สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน ไทย (1)

24 มิ.ย. 2565 | 05:30 น.

สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน ไทย (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3794 หน้า 4

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปพูดในงานประชุมประจำปีของ “บัวหลวง   SME” เรื่อง “ปมขัดแย้งนาโต้-รัสเซีย: วิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน และไทย” ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ สีลม และเห็นว่าเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจ เลยขอนำเอามาแบ่งปันกันครับ ...


รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ในเชิงภูมิศาสตร์มากที่สุดในโลก คิดเป็นราว  1 ใน 10 ของพื้นที่โดยรวมของโลก ใหญ่กว่าไทยราว 33 เท่าตัว และมีชายฝั่งทะเลยาวเหยียดกว่า 37,000 กิโลเมตร ทางด้านเหนือและด้านซีกตะวันออกที่อยู่ในโครงการ “สายไหมน้ำแข็ง” (Ice Silk Road) กับจีน เพื่อพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางเรือระหว่างจีน-รัสเซีย-ยุโรปเหนือ
 

ความใหญ่ในเชิงภูมิศาสตร์ทำให้รัสเซียพาดผ่านหลายทวีป และอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเกษตร ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี รัสเซียจึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็น “ครัวของโลก” และ “เส้นทางการขนส่ง” ใหม่ในอนาคต

 

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของรัสเซียได้แก่ ด้านเทคโนโลยี รัสเซีย เป็นประเทศแรกในโลกที่ส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และเต็มไปด้วยการวิจัยและพัฒนาชั้นสูงในหลายด้าน รวมทั้งมีระเบิดนิวเคลียร์จำนวนมากที่สุดในโลก รัสเซียมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและเทคโนโลยีระดับสูงเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งจีนที่กำลังโด่งดังในเรื่องนวัตกรรม ก็อาศัยพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากรัสเซียนี่เอง

ปัจจุบัน รัสเซีย มีประชากรราว 150 ล้านคน เป็นประเทศในทวีปยุโรป และคบค้าพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับยุโรปในระดับที่สูง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกลับอยู่ในฝั่งทวีปเอเชีย
กรุงมอสโกเป็นเมืองหลวงของประเทศ มีประชากรราว 13 ล้านคน ถือเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป มอสโกตั้งอยู่ในด้านด้านตะวันตกเกือบซ้ายสุดของประเทศ และตั้งอยู่ห่างจากวลาดิวอสต็อก เมืองเศรษฐกิจสำคัญด้านซีกตะวันออกของประเทศราว 6,500 กิโลเมตร การเดินทางไปมาหาสู่กันต้องใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงบิน


รัสเซียมี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นประธานาธิบดี และอยู่ในฐานะผู้นำประเทศต่างกรรมต่างวาระต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี ทำให้การดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่อง และพลิกฟื้นดีขึ้นโดยลำดับในช่วงหลายปีหลัง 


ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างรัสเซีย-จีนเปรียบประดุจ “คอหอยกับลูกกระเดือก” ในยุคหลัง ยิ่ง วลาดิเมียร์ ปูติน และ สี จิ้นผิง ผู้นำของทั้งสองประเทศก็พูดคุยกันถูกคอ “มองตารู้ใจ” และถือได้ว่าสนิทชิดเชื้อกันมากที่สุดคู่หนึ่งในโลก


ย้อนกลับไปในอดีต สหภาพโซเวียตเคยยิ่งใหญ่คับโลกตั้งแต่ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยความแตกต่างทางความคิดเกี่ยวกับระบอบการปกครอง ทำให้โลกแบ่งออกเป็นค่ายประชาธิปไตยและสังคมนิยม ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนนำไปสู่ “สงครามเย็น” เป็นเวลาหลายทศวรรษ


ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง กอปรกับอาณาเขตที่กว้างใหญ่ ทำให้รัสเซียมี “ภาระ” อันหนักอึ้ง ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างทั่วถึง จนทำให้ มิกาอีล กอบาชอฟ ผู้นำในช่วงเวลานั้น ตัดสินใจประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เรารู้จักกันในชื่อ “เปเรสตรอยกา” 


การปฏิรูปดังกล่าวของรัสเซีย สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายส่วน “สงครามเย็น” ยุติลง อุณหภูมิด้านความมั่นคงของโลกกลับมาอบอุ่นและผ่อนคลาย ระบอบประชาธิปไตย “รุ่งเรือง” แต่ระบอบสังคมกลับ “รุ่งริ่ง” กำแพงเบอร์ลินพังครืนลง เยอรมนีตะวันออกและตะวันตก รวมเป็นประเทศเดียวกัน ยุโรปตะวันออกกลายเป็นคำในอดีต และนำไปสู่การเกิดขึ้นของหลายสิบประเทศ


ประการสำคัญ การปฏิรูปดังกล่าวนำไปสู่การการแตกสลายของสหภาพโซเวียต หลายพื้นที่ที่อยู่ตามแนวพรมแดนด้านซีกตะวันตกและตอนใต้ แยกตัวเป็นประเทศน้อยใหญ่ “สหภาพโซเวียต” กลายเป็นอดีต เหลือเพียง “รัสเซีย” ที่สูญเสียดินแดนกว่า 5 ตารางกิโลเมตร ว่าง่ายๆ เสมือนการสูญเสียดินแดนขนาดประเทศไทยไป 10 ครั้ง ชาวรัสเซียตกอยู่ในสภาพของความแร้นแค้นต่อเนื่องยาวนานจนยากจะลืม


(อ่านต่อตอนหน้า)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน


หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565