เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (5)

02 ม.ค. 2566 | 01:30 น.

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (5) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรฐกิจ ฉบับ 3849

 

นอกจาก A และ B แล้ว วันนี้ผมจะพาไปรู้จัก C และ D และไปดูกันว่าจีนพยายามทำอะไรเพื่อสลายขั้วอำนาจของเจ้าพ่อแห่งวงการเกษตรและอาหารโลก ...

 

คาร์กิลล์ (Cargill) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1865 หรือ เมื่อกว่า 150 ปีโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในแถบมิดเวสต์ของสหรัฐฯ กิจการข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯ ใช้ฐานในสวิตเซอร์แลนด์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดภาระทางด้านภาษี 


ปัจจุบัน กิจการมีพนักงาน 160,000 คน ที่ดูแลผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภครวม 70 ประเทศ มียอดขายราว 115,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำกำไรสุทธิเกือบ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี


นอกจากจะเป็นกิจการเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่เป็นผู้นำด้านการค้า และการแปรรูปสินค้าสำคัญด้านการเกษตรของโลกอย่างปุ๋ยและเนื้อสัตว์แล้ว คาร์กิลล์ยังทำธุรกิจเกี่ยวกับแร่โลหะ และการขนส่งอีกด้วย คาร์กิลล์ยังมีกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก 


ในเชิงการตลาด บริษัทมีลูกค้ารายใหญ่หลายราย อาทิ การผลิตและป้อนเนื้อไก่ราวครึ่งหนึ่งของแม็กโดนัลด์ในยุโรป และขายไขมันให้ยูนิลิเวอร์ แม้กระทั่งตอนที่สหรัฐฯ จะเข้าไปปรับโฉมอุตสาหกรรมการเกษตรในอิรัก รัฐบาลก็ยังเชิญอดีตผู้บริหารระดับสูงของคาร์กิลล์เป็นหัวหน้าทีม


ในช่วงหลายปีหลังนี้ คาร์กิลล์ยังได้ยกระดับห่วงโซ่อาหารสู่สารเติมแต่ง และโซลูชั่นอาหารในอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่ในจีน คาร์กิลล์ยังได้จับมือกับ มอนซานโต (Monsanto) จำหน่ายสินค้าเกษตรในตลาดจีน และฝึกอบรมเกษตรกรจีนกว่า 2 ล้านคน เพื่อเรียนรู้การทำการเกษตรแบบอเมริกัน


หลุยส์ เดรย์ฟัส (Luise Dreyfus Company) ซึ่งมีตัวย่อว่า “LDC” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1851 นับเป็นธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ บริษัทมีสำนักงานใหญ่ในปารีส และ ร็อตเตอร์แดม แต่การดำเนินธุรกิจซื้อขายสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ โดยปัจจุบัน บริษัทว่าจ้างพนักงานทั่วโลกรวม 17,000 คน และมีรายได้ประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเครือข่าย 180 จุดในกว่า 100 ประเทศ


บริษัทมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการผลิต การค้า และการขนส่งธัญพืช ฝ้าย เมล็ดพืชน้ำมัน ข้าว กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำตาล และพลังงานทั่วโลก รวมทั้งยังขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูป อาทิ สินค้ายา เครื่องประทินผิว สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป และโปรตีนที่ทำจากพืช บนพื้นฐานของความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และความรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีหลัง บริษัทหันไปเน้นเรื่องการบริการจัดการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตร 


ประการสำคัญ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มี “สินค้าเกษตร” เป็นเครื่องมือหลักในช่วงหลายปีหลัง ยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ ABCD ความใหญ่ในหลายมิติของสหรัฐฯ และจีนทำให้แต่ละฝ่ายมีอำนาจการต่อรองของตนเอง กล่าวคือ สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวโพด และถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิตขนมปัง


ในทางกลับกัน จีนก็เป็นตลาดสินค้าเกษตรที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก คิดเป็นมากกว่า 18% ของจำนวนประชากรโลก แถมในระยะหลังก็ขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรและอาหารกับหลายประเทศ


มาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ระหว่างสองประเทศ ได้บิดเบือนโครงสร้างราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทบชิ่งอย่างแรงตรงไปถึงผลการประกอบการของ ABCD นับแต่ปี 2018 ผลกระทบดังกล่าวสะท้อนผ่านต่อราคาหุ้นของเอดีเอ็มและบันช์ที่ลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้เป็นอย่างดี

                               เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (5)
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นผู้บริหารระดับสูงของ ABCD ซึ่งเกือบทั้งหมดยกเว้น LDC มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ออกมากระตุกความคิดรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในทำนองว่า “... ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มระดับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็น 2 เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก” นั่นหมายความว่า ธุรกิจของ ABCD ไม่อาจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนได้ หากสงครามการค้ายังคงดำรงอยู่เช่นนี้  

        
แต่ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจต้องทบทวนว่า โลกควรจะปล่อยให้ ABCD มีอิทธิพลเหนือตลาดสินค้าเกษตรและอาหารอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ABCD ก็ไม่อยู่นิ่ง และแทนที่จะรอให้ “ความเก่า” นำไปสู่ “ความแก่” ในธุรกิจการเทรดสินค้าเกษตรและอาหารโลก มาเฟียแห่งโลกสินค้าเกษตรก็เร่งเปลี่ยน “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” ครั้งใหม่


ในการนี้ ABCD พยายามเสริมเขี้ยวเล็บด้วยการทำ “ข้อริเริ่มด้านการเกษตรโลก” โดยนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ และระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มาสร้างมาตรฐานและระบบดิจิตัลด้านการค้า  ทดแทนสัญญาและเอกสารการค้าที่ทำจากกระดาษ และการชำระเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งจะทำให้การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย


ลองคิดดูว่าในธุรกรรมการค้าสินค้าธัญพืชที่มีการขนส่งทางทะเลราว 11,000 เที่ยวในแต่ละปี ต้องอาศัยอีเมล์ที่ส่งเพื่อการติดต่อประสานงานระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ที่เกี่ยวข้องถึงราว 275 ล้านครั้ง และในหลายส่วนของเอกสารการค้าก็อาศัยแรงงานมนุษย์และมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นการทำเอกสารกระดาษ โทรสาร การพิมพ์ข้อมูลซ้ำ และอื่นๆ รวมทั้งยังจำเป็นต้องจัดส่งเอกสารตัวจริงไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องและรวดเร็วอีกด้วย


ประการสำคัญ ABCD ยังเปิดกว้างในเชิงรุกด้วยการขยายกลุ่มความร่วมมือไปยังภายนอก โดยเชื้อเชิญเทรดเดอร์รายใหญ่ที่มีศักยภาพมาเข้าร่วมกลุ่ม อาทิ เกรนคอร์เอกริคัลเจอร์ (Glencore Agriculture) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในเทรดเดอร์ที่เติบใหญ่ และพยายามเสริมสร้างความทันสมัยให้กับการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงหลายปีหลัง


ขณะเดียวกัน ในมุมมองของจีนที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนห่วงใยเรื่อง “ปากท้อง” อย่างสุดๆ ก็อยากเห็น “การสลายขั้วอำนาจ” ที่กระจุกตัวอยู่ในมือผู้ประกอบการตะวันตก ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการทลายกำแพงการผูกขาดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ระบบการค้าเสรีของโลก


โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามใช้ประโยชน์จากเวที BRICs เพื่อดึงเอา รัสเซีย บราซิล และ อินเดีย มาถ่วงดุลอำนาจ แต่การทำให้สิ่งนี้เกิดเป็นรูปธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลานาน 


จีนพยายามเร่งปรับปรุงนโยบาย “บุกโลก” ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร และ “เรียนลัด” จาก “ABCD” เพื่อใช้ประโยชน์จากการค้าในการเพิ่มอิทธิพลในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ นม ถั่วเหลือง และข้าวโพด 


จีนเร่งพัฒนากิจการของตนให้เข้าไปมีส่วนร่วมในวงการสินค้าเกษตรและอาหารโลกมากขึ้น เราได้เห็นคอฟโค (COFCO) ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาลจีนให้สยายปีกออกไปลงทุน และร่วมมือกับฐานการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรและอาหารโลกอย่างต่อเนื่อง 


นอกจากนี้ จีนยังอาจต้องจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการเกษตรกรรมในต่างประเทศของบริษัทจีน ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ก็ต้องระมัดระวัง “ผลข้างเคียง” ที่อาจเกิดขึ้นจากความอ่อนไหวด้านการเมืองและสังคมโลก เพราะจีนเองก็คงไม่อยากเปิดศึกหลายด้านในช่วงนี้


คราวหน้าเราไปคุยกันว่า จีนพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรอะไรขึ้นมาบ้างครับ ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน