"นิปปอน สตีล”จ่อผงาดเบอร์ 3 เหล็กโลก หลังร่วมลงทุน G STEEL-GJ STEEL

26 ม.ค. 2565 | 05:22 น.

เป็นข่าวใหญ่ทันทีในวงการอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมก่อสร้างเมื่อยักษ์ใหญ่ระดับแถวหน้าของโลกอย่างนิปปอน สตีล คอร์ป ประเทศญี่ปุ่น เคลื่อนไหวด้านการลงทุนครั้งสำคัญอีกรอบ

 

"นิปปอน สตีล”จ่อผงาดเบอร์ 3 เหล็กโลก หลังร่วมลงทุน G STEEL-GJ STEEL

 

ทั้งนี้เมื่อปรากกฏข่าว “นิปปอน สตีล” ประกาศทุ่ม 25,000 ล้านบาท ซื้อกิจการ G STEEL-GJ STEEL จากก่อนหน้านี้ก็ลงทุนในไทยต่อเนื่องในรูปของการเข้าถือหุ้นใหญ่และเกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล็กในประเทศไทย 

 

โดยนิปปอน สตีล คอร์ป ในฐานะผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก เคลื่อนไหวจะทำการซื้อหุ้นใน บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ G Steel รวมทั้งบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ G J Steel ด้วยวงเงิน 763 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 25,000 ล้านบาท เพื่อลดการพึ่งพาถ่านหินในการผลิตเหล็ก และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

นิปปอน สตีล จะซื้อหุ้น 49.99% ของ G Steel และหุ้น 40.45% ของ G J Steel ด้วยวงเงิน 419 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมทั้งหนี้สินของบริษัท จากกองทุน Asia Credit Opportunities I (Mauritius) Limited (“ACO I”)  ซึ่งกองทุนนี้บริหารโดย Ares SSG และหลังจากนั้น นิปปอน สตีลจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) เพื่อซื้อหุ้นที่เหลือของ G Steel และ G J Steel ด้วยวงเงิน 344 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ยอดเงินรวมในการซื้อกิจการ G Steel และ G J Steel อยู่ที่ 763 ล้านดอลลาร์ โดยราคาเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ สำหรับหุ้น G Steel และ G J Steel อยู่ที่ระดับ 0.27 บาท และ 0.59 บาทตามลำดับ

 

ตามข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)หรือเว็บไซต์ settrade.com  ระบุว่า ACOI เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท G steel และ  G J Steel ในสัดส่วน 49.99% และ 40.45% ตามลำดับ โดยผู้ถือหุ้นใน ACOI คือ Kendrick global limited ที่ตกลงขายหุ้นทั้งหมดให้กับนิปปอนสตีล

 

 

"นิปปอน สตีล”จ่อผงาดเบอร์ 3 เหล็กโลก หลังร่วมลงทุน G STEEL-GJ STEEL

 

 

ทันทีที่มีข่าวเคลื่อนไหวข่าววงในวงการเหล็กพากันวิเคราะห์ว่า เป็นการเข้าซื้อหุ้นในกองทุนที่ถือหุ้นใน 2 บริษัท (G Steel และ G J Steel) มานานราว 4 ปีกว่าแล้ว(ซึ่งกองทุนนี้มีระยะเวลาที่ต้องออกจากการถือหุ้นดังกล่าว) โดยถือหุ้นในสัดส่วนกว่า 40% เป็นกองทุนที่ไม่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็ก ล่าสุดทั้งกองทุนและผู้ก่อตั้งบริษัท G Steel  คือ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล  ต้องการได้ผู้ผลิตเหล็กตัวจริงที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาธุรกิจเหล็กให้เติบใหญ่ ด้วยการพัฒนายกระดับเหล็กให้มีคุณภาพแข่งขันได้  จนในที่สุดได้จับมือกับยักษ์นิปปอน สตีล 

 

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นที่น่าจับตาหลังจากที่นิปปอน สตีล  เข้ามาจะเกิดการพัฒนาธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนใน G Steel และ G J Steel ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และจะช่วยลดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศได้ ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนรวมในการผลิตเหล็กต่ำลง  โดยทั้ง 2 บริษัท มีขนาดกำลังผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรวมกัน 3.5 ล้านตันต่อปี  และการซื้อกิจการของ G Steel และ G J Steel จะทำให้นิปปอน สตีลมีกำลังการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น หากทั้งนิปปอนสตีลฯ  G Steel และ G J Steel ผลิตได้เต็มที่ จะขยับสถานะกลายเป็นผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่เบอร์ 3 ของโลกทันที   จากข้อมูล  Worldsteel.org  ระบุว่าปี 2020 นิปปอนสตีลฯ  มีกำลังผลิตเหล็กได้จริงที่ 41.58 ล้านตัน อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก (จากความสามารถในการผลิตเต็มของกลุ่มนิปปอน สตีลมีกว่า 60 ล้านตันต่อปี)

 

สำหรับ G Steel และ G J Steel ในช่วงที่ผ่านมาเผชิญปัญหาไม่ต่างจากผู้ผลิตเหล็กค่ายอื่น เห็นชัดเจนจากที่เดินการผลิตจริงยังไม่เต็มที่ หรือผลิตได้เพียง 30-40% ของกำลังผลิตเต็มเพดานเท่านั้น เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกซบเซาท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งก่อนหน้านี้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยเผชิญมรสุมการทุ่มตลาดเหล็กราคาถูกจากจีนและประเทศอื่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้นถ้าวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่าการจับมือกับยักษ์นิปปอน สตีล น่าจะเกิดผลดีมากกว่าในระยะยาว  เนื่องจากปัจจุบันฐานการผลิตไทยมีทุนสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนขั้นดาวน์สตรีมจำนวนมาก หลายธุรกิจต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ นอกจากนิปปอนสตีลจะเป็นทุนสัญชาติเดียวกันแล้ว ยังผลิตเหล็กที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมายาวนาน  อีกทั้งเป็นกลุ่มทุนที่มีเครือข่ายด้านการตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กเชื่อมโยงไปทั่วโลก

 

และเมื่อย้อนไปดูความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ จะพบว่ากลุ่มทุนนิปปอน สตีลฯ ลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะในหลายรูปแบบโดยเฉพาะการเดินสายเข้าถือหุ้นใหญ่มาเป็นระยะ ไล่ตั้งแต่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นในนามบริษัท เอ็นเอส-สยามยูไนเต็ดสตีล จำกัด (NS-SUS) ส่วนเหล็กปลายน้ำอื่น ๆ ที่นิปปอน สตีลฯ ลงทุนในไทยเป็นเหล็กเคลือบสังกะสีผสมอลูมิเนียม ในนามบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Siam Tinplate จำกัด ผลิตเหล็กเคลือบดีบุก  จนมาสู่การร่วมลงทุนผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนขนาดใหญ่แบบแพ็คคู่กับ G Steel และ G J Steel

 

สมศักดิ์  ลีสวัสดิ์ตระกูล

 

ดังนั้นคนในวงการเหล็กทุกชนิดต้องจับตามองกลยุทธ์รุกคืบของทุนนิปปอน สตีลฯ และการเปลี่ยนแปลงของ G Steel และ G J Steel ในยุคที่มียักษ์นิปปอน สตีลฯ เข้ามาบริหารแบบไม่กระพริบตา  เรียกว่าการแข่งขันทั้งในประเทศและในตลาดต่างประเทศอาจจะกลับมาไต่เพดานร้อนแรงได้โดยเฉพาะสถานการณ์หลังวิกฤติโควิด ที่ทั่วโลกเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และน่าจะเป็นโอกาสเหมาะสำหรับการตัดสินใจครั้งใหญ่ใน G Steelและ G J Steel ที่มีผู้ก่อตั้งที่ชื่อ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล หนึ่งในกูรูอุตสาหกรรมเหล็กมายาวนานกว่า 40 ปี

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3752  วันที่ 27 – 29 มกราคม 2565