เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (7)

18 ม.ค. 2566 | 07:03 น.

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (7) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3854

จีนพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่อย่างหลากหลาย และนำไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศ ดิน น้ำ และอื่นๆ ที่เหมาะสมแล้ว จีนยังนำเอาความริเริ่มสร้างสรรค์ และนวัตกรรมมาต่อยอดในด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นรูปธรรมในอีกหลายส่วน ...

แต่ที่เด่นชัดและกล้าหาญชาญชัยมากที่สุดในมุมมองของผม ก็เห็นจะได้แก่ การปลดล็อกการถ่ายโอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรที่เดิมจำกัดอยู่เฉพาะ “ทายาท” เป็นการเปิดกว้างสู่ “บุคคลภายนอก” ได้

นโยบายดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญของ “การปฏิรูป” ด้านการเกษตร และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายด้านได้อย่างแท้จริง 

ภายหลังความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปี นับแต่เปิดประเทศ เกษตรกรจำนวน 200-300 ล้านคน ก็โยกย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการในเวลาต่อมา ทำให้ภาคการเกษตรของจีน ประสบปัญหาการขาดแคลนเกษตรกร และมีแนวโน้มอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น 

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพในเชิงลึกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอเรียนว่า เมื่อไม่กี่ปีก่อน เกษตรกรจีนที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี มีสัดส่วนไม่ถึง 20% ของจำนวนเกษตรกรโดยรวมของจีน และกว่า 80% ของเกษตรกรของจีน ก็จบการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในด้านทักษะ และความรู้ในการนำเอาเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ และระบบตลาดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ 

ยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรจีนในอดีตก็มีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยไม่ถึง 4.5 ไร่ต่อคน ซึ่งเล็กมากเมื่อเทียบกับของสหรัฐฯ และแคนาดาที่ 465 ไร่ และ 880 ไร่ ตามลำดับ ทำให้มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ที่ต่ำเมื่อนำเอาเครื่องจักรเครื่องมือด้านการเกษตรมาใช้ประโยชน์  

โดยที่จีนพยายามใช้ทุกอณูของพื้นที่ที่มีอยู่เพื่อการเกษตร อาทิ การเปลี่ยนพื้นที่ “ดินเค็ม” มาใช้ในการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ในน้ำกร่อย ซึ่งเมื่อนำเอาพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีดังกล่าวไปขยายผลในต่างประเทศ ก็คาดว่าจะช่วยให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวไปเลี้ยงคนได้ถึง 200 ล้านคน 

การปลดล็อกดังกล่าวทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นที่เพาะปลูกจาก “เกษตรแปลงเล็ก” ไปสู่ “เกษตรแปลงใหญ่” เกษตรกรรมของจีนนำเอาเครื่องจักรเครื่องมือขนาดใหญ่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งช่วยทดแทนข้อจำกัดด้านเกษตรกร

การใช้เครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรมาใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ช่วยเพิ่มผลิตภาพด้านการเกษตรของจีน ขณะเดียวกัน เกษตรกรจีนก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากหลายทาง ส่วนหนึ่งจากการ “ขายสิทธิ์” ดังกล่าว และอีกส่วนหนึ่งจากการรับจ้างธุรกิจเกษตรในการช่วยดูแลน้ำ ดิน และ ผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งทำให้เกษตรกรจีนมีรายได้โดยรวมมากขึ้น และธุรกิจการเกษตรของจีนก็เติบใหญ่อย่างมั่นคง 

สิ่งนี้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ต้องการผลักดันนโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยแก่พื้นที่ชนบท เพื่อหวังเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างความมั่งคั่งให้คนในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้ต่ำ ได้รับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและก้าวขึ้นเป็น “คนชั้นกลาง” ในอนาคต

จีนยังอาศัยวิธี “เรียนลัดและต่อยอด” ด้านการออกแบบและพัฒนาการผลิตเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตร อาทิ เครื่องมือเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผักตระกูลกะหล่ำ แตง และถั่วเขียว   

เครื่องจักรเครื่องมือเหล่านี้ถูกผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรในจีนคึกคักเป็นอย่างมาก ในช่วงหลายปีหลังนี้ 

อย่างไรก็ดี จีนก็ต้องเผชิญกับหลายความท้าทายเช่นกัน โดยในระยะแรก การใช้เครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง บางส่วนไม่อาจพัฒนาได้ทันต่อความต้องการในเชิงปริมาณและคุณภาพ   

ยกตัวอย่างเช่น ข้าว “ซุปเปอร์ไร้ซ์” ที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่ ซึ่งแม้จะมีผลิตภาพ 15-20% สูงกว่าข้าวพันธุ์ดั้งเดิม แต่ต้นข้าวพันธุ์ผสมใหม่นี้ก็สูงถึงราว 2 เมตร ทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่คาดไม่ถึง เพราะจีนไม่มีเครื่องเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เหมาะสมรองรับ

ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวข้าวดังกล่าวต้องใช้แรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย และความยุ่งยากในการเก็บเกี่ยวข้าวที่เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นประเด็นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปวดหัวกันอยู่นาน 

ขณะเดียวกัน เกษตรกรจีนส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเป็นกิจการครอบครัว และมีเงินทุนและความพร้อมด้านทรัพยากรที่จำกัด กอปรกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่ลักษณะเฉพาะ อาทิ ที่ราบสูง และพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดเล็ก และกระจัดกระจาย ก็ทำให้เครื่องจักรเครื่องมือขนาดใหญ่ ไม่อาจนำไปใช้และสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมได้

แต่จีนก็ไม่ย่อท้อ โดยในกรณีที่ไม่สามารถพัฒนาเป็นแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ได้ จีนก็กำหนดแปลงเพาะปลูกมาตรฐานควบคู่ไปกับการออกแบบเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตรขนาดเล็กที่ทันสมัย เครื่องเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรยุคใหม่ ก็เชื่อมต่อสัญญาณกับดาวเทียมเป๋ยโต่ว สามารถทำงานอัตโนมัติตามที่ตั้งโปรกแกรมไว้ ทำให้ประหยัดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายไปได้มาก  

                                   เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (7)

ขณะเดียวกัน หากพื้นที่ใดอำนวย จีนก็ปรับปรุงแปลงเพาะปลูกให้สอดรับกับการใช้เครื่องจักรเครื่องมือขนาดใหญ่ นอกเหนือจากการรวมพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กให้เป็นขนาดใหญ่แล้ว จีนยังพยายามทำให้แปลงเพาะปลูกเป็นพื้นที่ราบ และมีความยาวมากขึ้น 

รวมทั้งยังกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนสิทธิ์ ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินระหว่างกัน เพื่อให้พื้นที่เพาะปลูกพืชประเภทเดียวกันอยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นแปลงใหญ่ ซึ่งช่วยให้สามารถทำการเกษตรแบบใหม่ด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น 

ขณะเดียวกัน เพื่อต่อสู้กับปัญหาเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น และมีจำนวนจำกัด จีนก็เร่งพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและเกษตรกรมืออาชีพระดับสูง และกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาด้านการเกษตรของรัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านการเกษตรอัจฉริยะเพื่อรองรับความต้องการและสนับสนุนการทำเกษตรสมัยใหม่ 

จีนสนับสนุนส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรอย่างจริงจัง และพยายามลดข้อจำกัดในการนำเอาเทคโนโลยี อาทิ ระบบสารสนเทศ และบิ๊กดาต้า และเครื่องทุ่นแรงด้านการเกษตรใหม่ๆ อาทิ โดรน มาใช้ประโยชน์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดภาระงานและเพิ่มผลิตภาพไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการส่งเสริมการพัฒนาบริการเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรเชิงพาณิชย์ และผู้ประกอบการเกษตรแปลงใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ ที่ดิน และ บริการทางการเงิน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเกษตรสมัยใหม่ อาทิ สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อการจัดหาเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรขนาดใหญ่ เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรของจีนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

คราวหน้าเราไปคุยกันเรื่องการนำหุ่นยนต์ มาใช้ในด้านการเกษตรกันครับ ...