เจ้าหน้าที่ไม่ถูกลงโทษทางวินัย ประชาชนเป็นผู้เสียหายหรือไม่?

07 ก.ค. 2566 | 23:30 น.

เจ้าหน้าที่ไม่ถูกลงโทษทางวินัย ประชาชนเป็นผู้เสียหายหรือไม่? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3903

“ส่วยรถบรรทุก” ประเด็นร้อนแรงที่กำลังมีการพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะมีการนำเสนอเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่า ... เรื่องนี้มีการดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังหรือไม่ และในฐานะประชาชนพลเมืองดีจะสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ 

ไม่ว่าจะเป็นกรณีส่วยรถบรรทุกเช่นว่า รวมทั้ง ส่วยการพนัน หรือกรณีอื่น ๆ อันเป็นเหตุให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นายปกครองได้ค้นหาคำตอบที่หลายคนอาจสงสัย และนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้แล้วครับ ...

มูลเหตุของคดีมีว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นประชาชนที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ได้ร้องเรียนข้าราชการตำรวจนายหนึ่งว่า ในขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการลักลอบเล่นการพนัน ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ทำการจับกุมผู้กระทำผิด แต่ได้รับแจ้งตอบกลับมาว่ารอง ผบช. คนดังกล่าว ไม่มีพฤติการณ์ตามที่ถูกร้องเรียน ! 

ผู้ฟ้องคดีจึงพยายามแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง เพื่อเอาผิดรอง ผบช. กระทั่งได้หลักฐานเป็นวิดีโอบันทึกภาพการลักลอบเล่นการพนัน ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่รอง ผบช. ปฏิบัติหน้าที่เพียง 20 เมตร

 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่มีกลุ่มคนจำนวนมากอยู่รวมกันย่อมเป็นที่ผิดสังเกต รอง ผบช. หรือ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันน่าจะต้องเข้าตรวจสอบ แต่รอง ผบช.กลับไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้มีการลักลอบเล่นการพนันเกิดขึ้น

ผู้ฟ้องคดีได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หรือ จัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการ หรือ ไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยเหลือบุคคลมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต พร้อมทั้งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจนเป็นข่าวใหญ่โต ...แต่ก็มิได้มีการดำเนินการใด ๆ 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า กรณีที่มีข่าวปรากฏต่อสื่อมวลชน ถือว่ามีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ แต่ผู้บังคับบัญชากลับละเลยไม่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

                          เจ้าหน้าที่ไม่ถูกลงโทษทางวินัย ประชาชนเป็นผู้เสียหายหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ... การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในเรื่องที่มีการร้องเรียนว่า ข้าราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาปล่อยปละละเลยให้มีการเล่นการพนัน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้นั้น  

เห็นว่า การดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่กระทำความผิด หรือ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งการที่ผู้บังคับบัญชาจะแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่ ก็ไม่มีผลเป็นการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อน หรือ เสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือ เสียหาย หรือ อาจจะเดือดร้อน หรือ เสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการที่ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง 

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (ใช้บังคับขณะนั้น) จะบัญญัติว่า เมื่อมีการกล่าวหา หรือ มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือพิจารณาในเบื้องต้นว่า กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ 

ศาลเห็นว่า การสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการทางวินัย ที่เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา ในการที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาดำเนินการกับผู้ใต้บังคับบัญชา ตามที่เห็นว่าเหมาะสม และตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเป็นกรณีที่ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปสั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ 

คำขอของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้ จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ. 157/2563)

คดีดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายโดยตรงในกรณีตามที่ฟ้องนั้น และคำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับต้องเป็นการเยียวยาความเดือดร้อน หรือ เสียหายของผู้ฟ้องคดี และศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งกรณีการดำเนินการทางวินัยถือเป็นมาตรการที่ทางราชการ ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมดูแลความประพฤติของข้าราชการ เพื่อให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ อันเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาโดยแท้ 

และการจะดำเนินการทางวินัยหรือไม่ ไม่ได้มีผลเป็นการแก้ไขความเดือดร้อน หรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด ประชาชนจึงไม่ถือเป็นผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลบังคับผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการทางวินัย หรือ ลงโทษทางวินัยอย่างไรแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากกฎหมายมิได้ให้อำนาจศาลปกครองในการกำหนดคำบังคับดังกล่าวไว้ 

อย่างไรก็ตาม กรณีข้าราชการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากจะมีโทษทางอาญาและทางแพ่งแล้ว ข้าราชการยังมีโทษเฉพาะเพิ่มเติมอีกต่างหาก ซึ่งก็คือ โทษทางวินัยเช่นว่า 

ฉะนั้น หากข้าราชการกระทำผิดทางอาญาหรือทางแพ่ง ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้ข้าราชการผู้นั้นรับโทษในทางอาญาหรือทางแพ่งได้

แต่ในส่วนการดำเนินการทางวินัย อันเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการประเภทนั้น ๆ ซึ่งประชาชนพลเมืองดีสามารถที่จะร้องเรียนผู้บังคับบัญชา เพื่อให้มีการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ได้ เพียงแต่ไม่อาจถือเป็นผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ได้ ... นั่นเองครับ 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)