หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิดต้อนรับปีเสือ (4)

09 ก.พ. 2565 | 07:08 น.

หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิดต้อนรับปีเสือ (4) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฉบับ 3756 โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ช่วงสุดท้ายของการสัมมนาประจำปีของหอการค้าไทยในจีน เป็นการเสวนาของผู้ประกอบการไทยที่มากด้วยประสบการณ์ในตลาดจีน ภายใต้ประเด็น “นักธุรกิจไทยควรเตรียมตัวอย่างไรในปีเสือ” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่น่าติดตามยิ่ง

 

หอฯ ได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่านที่กรุณานำเอาประสบการณ์ในตลาดจีนรวมกันกว่า 50 ปีมาเสวนากัน และแฝงมุมมองไว้อย่างลุ่มลึก อันได้แก่ คุณบุญชัย ลิ่มอติบูลย์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัท Namu Life และ Thira Venture ซึ่งร่วมเป็นกรรมการหอการค้าไทยในจีนอยู่ด้วย คุณกำธน ลีเลิศพันธ์ กรรมการบริหารของบริษัท ดอกบัวคู่ (ประเทศจีน) จำกัด และ คุณมยุรี ทรัพย์สุทธิพร ทนายความหุ้นส่วนของบริษัท กุดั่น แอนด์ พาร์ทเนอร์ จำกัด

โดยผมเองก็มีโอกาสไปร่วมกับ คุณฟางจี เชิง ผู้อำนวยการสำนักงานเซี่ยงไฮ้ของหอฯ ดำเนินการเสวนา และยิงคำถามแทนผู้ประกอบการและผู้สนใจให้วิทยากรทั้ง 3 ท่านดังกล่าวได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างสนุกสนานและเต็มไปด้วยสาระ เราตามไปเก็บตกการเสวนากันเลย ...

 

ประเด็นแรกก็คือ หลังจากได้ฟังการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2022 และการดำเนินนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิ BRI, Common Prosperity และ RCEP แล้ว ท่านวิทยากรคิดเห็นอย่างไรต่อศักยภาพของตลาดจีน และสินค้าและบริการของไทยจะมีลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจหรือไม่ อย่างไร

วิทยากรทั้ง 3 ท่านต่างเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนในเชิงบวกต่อสินค้าและบริการของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าและบริการของไทยมีความคึกคักมากขึ้นในตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารและสินค้าบริโภคดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในจีนเพิ่มขึ้นมาก แต่ในกรณีของไทย อาจแตกต่างจากสถานการณ์ของจีน 

 

วิทยากรมองนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) ในเชิงบวก และคาดว่าจะส่งผลให้คนชั้นกลางของจีนเพิ่มขึ้น ตลาดจีนจะเติบโตในเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายถึงขนาดของตลาดการบริโภคที่ใหญ่ขึ้นในระยะยาว

 

ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพของจีน ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนผ่านการสร้างแบรนด์ โดยอาศัยลักษณะเฉพาะของวัตถุดิบ วัฒนธรรม เรื่องราว และความสามารถในการผลิตเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นจุดแข็งในการทำตลาดจีน

                                         หอการค้าไทยในจีน ฝ่าวิกฤติโควิดต้อนรับปีเสือ (4)

นอกจากนี้ วิทยากรยังเห็นว่า สินค้าและบริการของไทยควรมุ่งเน้นความหลากหลาย เพราะหากอยู่ในตลาดเดิมก็อาจเติบโตช้า และเหนื่อยกับการแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ อย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ วิทยากรท่านหนึ่งยกตัวอย่างด้วยความห่วงใยต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเข้าตลาดจีนในอนาคต เนื่องจากจีนกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารอาหารต่างชาติออนไลน์กับ GACC ที่ครอบคลุมเกือบ 20 รายการสินค้า และมีผลบังคับใช้ในต้นปีนี้ เพราะหากผู้ผลิตอาหารของไทยชะล่าใจหรือไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ทันท่วงที ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสู่ตลาดจีน

 

อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ โชคดีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ร่วมกับหอการค้าไทยในจีนได้มอบหมายให้ทีมงานช่วยให้คำแนะนำและบริการตอบข้อซักถามของผู้ประกอบการของไทยเกือบตลอด 24 ชั่วโมงนับแต่ปลายปีที่ผ่านมา

 

ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าผู้ประกอบการจีนจะไม่อาจเดินทางไปไทยได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่สินค้าและบริการของจีนก็ยังไปได้ และเป็นที่นิยมมากในไทย แถมตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยก็เต็มได้ด้วยแพล็ตฟอร์มใหญ่ของจีนแทบทั้งสิ้น คนไทยอาจแข่งขันยากขึ้นถ้าจีนเข้ามาพร้อมแพล็ตฟอร์มเช่นนี้

 

นอกจากนี้ ในด้านธุรกิจออนไลน์ จีนมีการผลิตเกมส์ออนไลน์มากมาย แต่การจัดระเบียบของธุรกิจออนไลน์ของรัฐบาลจีนในระยะหลังก็ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องการขยายตลาดในไทย เพราะแม้ว่าจีนเป็นตลาดใหญ่และเติบโตเร็ว แต่ก็มีการควบคุมเข้ม ทำให้ประกอบธุรกิจยากขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น เกมออนไลน์ใหม่จะทำตลาดลำบาก อาเซียนจึงเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ ซึ่งไทยอาจใช้โอกาสนี้ในการร่วมมือและพัฒนาในเกมส์ออนไลน์กับจีน แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับกฎระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน

 

เมื่อถามถึงประเด็นที่ว่า หลังจากเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) หรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ RCEP ส่งผลกระทบในมิติด้านกฎหมายต่อการลงทุนอย่างไร กลายเป็นความยากง่ายกับผู้ประกอบการหรือไม่ อย่างไร

 

ต่อประเด็นนี้ วิทยากรเห็นว่า จีนมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในจีน ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในจีนมีความสะดวกมากขึ้น และได้นำเอาระบบ Negative List มาใช้ใน FTZ ที่กระจายไปหลายพื้นที่ทั่วจีน จนอาจกล่าวได้ว่า การลงทุนในจีนในวันนี้สะดวกและง่ายกว่าการลงทุนในไทยไปแล้ว

 

ด้วยการเปิดกว้างของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จะทำให้ระดับการแข่งขันเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมีการเตรียมตัวที่ดี เรียนรู้จากผู้ประกอบการจีนที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับและการแข่งขันด้านสินค้าตลอดเวลา 

 

สำหรับการลงทุนของจีนในไทย ไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับด้านการลงทุนในอาเซียน รัฐบาลก็มีสิทธิประโยชน์พิเศษในหลายด้าน เช่น BOI ที่เพิ่มประเภทธุรกิจส่งเสริมใหม่ที่มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมเคมี พลังงานสีเขียว (จักรยาน/รถยนต์ไฟฟ้า) และอื่นๆ และ EEC สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ และมีเงินลงทุน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 3 จังหวัดของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

 

นอกจากนี้ ด้วยวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยลดต่ำลง จนปัจจุบันมีราคาขายต่ำกว่าราคาตลาดหรือราคาที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสริมและโอกาสสำหรับนักธุรกิจต่างชาติ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ก็เชื่อมั่นว่า จีนจะเข้ามาลงทุนในไทย

 

อีกคำถามหนึ่งจากผู้เข้าร่วมสัมมนากรุณาอินบ็อกซ์เข้ามาก็คือ นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (Zero Covid Policy) ของรัฐบาลจีนกระทบกับเศรษฐกิจจีนมากน้อยเพียงใด และคาดว่าจีนจะคงนโยบายดังกล่าวถึงเมื่อใด

 

ประเด็นนี้นับว่าอยู่ในกระแสความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การศึกษา และที่เกี่ยวข้อง โดยท่านวิทยากรพยายามสะท้อนภาพว่า “เราต้องเข้าใจว่าไทยและจีนมีสภาพปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน” 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,756 วันที่ 10 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565