ตามรอยความสำเร็จของ "ดอลลาร์รามา" เชนร้านราคาประหยัดที่กำลังฮอตในแคนาดา

13 ส.ค. 2566 | 23:54 น.

ดอลลาร์รามา (Dollarama) เชนร้านจําหน่ายสินค้าราคาประหยัดชื่อดังและใหญ่สุดของแคนาดา ได้รับความนิยมอย่างมากจากลูกค้าทั่วประเทศ ผลประกอบการไตรมาสล่าสุดขยายตัวถึง 21% ด้วยยอดขายรวมที่แตะ 1,290 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือกว่า 33,500 ล้านบาท ความสำเร็จนี้มีที่มา

 

ท่ามกลางสภาวะ เงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคต้องมองหาสินค้าที่เน้น ราคาประหยัด มากขึ้น และนั่นก็มีผลทำให้จํานวนผู้บริโภคที่เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในห้าง ดอลลาร์รามา (Dollarama) ผู้ค้าปลีกจําหน่าย สินค้าราคาประหยัด แถวหน้าและเป็นรายใหญ่สุดของ แคนาดา เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

นายนีล รอสซี (Neil Rossy) ผู้บริหารของ Dollarama กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจํานวนธุรกรรม (Transaction) ของร้านแต่ละสาขาพบว่า เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 16% ขณะเดียวกันมูลค่ายอดซื้อสินค้าของแต่ละใบเสร็จก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสําคัญ เช่น คริสต์มาส อีสเตอร์ ทําให้สินค้าหลายอย่างภายในร้านมียอดจําหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มอาหารแห้ง ของใช้ภายในบ้าน และของใช้ตกแต่งตามเทศกาล เป็นต้น

ผู้บริโภคต้องการสินค้าราคาประหยัด ส่งผลให้ธุรกิจของ "ดอลลาร์รามา" ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

จากความนิยมห้างค้าปลีกราคาประหยัดที่กําลังได้เปรียบในทางธุรกิจยุคนี้ สะท้อนได้จากเมื่อช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (Q1/2566) ห้างค้าปลีก Dollarama ได้มีการเปิดสาขาเพิ่มอีก 21 สาขา ทําให้ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 1,507 แห่งทั่วประเทศแคนาดา และทางบริษัทก็มีแผนจะเปิดให้ได้ถึง 2,000 สาขาภายในปี พ.ศ. 2574 นับว่าเป็นการขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับร้านปลีกรายอื่นๆ

โมเดลธุรกิจสู่ความสำเร็จ

โมเดลทางธุรกิจของ Dollarama นับว่ามีส่วนสําคัญที่ส่งให้กิจการประสบความสําเร็จอย่างสูง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตรจารย์เคน หว่อง ผู้เชี่ยวชาญการตลาดจาก Smith School of Business แห่งมหาวิทยาลัยควีน ในรัฐออนทาริโอของแคนาดา ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคชาวแคนาดาเชื่อมั่นว่าสินค้าที่จําหน่ายในร้าน Dollarama มีราคาถูกกว่าร้านค้าทั่วไป จึงพากันไปซื้อสินค้าที่ร้านนี้ เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ทางร้านจึงกลายเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งประเทศปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งแม้กระทั่งสินค้าภายในร้าน Dollarama ก็ได้มีการปรับราคาขึ้นเช่นกัน

นอกจากการขยายสาขาแล้ว ห้าง Dollarama วางแผนจะกระตุ้นยอดขายมากขึ้นโดยการขยายไลน์สินค้าไปสู่หมวดอาหารให้มากขึ้น แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ของสินค้าราคาประหยัดอยู่ โดยทางห้างมีกลยุทธ์ในการคัดสรรสินค้าที่คํานวณแล้วว่ามีกําไรต่อหน่วยสูง และสูญเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เช่น ไม่จําหน่ายสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย ไม่มีสินค้าแช่แข็ง แช่เย็น และไม่มีสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดการที่สูง

  ดอลลาร์รามา ยังมีกลยุทธ์การตั้งราคาและจัดซื้อสินค้าแตกต่างจากห้างค้าปลีกรายอื่น

นอกจากนี้ ยังมี กลยุทธ์การตั้งราคาและจัดซื้อสินค้าแตกต่างจากห้างค้าปลีกรายอื่น โดยจะเริ่มจากการตั้งราคาสินค้าขายไว้ก่อน แล้วคํานวณย้อนไปหาต้นทุน เพื่อมองหาแหล่งสินค้าที่ทํากําไรมากสุด ในขณะที่ห้างค้าปลีกรายอื่นๆ จะใช้ราคาทุนเป็นจุดที่มากําหนดราคาขาย จึงทําให้ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่ เข้ามากระทบการค้าเป็นระยะๆ

แม้ Dollarama จะมีอัตราเติบโตเพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาจุดแข็งของกิจการและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับห้างจําหน่ายสินค้าประหยัดรายอื่น ๆ อย่างเช่น ดอลลาร์ ทรี (Dollar Tree) ซึ่งเป็นเชนที่มาจากสหรัฐอเมริกา มี 227 สาขา และห้างมินิโซ (Miniso) ของจีนที่กําลังขยายตัวในอเมริกาเหนือและยุโรปอีกหลายแห่ง

ปัจจุบันมีร้านดอลลาร์รามา 1,507 สาขาในแคนาดา บริษัทมีแผนจะเปิดให้ได้ถึง 2,000 สาขาภายในปี พ.ศ. 2574

จากสภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความรอบคอบในการเลือกจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในการนี้ ธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆ ต้องมีความตระหนัก และให้ความสนใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เพื่อมองหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ และคอยหากลยุทธ์ที่พร้อมจะผลักดันให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการนําเสนอสินค้าและบริการได้ตรงใจผู้บริโภคที่สุด เพื่อเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และโอกาสสร้างรายได้ให้กับธุรกิจต่อไป

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์