เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (10)

09 ก.พ. 2566 | 02:15 น.

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับ ความมั่นคงด้านอาหาร (10) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิ ฉบับ 3860

จีนมีนวัตกรรมด้านการเกษตรอะไรให้เราสามารถเรียนลัดอีกบ้าง ไปติดตามกันครับ ... 

ระบบการผลิตเกษตรแนวตั้งอัตโนมัติ (Automatic Vertical Agricultural Production System) จากศูนย์ชีวภาพฝูเจี้ยน (ที่มีโอกาสผมจะนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน) และหุ่นยนต์เก็บสตรอเบอร์รีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน ซึ่งไม่นานให้หลัง เราก็เห็นหุ่นยนต์หน้าตาคล้ายรถถังขนาดย่อมที่นำมาใช้ในการเก็บสตรอเบอรี่ในเรือนกระจกในเจี้ยนเต๋อ (Jiande) เมืองทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง  

 

นอกจากนี้ จีนยังผลิตหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วที่เชื่อมต่อด้วยระบบการสื่อสารในลักษณะ “ฝูงหุ่นยนต์” (Swarm Robotics) ไปใช้ในการทำงานในพื้นที่เฉพาะที่มีขนาดใหญ่ เช่น การพรวนดิน และการสำรวจคุณภาพดินและผลผลิต

มองออกไปในอนาคต เกษตรกรจีนยังอาจใช้หุ่นยนต์จิ๋วดังกล่าว เพื่อการให้น้ำและปุ๋ย และ พ่นยาแก่พืชแบบเฉพาะจุดในระดับที่เหมาะสม แถมยังสามารถควบคุมได้จากระยะไกล คล้ายที่เราบังคับของเล่นและโดรนในปัจจุบัน   

หุ่นยนต์เหล่านี้และเครื่องมือทางการเกษตรยุคใหม่ ยังอาจถูกเชื่อมโยงระหว่างกันแบบ IoTs ซึ่งจะทำให้การเกษตรยุคใหม่ประหยัดและสะดวกขึ้นอีกมาก

นวัตกรรมหุ่นยนต์อีกส่วนหนึ่งที่ถูกนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจก็ได้แก่ หุ่นยนต์ตรวจสอบใต้น้ำ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ และหุ่นยนต์ฉีดวัคซีนปลา ซึ่งส่วนหลังเป็นผลงานของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) 

หุ่นยนต์ฉีดวัคซีนปลามีเทคโนโลยีการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Deep Learning) และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพสูงในเวลาต่อมา ปัจจุบัน นวัตกรรมนี้สามารถฉีดปลาได้ 1,200 ตัวต่อชั่วโมง และมีอัตราความสำเร็จกว่า 99% และอัตราการรอดชีวิตหลังระยะเวลา 1 เดือนพุ่งขึ้นแตะ 90% เลยทีเดียว 

โครงการฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 3 ล้านตัวของธุรกิจเครือซีพี ที่ลงทุนในเขตผิงกู่ กรุงปักกิ่ง ที่มีผลผลิตไข่ไก่ออกมาถึงวันละ 200 ล้านฟอง ก็เป็นต้นแบบที่ดีของการใช้หุ่นยนต์ การเกษตรแบบบีซีจีที่ใช้ทุกส่วนของผลผลิตเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม และนวัตกรรมโมเดลความร่วมมือทางธุรกิจ ที่รัฐบาลจีนสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินโครงการในอีกหลายพื้นที่ในเวลาต่อมา  

ตัวอย่างการพัฒนาหุ่นยนต์ด้านการเกษตรที่พร้อมสรรพมากขึ้นดังกล่าว จึงมิเพียงเพื่อแบ่งเบาภาระ ลดความน่าเบื่อ และเพิ่มประสิทธิภาพของงานด้านการเพาะปลูก รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเกษตรกรเท่านั้น แต่จีนยังนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในด้านการประมงและปศุสัตว์ด้วยเช่นกัน

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (10)

กระแสเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในจีน จึงไม่แปลกใจที่ “แทร็กติกา” (Tractica) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกเคยประเมินไว้ว่า ตลาดหุ่นยนต์ด้านการเกษตรของโลกในปี 2024 จะมีมูลค่าแตะ 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนจะก้าวขึ้นเป็นแหล่งผลิตและตลาดหุ่นยนต์ด้านการเกษตร ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคต 

ความสำเร็จในการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ของจีนยังเป็นเพียงระยะต้น แต่ก็ช่วยให้อุปทานและลอจิสติกส์สินค้าเกษตรและอาหารของจีนมีอย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลนหมู เห็ด เป็ด ไก่สำหรับไหว้เจ้า และฉลองเทศกาลปีใหม่จีนกับครอบครัว และคนที่รักอย่างเต็ม แม้ว่าต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บและพายุหิมะที่มาเยือนแดนมังกรในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน