วิเคราะห์ความคิดประธานาธิบดีปูติน : ภาคยูโด

07 มี.ค. 2565 | 11:00 น.

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ความคิดประธานาธิบดีปูติน : ภาคยูโด โยงเหตุการณ์รัสเซียเดินหน้าสู่สู่สมรภูมิรบยูเครน

วันนี้(7 มี.ค.65) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความแล้วโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “วิเคราะห์ความคิด ปธน.ปูติน: ภาคยูโด” ระบุว่า


ก่อนที่ ปูติน จะเลือกเรียนกฎหมาย ก่อนที่เขาจะเป็นสายลับ ในวันที่เขายังไม่ได้คิดจะเริ่มต้นชีวิตทางการเมือง จนถึงวันที่เขาเป็นประธานาธิบดี สิ่งที่เขาเป็นมาตลอดชีวิตคือ เป็น นักยูโด จิตใต้สำนึกของความเป็นนักยูโด สอนอะไรเขาบ้าง


1.ยูโด คือ ศาสตร์แห่งการโอนอ่อนผ่อนตาม ทำให้นักกีฬายูโดที่มีฝีมือสามารถแสวงหาหนทางได้เปรียบ แม้ต้องต่อสู้กับผู้ที่มีกำลังมากกว่า ยูโดเป็นศาสตร์ที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าน้ำหนักน้อยกว่าและกำลังด้อยกว่า สามารถต่อสู้กับผู้ที่อยู่ในลักษณะเหนือกว่าได้ 

และนั่นทำให้รัสเซียที่แสนยานุภาพไม่อาจเทียบได้กับพันธมิตร NATO ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ มีใจฮึกเหิมที่จะเข้าประลองพลังอำนาจกับภัยคุกคามที่ NATO พยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในเขตยุโรปตะวันออกอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

2. ยูโด ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการจับทุ่ม หากแต่ต้องเริ่มต้นจาก การทดสอบกำลัง เสียก่อน คนธรรมดาอย่างพวกเราเวลาต้องยกของหนัก เช่น โต๊ะซัก 1 ตัว พวกเราก็เดินหน้าแล้วเอามือยกโต๊ะขึ้นมาทันที 

แต่สำหรับนักยูโด พวกเขาจะค่อยๆ เอามือวางไปรอบๆ โต๊ะ เพื่อค่อยๆ พิจารณาประเมินน้ำหนัก ประเมินจุดศูนย์รวมของมวลของทั้งโต๊ะ เพื่อประเมินว่า ควรจะยก หรือไม่ควรจะยก, โต๊ะนี้สามารถยกได้ด้วยตัวคนเดียว หรือ ต้องชวนคนอื่นๆ มาช่วยยก หรือ โต๊ะตัวนี้ไม่ควรจะยก เพราะแม้จะชวนหลายๆ ท่านมายก ก็ไม่มีทางยกได้สำเร็จ 

ดังนั้น หากปูตินวิเคราะห์แล้วว่า เขาจะนำพารัสเซียเข้าสู่สมรภูมิในครั้งนี้ นั่นแปลว่า เขาต้องแน่ใจว่าเขาพร้อมที่จะยกโต๊ะตัวนี้ และต้องยอมรับกับผลที่ตามมาจากการออกแรงในครั้งนี้


3. เมื่อหยั่งกำลังเสร็จ เทคนิคของยูโดที่จะนำมาใช้ในเบื้องแรก เพื่อตัดกำลังคู่ต่อสู้นั่นคือ ท่าล็อก (Katamawaza) โดยการกอดรัดเพื่อให้หายใจไม่ออก การจับยึดข้อต่อต่างๆ ใช้เทคนิคในการกดดัน เพื่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนนโดยไม่จำเป็นต้องออกแรงทุ่ม 

                                    ประธานาธิบดีปูติน
และนั่นคือ สิ่งที่เราเห็นรัสเซียดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกดดันแบบ Hybrid warfare ที่ใช้กองกำลังรัสเซียกว่า 200,000 นาย เข้ามากดดันในบริเวณชายแดนภายในฝั่งรัสเซียเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อกดดันให้ยูเครน ยอมล้มเลิกนโยบายที่จะเข้าเป็นพันธมิตรของ NATO เพื่อให้ยูเครนล้มเลิกความคิดที่จะนำพาเอาขีปนาวุธเข้ามาติดตั้งในประเทศและหันหัวรบมาทางรัสเซีย


4. และเมื่อการล็อกไม่ได้ผล และเมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง รวมทั้งมองเห็นจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ นักยูโดจะทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดเข้าบุกโดยใช้ ท่าทุ่ม  (Nagewaza) ซึ่งจำแนกออกเป็น 12 กระบวนท่า ตามแต่จะเห็นโอกาส โดยการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ผลักดันให้เกิดแรงดีดแรงงัดที่รุนแรงที่สุด เพื่อหวังชัยชนะขั้นเด็ดขาด หรือ Ippon (一本) ซึ่งนั่นคือการถาโถมสรรพกำลังส่งกองทัพเข้าบุกยูเครนอย่างที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้


5. คำถามคือ แล้วถ้าพลาดท่า การออกกระบวนท่าผิดพลาดจากสิ่งที่เขาคาดหวังเอาไว้ เช่น พันธมิตร NATO สามารถบีบบังคับ และเป็นฝ่ายจับปูตินทุ่มลงกับพื้นบ้างล่ะ คำตอบคือ อย่าลืมนะครับว่า ก่อนที่ master จะสอนท่าล็อก ท่าทุ่มให้กับลูกศิษย์ ที่ที่ลูกศิษย์จะต้องฝึกแล้วฝึกอีกอย่างต่อเนื่อง ซ้ำๆ เป็นเวลานาน นั่นคือ ท่าตบเบาะ  (Ukemi) เพื่อล้มให้เป็น ถ่ายทอดน้ำหนักให้ถูกผ่านถ้วงทำนองของการตบเบาะซึ่งมีอย่างน้อย 8 รูปแบบ ผ่อนหนักให้เป็นเบา 


ดังนั้น ก่อนที่จะทุ่ม ก่อนที่จะล็อก ปูตินต้องวางทางหนีหาทางลงให้กับตนเองและรัสเซียไว้แล้ว ว่าในกรณีเพลี้ยงพล้ำเขาจะจบสงครามนี้อย่างไร ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราต้องติดตามต่อด้วยความระทึก 


6. และอีกเรื่องที่จะลืมเสียมิได้ นั่นคือ บางครั้งนักยูโดที่เก่งฉกาจเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อเดินเข้ามาในพื้นที่ฝึกซ้อมแข่งขัน (道場 dojo) แรงกดดันจากผู้ชมการแข่งขันที่ทั้งหมดส่งแรงเชียร์ไปให้ฝั่งตรงข้ามจนแปลเปลี่ยนกระแสจิตให้กลายเป็นแรงกดดัน ก็อาจจะทำให้นักยูโดสายดำที่ประสบการณ์ยาวนาน เดินหกคะเมนตีลักกากลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็ได้ ดังนั้นภาวะกดดันจากนานาชาติก็เป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่แม้แต่ปูตินเองก็ควบคุมมิได้ 


 (คอยอ่านบทความต่อไปของผมครับ เรื่อง จุดตายของปูติน)


และผมต้องขอออกตัวไว้ด้วยว่า แม้จะเคยเรียนยูโดสมัยมัธยม และ อ่านการ์ตูนยูโดอยู่เสมอ แต่ผมก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนี้ครับ บทวิเคราะห์นี้ต้องขอขอบพระคุณพี่ช้าง ดร.นรภัทร ลีธีระโชติ Norapat Leeterachoti นักธุรกิจใหญ่ที่เป็นอดีตนักกีฬายูโดทีมชาติ ที่ช่วยจุดประกายและอธิบายวิเคราะห์กีฬายูโดให้ฟัง ทุกครั้งที่ได้คุยกับพี่ช้างผมได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เสมอครับ