ผิดสัญญาซื้อขายเรือไฟเบอร์เก็บวัชพืชในน้ำอยู่ในอำนาจของศาลใด?

19 มี.ค. 2566 | 00:30 น.

ผิดสัญญาซื้อขายเรือไฟเบอร์เก็บวัชพืชในน้ำอยู่ในอำนาจของศาลใด? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3870

“แจวมาแจวจ้ำจึก น้ำนิ่งไหลลึกนึกถึงคนแจว ... 

แจวเรือไปทำสัญญา ซื้อขายเรือเช่นว่า เป็นสัญญาอะไร 

สัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง

ขอชวนเพื่อนผอง มาลองวินิจฉัย” 

แหม่ ! นายปกครองตั้งใจจะมาเล่าคดี แต่กลอนดันพาไปเสียก่อน

... ดูจากเนื้อหาของกลอน ท่านผู้อ่านก็คงพอจะเดาได้ไม่ยากว่า วันนี้จะมาเล่าคดีอะไร ต้องหนีไม่พ้นเรื่องของสัญญาซื้อขายเรือเป็นแน่ 

แต่ไม่ใช่เรือแจว เพราะเป็นเรื่องการซื้อขายเรือไฟเบอร์ !  พอพูดถึงเรือแจว ... ก็พาให้หวนนึกถึงสมัยก่อน ที่ผู้คนมักจะพายเรือสัญจรไปตามแม่น้ำลำคลองที่มีความใสสะอาด

... บริเวณใกล้แม่น้ำจึงเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญ ด้วยสายน้ำมีคุณประโยชน์ในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่เราควรต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรน้ำให้มีความใสสะอาดและทรงคุณค่าตามวิถีแห่งสายน้ำให้ถึงชนรุ่นหลังต่อไปครับ 

สำหรับวันนี้ ... นายปกครองขออาสาพาทุกท่านมาแจวเรือลัดเลาะริมคลองที่ไม่เพียงแต่พาชมบรรยากาศโดยรอบเท่านั้น แต่จะชวนทุกท่านนั่งเรือไฟเบอร์ยุคใหม่ไปทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์

อย่างการจัดเก็บวัชพืช ซึ่งเรือไฟเบอร์ที่ว่านี้ผลิตมาจากวัสดุที่เป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ทำให้เรือมีความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา จึงมักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน รวมถึงการจัดเก็บวัชพืชของหน่วยงานของรัฐ อันเป็นที่มาของประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือไฟเบอร์ดังกล่าวที่นายปกครองจะพาพายเรือไปหาคำตอบกันครับ !

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... เทศบาลได้ทำสัญญาซื้อขายเรือไฟเบอร์สำหรับจัดเก็บวัชพืชจำนวน 1 ลำ จากร้านของนายมาก โดยมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเรือไว้ เช่น ขนาดเรือ จำนวนที่นั่ง การติดตั้งพวงมาลัยประกอบเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน รวมถึงกำลังแรงม้า เป็นเงินจำนวน 480,000 บาท

โดยมีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบเรือ ซึ่งนายมากก็ได้มอบเงินสดจำนวน 24,000 บาท ให้ไว้แก่เทศบาล เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ว่าจะต้องจัดส่งเรือตามกำหนดเวลาอย่างแน่นอน !   

ครั้นเมื่อถึงวันนัดหมาย นายมากไม่สามารถส่งมอบเรือไฟเบอร์ให้แก่เทศบาลได้ แถมยังเงียบหาย โทรไม่ได้ ไลน์ไม่ตอบ ส่งหนังสือไปก็ไม่มีใครมาร่วมประชุมหารือ จนไม่อาจรู้ได้ว่าติดขัดปัญหาอะไร

สุดท้ายเทศบาลจึงมีหนังสือถึงนายมากเพื่อบอกเลิกสัญญาพร้อมสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับค่าเสียหายต่าง ๆ และริบหลักประกันตามสัญญา รวมถึงให้นายมากชดใช้ค่าปรับด้วย เมื่อนายมากยังเพิกเฉย เทศบาลจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้นายมาก (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชำระเงินค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยให้แก่เทศบาล 

แต่ก่อนที่จะไปพิจารณาถึงเรื่องความรับผิดตามสัญญา มีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า สัญญาซื้อขายเรือไฟเบอร์ที่กำหนดคุณลักษณะเฉพาะสำหรับจัดเก็บวัชพืชระหว่างเทศบาลกับนายมาก ถือเป็นสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง หรือเป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม (ศาลแพ่ง) 

นายปกครองขอพาลูกเรือแวะมาดูความหมายหรือลักษณะของสัญญาทางปกครองกันก่อน ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของสัญญาทางปกครอง ว่าหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ   

ต่อมาที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด (ครั้งที่ 6/2544 วันที่ 10 ตุลาคม 2544) ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า หมายถึง สัญญาที่หน่วยงานทางปกครอง หรือ บุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ  

นอกจากนี้ มติที่ประชุมใหญ่ฯ (ครั้งที่ 6/2547 วันที่ 9 มิถุนายน 2547) ยังได้ให้ความหมายเพิ่มเติมอีกว่า รวมถึงสัญญาเพื่อจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผลอีกด้วย 

                   ผิดสัญญาซื้อขายเรือไฟเบอร์เก็บวัชพืชในน้ำอยู่ในอำนาจของศาลใด?

ในส่วนคดีพิพาทนี้ ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพียงให้นายมาก ส่งมอบเรือไฟเบอร์และเทศบาลตกลงจะชำระราคาให้เป็นการตอบแทนเท่านั้น อันถือเป็นสัญญาทางแพ่งทั่วไป โดยมิได้มีลักษณะของสัญญาทางปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เทศบาลไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาที่มีเทศบาลเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำบริการสาธารณะเกี่ยวกับการบำรุงรักษาทางน้ำ รวมถึงกำจัด หรือ จัดเก็บวัชพืชในน้ำ และมีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคือ นายมากที่เป็นร้านจำหน่ายเรือไฟเบอร์ 

โดยได้ตกลงซื้อขายเรือไฟเบอร์สำหรับจัดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 200 เซนติเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 600 เซนติเมตร ท้องเรือไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีที่นั่งคนขับ 1 ที่นั่ง ติดตั้งพวงมาลัยประกอบเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่น้อยกว่า 40 แรงม้า เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะไม่น้อยกว่า 496 ซีซี ซึ่งเป็นการจัดซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ (จัดเก็บวัชพืช) อันถือเป็นสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง 

ศาลปกครองสูงสุดจึงกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา (เทียบเคียงจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 977/2565) 

ถึงตรงนี้นายปกครองก็พาทุกท่านพายเรือมาถึงที่หมายแล้ว ขอกล่าวโดยสรุปว่า … การจัดหาหรือจัดซื้อเรือไฟเบอร์ที่กำหนดคุณลักษณะเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บวัชพืชในแม่น้ำลำคลอง (รักษาความสะอาดและระบายน้ำ) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล อันเป็นสัญญาทางปกครอง  

นอกจากนี้ เคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 48/2547 ที่วินิจฉัยว่า สัญญาว่าจ้างเพื่อจัดหาและติดตั้งเครื่องช่วยเดินอากาศ ILS ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการควบคุมการบินเวลาสภาพอากาศไม่ปกติ อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้รับจ้างจะต้องจัดหามาโดยเฉพาะ ไม่สามารถจัดหาได้ทั่วไปในท้องตลาด

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดระบบการจราจรและการขนส่งทางอากาศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองเช่นกันครับ ... (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)