จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (3)

03 มิ.ย. 2565 | 04:09 น.

จีนพัฒนาชนบทอย่างไร ให้ลืมตาอ้าปาก (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3788 หน้า 4

คราวก่อนผมเล่าเกี่ยวกับโมเดลการพัฒนาพื้นที่ชนบทของจีน โดยหยิบยกกรณีศึกษาของหมู่บ้านเฉิงหยาง (Chengyang) จนผู้อ่านหลายคนอยากไปเยือน แต่อันที่จริง การพัฒนาชนบทจีนก็ยังมีอีกหลายกรณีศึกษาที่น่าจะนำเอามาแบ่งปันกันครับ ...


 มีคำถามเข้ามาว่า รัฐบาลจีนหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชนบทอย่างจริงจังเมื่อไหร่กัน นับแต่เปิดประเทศสู่ภายนอก จีนพัฒนาความเจริญอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เริ่มจากในหัวเมืองใหญ่ เมืองรองในแต่ละระดับ และกระจายลงสู่พื้นที่ชนบทอย่างชัดเจนในช่วง 10 ปีหลัง 

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในยุคหลังเกิดขึ้นในปี 2017 เมื่อรัฐบาลจีนได้นำเสนอยุทธศาสตร์การสร้างความมีชีวิตชีวาในชนบท (Rural Revitalization Strategy) ในเชิงรุก ซึ่งนำไปสู่การให้ความเห็นชอบกับแผนงาน 5 ปี ภายใต้แผนพัฒนาระยะยาวปี 2018-2035 


แผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับหลากหลายด้าน ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน อาทิ การเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะด้านการขนส่ง การสร้างธุรกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรมทางสังคมธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ และความเจริญรุ่งเรือง เพื่อขจัดปัญหาความยากจนอย่างถาวร และเพิ่มความสุขภาคประชาชนให้กับคนในพื้นที่

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ในระยะหลังก็คือ รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น และมองว่าภาคการท่องเที่ยวชนบทช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจที่แท้จริง เพิ่มการบริโภค การลงทุน และการจ้างแรงงานคุณภาพ


 ในซินเจียง ด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ช่วยให้คนท้องถิ่นหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากการบูรณาการทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว การเกษตรและการปศุสัตว์ ภายใต้แนวคิด “เกษตรบันเทิง (Agritainment) 


หลายครอบครัวในพื้นที่ได้ลงทุนประกอบธุรกิจรีสอร์ต แต่ในระยะแรก ธุรกิจก็ประสบปัญหาอย่างมาก และดูจะพัฒนาไปอย่างช้าๆ จนแทบถอดใจ แต่สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนส่งเสริมของภาครัฐภายใต้นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน 


 รัฐบาลท้องถิ่นและคณะกรรมการในพื้นที่ชนบทช่วยกันประชาสัมพันธ์กิจการเหล่านี้ กอปรกับวิกฤติโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนจีนไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ และต้องหันไปเที่ยวภายในประเทศแทน ส่งผลให้รีสอร์ตเหล่านี้ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน


 รีสอร์ตเหล่านี้เปิดให้ผู้ที่เข้ามาพักอาศัยเก็บผักและผลไม้ ที่เพาะปลูกในโครงการมาปรุงอาหารที่ตนเองชอบ ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้และป้อนอาหารสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งเป็นรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวใหม่ของชาวจีนในยุคหลังโควิด


เจ้าของรีสอร์ตแห่งหนึ่งกล่าวว่า ในช่วงกันยายน 2020 ต่อหยุดยาววันชาติจีน รีสอร์ตมีลูกค้าจองที่พักเข้ามาใช้บริการแทบทุกวัน ส่งผลให้มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 100% ของปีก่อน 


ปัจจุบัน ธุรกิจรีสอร์ตเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากชาวจีนในวงกว้าง และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอย ทั้งการซื้อบริการที่พักและสินค้าท้องถิ่น เป็นของที่ระลึก และการว่าจ้างแรงงานในพื้นที่เป็นจำนวนมากในระยะยาว


การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการสื่อสารของรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีน รวมทั้งพื้นที่ “หางไก่” นี้ไม่ได้ “ไกลปืนเที่ยง” ดังเช่นแต่ก่อน 


สนามบิน ทางด่วน และโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกและประหยัดเวลาในการเดินทาง ขณะเดียวกัน โครงข่ายไฟเบอร์ออปติก และระบบ 4G/5G ซึ่งขยายตัวจนครอบคลุมกว่า 98% ของหมู่บ้านโดยรวมในจีน ก็ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับพฤติกรรม “แชร์” ในโลกออนไลน์ และทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถ “ไลฟ์สตรีมมิ่ง” เสนอขายสินค้าท้องถิ่นออนไลน์ได้ตลอดเวลา


 ประการสำคัญ ด้วยความพร้อมดังกล่าว ก็ทำให้คนในวัยทำงานรุ่นเยาว์จำนวนมากไม่ละทิ้งถิ่นฐาน หรือย้ายกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้ง ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีของเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะยาว 


อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ เมืองหลีสุ่ย (Lishui) ในมณฑลเจ้อเจียง เมืองนี้ในอดีตเคยมีชื่อเสียงจากการเป็นฐานอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ที่ปลดปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อม และไม่มีอนาคตในระยะยาว รัฐบาลจีนพยายามผลักดันให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ นำเอานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับปรุงอุตสาหกรรมเดิม เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ และปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมการผลิตสีเขียวและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


 ภายหลังการสนับสนุนส่งเสริมและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เมืองหลีสุ่ยกลายเป็นเมืองที่ได้รับฉายานามว่า “กรีนวัลเลย์” จากความสำเร็จของภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,788 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565