หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิดต้อนรับปีเสือ (จบ)

13 ก.พ. 2565 | 07:40 น.

หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิดต้อนรับปีเสือ (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่าไทยถึง 20 เท่าตัว และในชุมชนเมืองก็มีอัตราความหนาแน่นของประชากรสูง กอปรกับประสบการณ์ของโรคระบาดในอดีต ทำให้รัฐบาลจีนเลือกดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจังและเข้มงวด เพราะหากผิดพลาดไป ก็อาจทำให้เศรษฐกิจหลายสิบปีที่สร้างขึ้นกลับไปเหลือศูนย์ก็เป็นได้ และอันที่จริงแล้ว จีนเองก็อยากให้โลกกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เพราะจีนสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาลจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 

 

แต่ในทางกลับกัน หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ก็จะส่งผลกระทบไปยังภาคการผลิต ซึ่งจะลามต่อไปยังภาคการบริโภค และภาคส่วนอื่น แม้กระทั่งการเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ อาทิ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และเอเชี่ยนเกมส์ที่จีนจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ 

นอกจากนี้ วิทยากรยังกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการได้อย่างจริงจังและเข้มงวด และกำกับควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทำให้ภาคประชาชนของจีนโดยรวมมีความเชื่อมั่นสูงกับรัฐบาลจีน และสนับสนุนการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ เราจึงเห็นคนจีนให้ความร่วมมือกับมาตรการล็อกดาวน์ การจำกัดการเดินทางภายในประเทศ และอื่นๆ

 

ในส่วนของการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มเกี่ยวกับการกักตัว และการเดินทางเข้าออกประเทศ ท่านวิทยากรเห็นว่า มีตัวแปรสำคัญหลายประการ อาทิ การหยุดลงของการแพร่ระบาดของจีนและไทย และการค้นพบตัวยารักษา โดยประเมินว่า ในชั้นนี้ รัฐบาลจีนประกาศออกมาเรียบร้อยแล้วว่า จะไม่อนุมัติวีซ่าท่องเที่ยวในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาว

ดังนั้น การเปิดประเทศในช่วงไตรมาสแรกก็หมดโอกาสไปแล้ว 

 

ช่วงเวลาถัดไปที่จีนอาจเปิดประเทศ ก็น่าจะอยู่ระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม เพราะจีนไม่มีงานใหญ่และมีสภาพอากาศอบอุ่น ซึ่งจะลดแรงกดดันในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้ระดับหนึ่ง 

 

หากจีนไม่ผ่อนคลายมาตรการในช่วงเวลาดังกล่าว เราอาจต้องรอจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย เพราะจีนจะเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ในเดือนกันยายน และการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีวาระสำคัญในการรับรองรายชื่อผู้บริหารระดับสูงของพรรคฯ ซึ่งรวมถึงการต่อเทอม 3 ของท่านสี จิ้นผิง

 

ยิ่งหากเราพิจารณาจากบริบทจีนยึดถือที่ว่า “การเมืองนำเศรษฐกิจ” ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า รัฐบาลจีนคงไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวและผ่อนคลายมาตรการที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นแน่

 

อีกคำถามหนึ่งที่ผู้ประกอบการสอบถามและขอความคิดเห็นเข้ามาก็คือ ในการเข้าตลาดจีน SMEs ควรเตรียมเงินทุนขั้นต่ำเท่าไหร่ อย่างไร ต่อประเด็นนี้ ท่านวิทยากรเห็นว่า การระบุตัวเลขเม็ดเงินที่ชัดเจนเป็นเรื่องยาก เพราะมีหลายตัวแปร อาทิ ขนาดกิจการ รูปแบบธุรกิจ ขอบข่ายของสินค้าและบริการ และความเข้มข้นในการทำการตลาด แต่ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจไว้ในหลายส่วน 

                                  หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิดต้อนรับปีเสือ (จบ)

เราต้องทราบว่า จีนเป็นตลาดใหญ่ มีค่าใช้จ่ายสูง และมีสภาพปัจจัยแวดล้อมแตกต่างจากไทย ดังนั้น การเข้าตลาดจีนจึงควรทดสอบตลาดก่อนทุ่มทุน กำหนดพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ จะเข้าที่ไหนก่อน โดยควรจำกัดพื้นที่ และต่อยอดเพื่อขยายตลาด ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมเงินและทรัพยากรสำรองไว้อีกส่วนหนึ่ง “เราควรมีก๊อก 2 และ 3 เตรียมไว้ ถ้ามีก๊อกเดียวก็ไม่ควรเข้าตลาดจีน”  

 

โดยที่ SMEs ส่วนใหญ่มีเงินทุนและทรัพยากรจำกัด ผู้บริหารจึงควรให้ความสำคัญและเปิดกว้างกับความร่วมมือและร่วมลงทุน และลงทุนส่งลูกหลานไปเรียนจีนเพื่อเตรียมสร้างคน 

 

วิทยากรยังแนะนำอีกว่า สำหรับ SMEs รายใหม่ ก็ควรทดลองไปร่วมงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอื่นในตลาดจีน ซึ่งในส่วนนี้ หอการค้าไทยในจีนดำเนินกิจกรรมและอำนวยความสะดวกอยู่มาก ทำให้ SMEs มีพี่เลี้ยงที่ดีในการให้คำปรึกษาและประหยัดค่าใช้จ่าย

 

มาถึงคำถามสำคัญที่ทุกท่านรอคอยที่ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนร่วมการสัมมนาฝากไว้หลายวันก่อนหน้านี้ ก็คือ สำหรับปีเสือนี้ นักธุรกิจไทยตัวเตรียมอย่างไร
 ในส่วนนี้ วิทยากรทั้ง 3 ท่านให้ข้อคิดที่น่าสนใจกับผู้ประกอบการและผู้สนใจเพิ่มเติมในหลายส่วน โดยสรุปว่า ในโลกที่แข่งขันเสรีมากขึ้นเช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องคิด วางแผน และดำเนินการอย่างรอบด้าน 

 

ท่านวิทยากรกล่าวย้ำว่า “สินค้าไทยควรต้องดีทั้งด้านราคาและคุณภาพ การสร้างชุมชนเพื่อรักษาฐานลูกค้าและเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของไทยก็เป็นสิ่งที่อาจเป็นทางรอดของผู้ประกอบการไทย เพราะด้านการผลิต ไทยเราแข่งสู้จีนไม่ได้”

 

ขณะเดียวกัน วิทยากรก็แนะนำว่า ในเชิงรุก การส่งลูกหลานไปเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สินค้าในตลาดจีนเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามแนวโน้มเพื่อเตรียมความพร้อมและปรับใช้อย่างเหมาะสม และขยายสายผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ โดยเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ (Niche) ซึ่งในกรณีกลุ่มลูกค้าเฉพาะก็มีขนาดของตลาดที่ใหญ่มากสำหรับ SMEs 

 

นอกจากนี้ โลกดิจิตัลของจีนพัฒนาไปไกล อีคอมเมิร์ซและสื่อสังคมออนไลน์กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง กิจการของไทยจึงควรศึกษาและแสวงหาลู่ทางการใช้ประโยชน์จากการทำตลาดผ่านวีแชต เถาเป่า และอื่นๆ

 

ท่านวิทยากรยังได้แนะนำเทคนิคไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ก่อนไปลุยตลาดจีน ผู้ประกอบการก็อาจเปิดเว็บไซต์เถาเป่า เพื่อตรวจสอบราคาขายปลีกของสินค้าที่คล้ายคลึงดูก่อนว่าเป็นเท่าไหร่ เราสู้ได้ไหม หรืออาจจับมือกับ KOL จีนในไทยสร้างคอนเท้นต์ในโต่วอิน เพื่อสร้างแบรนด์ สร้างฐานลูกค้า และทำตลาดจีนในวงกว้าง

 

ก่อนจบการเสวนา ท่านวิทยากรยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดเพื่อฟันฝ่าปีเสือนี้อีกว่า ไม่ว่าปีนี้จะเป็นเสือหมอบ เสือทอง หรือเสือใดก็ตาม “แต่เราต้องทำตัวเป็นเสือโหย”

 

การสัมมนาหอการค้าไทยในจีนประจำปี 2022 “ฝ่าวิกฤติโควิด ต้อนรับปีเสือ” จบลงพร้อมกับสาระและข้อคิดดีๆ มากมาย รวมไปถึงคำอวยพรอันเป็นมงคลสำหรับปีเสือนี้ 

 

และอย่างที่ ท่านสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานหอการค้าไทยในจีนได้กล่าวไว้ในการเปิดงานสัมมนาว่า ท่านพร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริม “ให้หอฯ เป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเชื่อมโยงและผลักดันให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน” ผมจึงเชื่อมั่นว่า หอฯ จะจัดงานสัมมนา และกิจกรรมดีๆ แก่ผู้ประกอบการไทยอีกมากในอนาคต 

 

ผมจะขอนำเอาสาระดีๆ มาแบ่งปันกันในโอกาสต่อไปนะครับ  ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,757 วันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565