย”

นายสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงนี้การนำเข้าเหล็กมีน้อยลง แต่มี 2 รายจากจีนที่มีกำลังผลิตรวมกันราว 2 ล้านตัน ทำลายระบบอุตสาหกรรมเหล็กไทย และรัฐบาลไทยก็อ่อนแอในการดูแลปกป้อง และมีความล่าช้าที่จะรับมือได้ทันท่วงที อีกทั้งยังต้องสู้ศึกกับเหล็กนำเข้าที่มีปริมาณมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา หรือขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของจีนในช่วงนั้น ๆ อย่าลืมว่าขนาดอุตสาหกรรมเหล็กของจีนใหญ่มากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก (ปี 2565 จีนผลิตเหล็กมากถึง 1,018 ล้านตัน)

ต้องบอกว่าผมโชคดีและต้องขอบคุณวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้ผมเจ๊งในธุรกิจเหล็กไปก่อนใคร เพราะตอนนี้ยอมรับว่าเหนื่อย นอกจากรับมือกับเหล็กจีนแล้ว ยังต้องมาเจอ 3 เหตุการณ์ใหญ่ที่เราควบคุมไม่ได้เข้ามาผสมโรงอีก ตั้งแต่วิกฤตโควิด มาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดสงครามอิสราเอล-ฮามาส มองในแง่ผู้ลงทุนก็น่าเห็นใจ รับแรงกดดันมาหลายด้าน ลำพังต่อสู้กับการบริหารต้นทุนรวมก็เหนื่อยอยู่แล้วโดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าแรง”

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ขอบคุณวิกฤตต้มยำกุ้ง “ทำให้ธุรกิจเหล็กผมเจ๊งไปก่อน”

  • หวั่นใจนโยบายการเมืองซ้ำเติม

นายสวัสดิ์มองว่า เฉพาะวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นทำให้คนทั่วโลกตกงานจำนวนมาก และเกิดคดีแย่ ๆ ขึ้นทุกแห่ง ฝรั่งเศส อิตาลี ปารีส ลอนดอน ไม่เหมือนเดิม ไม่ปลอดภัยมีคนตกงานมาก หลายแห่งด้านการท่องเที่ยวไม่ปลอดภัย เกิดการซื้อเทียม แม้แต่ในประเทศไทย นโยบายหาเสียงของนักการเมือง มีเรื่องจะแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท 50 ล้านคนก็ 500,000 ล้านบาท  เป็นภาระของประเทศ แถมยังมีเรื่องขึ้นค่าแรง และเรื่องปรับฐานเงินข้าราชการระดับปริญญาตรีเหล่านี้น่าห่วงมาก

“ผมถามว่าคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นให้ 18,000 บาทต่อเดือน ขณะที่คนทำงานมา 6 ปีเงินเดือนเพิ่ง 15,000 บาท จะทำให้ระบบค่าแรงปั่นป่วนหรือไม่ กับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ที่ยังแย่อยู่ น่าเห็นใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะอยู่อย่างไร  เวลานี้รัฐก็เก็บภาษีได้น้อยลง เพราะธุรกิจพังไปมาก”

  • อุตฯเหล็กยังเหนื่อยต่อ

สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กยังเหนื่อยต่อไป เพราะความต้องการในตลาดเวลานี้มีน้อยลง แถมยังต่อสู้กับเหล็กราคาถูกจากจีนทั้งนำเข้าและที่ผลิตอยู่ในไทย สภาพเศรษฐกิจวันนี้คนผ่อนบ้านไม่ไหว เมื่อเทคโนโลยีทันสมัย สถาบันการเงินรับรู้สถานะประวัติของลูกค้า ก็ปล่อยสินเชื่อยาก

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองทางออกของปัญหาอุตสาหกรรมเหล็ก เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปตรวจสอบโรงงานจีนในไทยด้านมาตรฐานและด้านสิ่งแวดล้อม และควรติดตามและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ว่าสินค้าที่ปลายทางต่างจังหวัดคุณภาพเป็นอย่างไรเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค

“ผมในฐานะที่เคยทำธุรกิจเหล็กมาก่อน ความเจ็บปวดจากการทำธุรกิจเหล็กยังไม่เป็นไร เพราะสินค้าทุกอย่างมีขึ้นมีลง แต่ที่ผ่านมาผมโดนเล่นงานจากค่าเงินบาท จาก 26 บาทขึ้นไปที่ 50 กว่าบาทต่อดอลลาร์ ผมต้องเปลี่ยนหนี้เป็นทุน เอาบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีล และ เอ็น.เอส.เอ็ม. ให้เจ้าหนี้ทั่วโลก จนมีการขายต่อในเวลาต่อมา ตอนนั้น ปี 2540 เพื่อนๆ แซวว่าฝ่าวิกฤตมาได้อย่างไร ผมก็บอกเพื่อนไปว่าเพราะสนิทกับน้าชาติ (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี) น้าชาติบอกเคล็ดลับในทางลับไว้เยอะ”

  • มองอนาคตเหล็กไทยนับจากนี้

อดีตกูรูวงการเหล็กประเมินทิ้งท้ายว่าอุตสาหกรรมเหล็กปี 2567 ยังต้องติดตามการขยับตัวของทุนจีน ในเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงไปดูโรงงานผลิตเหล็กของจีนที่เข้ามาตั้งในไทยว่า สถานะเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ถ้ามีปัญหา ถ้าไม่รีบแก้ไขให้ถูกทาง ก็น่าห่วงผู้บริโภค และผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนการนำเข้าเหล็กจากจีนก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในยามที่มีปริมาณนำเข้าจำนวนมาก เพียงแต่ช่วงนี้การนำเข้าน้อยลง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะน้อยลงแบบนี้ตลอดไป

อีกข้อกังวลที่มองอยู่เวลานี้พบว่าคนจีนเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ มาในรูปทำธุรกิจหลากหลาย ล้งทุเรียนของจีนก็เต็มไปหมดในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงขอทานจีนก็เริ่มเข้ามาระบาด เช่นเดียวกับคนเมียนมา 10 ล้านคนที่เข้ามาแย่งอาชีพเยอะมาก เพราะงานบางอย่างคนไทยไม่ทำ แต่แรงงานต่างด้าวทำ อย่างอาชีพประมงย่านสมุทรสาคร สมุทร- สงคราม มีแรงงานเมียนมาหนาแน่น ตอนนี้จากที่มีสถานะเคยเป็นแรงงาน เป็นลูกจ้างให้นายจ้างคนไทย ก็กลายมาเป็นเจ้าของเรือ เจ้าของร้านอาหาร และลามมาถึงย่านเยาวราชแล้วในขณะนี้