สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน ไทย (2)

26 มิ.ย. 2565 | 05:42 น.

สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน ไทย (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวหลายกระแสระบุว่า เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำรัสเซียคนปัจจุบัน ซึ่งในห้วงเวลานั้น ก็ทำงานอยู่ในหน่วยสืบราชการลับของรัสเซีย เจ็บแค้นใจอย่างมาก กลายเป็น “แค้นฝังหุ่น” ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของปมขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ในขณะนี้


ในอีกด้านหนึ่ง ยูเครน มีขนาดพื้นที่ 600,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยเล็กน้อย ถือเป็นประเทศขนาดใหญ่สุดแห่งที่แยกตัวเป็นอิสระ หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย หรืออาจกล่าวได้ว่า ยูเครนถือเป็นส่วนหนึ่งของความรุ่งเรืองของสหภาพโซเวียตในอดีต เป็นที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นฐานยิงจรวดใหญ่ที่สหภาพโซเวียตใช้ในยุคสงครามเย็น
 

อย่างไรก็ดี ในยุคหลังสงครามเย็น สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ได้เจรจาปลดอาวุธของยูเครน โดยลำดับ เพื่อลดความตึงเครียดในภูมิภาค และทำให้ยูเครนไม่มีอาวุธหนักดังเช่นแต่ก่อน

 

ยูเครนมีจำนวนประชากรราว 40 ล้านคน ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย และมีพรมแดนทางบกติดกับหลายประเทศ ได้แก่ เบลารุส โปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนีย และ มอลโดวา ขณะที่ทางตอนใต้ติดทะเลดำ ซึ่งเป็นประตูในการค้าขายกับหลายประเทศ อาทิ บัลแกเรีย ตุรกี และ จอร์เจีย จึงถือเป็น “สะพาน” เชื่อมกับยุโรปเหนือ-กลาง-ใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ยูเครนมีกรุงเคียฟเป็นเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจหลัก มีประชากรราว 3 ล้านคน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยูเครนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยมีปัญหาความยากจนและคอร์รัปชันรุนแรงมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป ทำให้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป 


ยูเครนมี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี เป็นประธานาธิบดี แม้ว่าจะผันตัวเองจากอาชีพศิลปินมาเป็นนักการเมือง แต่ เซเลนสกี ก็เป็นผู้นำหนุ่มที่มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถพูดได้หลายภาษา และดูเป็นธรรมชาติ เราเห็นผู้นำยูเครนกล่าวสุนทรพจน์ออนไลน์ในหลายเวทีใหญ่ อาทิ การประชุมยูเอ็น นาโต้ รัฐสภาสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และการสัมมนาระหว่างประเทศ 


ล่าสุดก็ยังได้รับเชิญให้พูดในงาน Shangri La Dialogue ซึ่งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของรัฐมนตรีกลาโหม และบุคคลที่ดูแลด้านความมั่นคงของนานาประเทศ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ สิงคโปร์ พร้อมกับเรียกร้องขอการสนับสนุนจากนานาประเทศ

                              สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน ไทย (2)
หากเราเป็นชาวยูเครน ก็ต้องหลงรักในบุคลิกและความกล้าหาญของเซเลนสกีอย่างแน่นอน ท่านสามารถลบคำสบประมาทของนักวิเคราะห์บางส่วนที่ประเมินว่า ยูเครนจะแพ้สงครามต่อรัสเซียภายใน 1 เดือนเท่านั้น และได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาดินแดนของประเทศเอาไว้ และไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อภยันตรายตรงหน้าแบบง่ายๆ


รัสเซียและยูเครน ยังมีความใกล้ชิดกันในหลายด้าน ในเชิงภูมิศาสตร์ สองประเทศมีพรมแดนระหว่างกันยาวถึงกว่า 2,000 กิโลเมตร ขณะที่เมืองหลวงของทั้งสองประเทศห่างกันไม่ถึง 1,000 กิโลเมตร เรียกว่าจากชายแดนของประเทศหนึ่งก็สามารถเข้าถึงเมืองหลวงของอีกประเทศหนึ่งเพียง 500 กิโลเมตร 


ขณะเดียวกัน โดยที่สองประเทศเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต รัสเซียและยูเครนจึงมีความใกล้ชิดกันในทางสังคมวัฒนธรรมอีกด้วย ผู้คนเกือบครึ่งประเทศในพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของยูเครนพูดภาษาและมีวัฒนธรรมรัสเซีย 


แม้กระทั่งผลการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาก็สะท้อนสภาพดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด โดยคนด้านซีกตะวันออกและตอนใต้ของประเทศนิยมเลือกผู้แทนที่โปรรัสเซีย ขณะที่คนด้านซีกตะวันตกเลือกผู้แทนที่สังกัดค่ายตะวันตก


และบ่อยครั้งที่เราได้รับทราบข้อมูลการปฏิบัติที่กดขี่ต่อประชาชน และการพัฒนาที่จำกัดของรัฐบาลยูเครน ที่โปรตะวันตกในด้านซีกตะวันออกของประเทศ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง และการเรียกร้องการแบ่งแยกประเทศประทุขึ้นอยู่เนืองๆ


เมื่อผสมโรงกับการพยายามขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรสู่ยุโรปตะวันออก ผ่านกรอบความร่วมมืออย่างนาโต้และสหภาพยุโรป ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ก็ขยายวงมากขึ้นโดยลำดับ จนนักวิเคราะห์กล่าวไว้ว่า การ “รุกคืบ” ดังกล่าวเป็นการเดินหมากที่ผิดพลาดอย่างมากของค่ายตะวันตก 


คราวหน้าผมจะพาไปเจาะลึกถึง “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่นำไปสู่สงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบในแต่ละระดับ ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,795 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565