โต้แย้งมาตรการบังคับที่เกี่ยวพันกับหนี้ภาษีฟ้องคดีที่ศาลใด?

21 ต.ค. 2566 | 23:30 น.

โต้แย้งมาตรการบังคับที่เกี่ยวพันกับหนี้ภาษีฟ้องคดีที่ศาลใด? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3933

เป็นที่ชัดเจนว่า คดีที่มีการฟ้องโต้แย้งเกี่ยวกับการประเมินภาษีอากรว่าถูกต้อง หรือ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากร เพราะแม้จะมีลักษณะเป็นคดีปกครอง แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้เรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชำนัญพิเศษต่าง ๆ ที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง 

วันนี้ ... นายปกครองมีประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติม ซึ่งเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการประเมินและการชำระภาษีอากรดังกล่าว โดยเป็นกรณีที่มีการค้างชำระภาษีอากร และเจ้าหน้าที่ได้ยึดทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่อ้างว่าซื้อต่อมาจากผู้ค้างชำระภาษีอากร

 

เช่นนี้ ... จะขอชวนคิดกันต่อว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินอันเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ภาษีอากร ซึ่งมิใช่การโต้แย้งในเรื่องของการประเมินภาษีอากรว่าถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งมิใช่ทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรโดยตรง จะยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลภาษีอากรหรือไม่? ไปติดตามกันครับ ...

ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อมาจาก นาย ก. (ผู้ค้างชำระภาษีอากร) ซึ่งสำนักงานสรรพากรภาคในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรของนาย ก. ได้ดำเนินการยึดรถยนต์คันดังกล่าว 

 

ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือร้องคัดค้าน แต่สำนักงานสรรพากรภาคได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยส่งไปยังสถานที่ทำงานที่ผู้ฟ้องคดีเคยรับราชการก่อนเกษียณ ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

แต่ต่อมาได้ไปติดตามผลการพิจารณาที่สำนักงานสรรพากรภาคด้วยตนเอง ทำให้ทราบว่า มีการนำส่งคำสั่งยกคำร้องแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องอธิบดีกรมสรรพากรและสรรพากรภาคต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนการยึดรถยนต์ของตน อันมีประเด็นปัญหาว่า ข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือศาลภาษีอากร ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่งบัญญัติให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากร รวมถึงสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร โดยประมวลรัษฎากรให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึด หรือ อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรได้ 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติเกี่ยวด้วยสิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกยึด ตลอดจนการถอนการยึดทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2545 (ใช้บังคับในขณะยึดทรัพย์สินพิพาทออกขายทอดตลาด) เห็นว่า ทั้งกรณีการโต้แย้งการยึดทรัพย์สิน โดยการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด และการถอนการยึดทรัพย์สิน ล้วนเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ภาษีอากรของรัฐ 

ประกอบกับการที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า สำนักงานสรรพากรภาค ได้ยึดรถยนต์พิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น มีประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยว่า รถยนต์ที่ถูกยึดเป็นทรัพย์สินของนาย ก. หรือ ของผู้ฟ้องคดี อันเป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับหนี้ภาษีอากรค้างชำระของ นาย ก. ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีอากร  

คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 158/2566) 

สรุปได้ว่า ... นอกจากข้อพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีอากรของผู้ชำระภาษีอากร รวมถึงขั้นตอนและการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการประเมินภาษีอากรดังกล่าว ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรแล้ว ยังรวมถึงข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการยึด หรือ อายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระภาษีอากร ตลอดจนกรณีบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระภาษีอากรดังกล่าว 

ดังเช่นในคดีนี้ที่เป็นกรณีซื้อทรัพย์ต่อมา และถูกคำสั่งให้ยึด หรือ อายัดทรัพย์สินอันเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ที่มิใช่ผู้ค้างชำระภาษีอากรโดยตรง ซึ่งหากบุคคลภายนอกประสงค์โต้แย้งกรณีดังกล่าว อันถือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร จึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีที่ศาลภาษีอากรอันเป็นศาลชำนัญพิเศษในเรื่องภาษีอากร 

                            โต้แย้งมาตรการบังคับที่เกี่ยวพันกับหนี้ภาษีฟ้องคดีที่ศาลใด?

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะได้มีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการยึดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2564 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอก และผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกยึดให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มิได้กำหนดเกี่ยวกับอำนาจศาลในการฟ้องคดี ในกรณีที่บุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวพันกับทรัพย์สินที่ถูกยึด ประสงค์จะโต้แย้งการยึดทรัพย์สินตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ไว้แต่อย่างใด  

ทั้งนี้ คำสั่งของศาลปกครองข้างต้นมีความสอดคล้องกับคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 10/2555 และที่ 57/2565 รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องมาตรการบังคับทางปกครอง ซึ่งมุ่งประสงค์ให้กรณีข้อพิพาท หรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เสนอโดยบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกยึด ได้รับการพิจารณา หรือ ชำระความกันในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา 

ในคดีเกี่ยวกับคำสั่งที่มีการบังคับทางปกครองนั้น ในคดีพิพาทข้างต้น ก็คือ ศาลภาษีอากร ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับคำสั่งที่มีการบังคับทางปกครอง (คำสั่งให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากร) อันเกี่ยวด้วยหนี้ภาษีอากรของผู้ค้างชำระภาษีอากรนั่นเองครับ 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 หรือศึกษาการฟ้องคดีทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ www.admincourt.go.th)