เมื่อหน้าตาเฮลท์แคร์จีน ถูกปรับโฉมครั้งใหญ่ (3)

15 ธ.ค. 2564 | 06:07 น.

เมื่อหน้าตาเฮลท์แคร์จีน ถูกปรับโฉมครั้งใหญ่ (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในช่วงหลายปีหลัง จีนมิได้ขาดแคลนเงินทุนดังเช่นในอดีต ในการพัฒนาเฮลธ์แคร์ในเชิงคุณภาพ จีนจึงจัดสรรทรัพยากรเพื่อส่งเสริมผ่านมาตรการทางการเงินในหลายส่วน อาทิ การจัดตั้งกองทุนด้านเฮลธ์แคร์จำนวนมากที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจในจีนให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศ และที่น่าสนใจก็คือ กองทุนดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกิจการของจีน

 

นอกจากนี้ กิจการเฮลธ์แคร์ของจีนหลายรายยังเข้าไปลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในและนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่กิจการสตาร์ทอัพก็มีช่องทางมากมายในการระดมทุนในระยะเริ่มต้น บ่มเพาะ ไปจนถึงการนำร่องธุรกิจในระยะแรก ซึ่งช่วยให้การระดมทุนเพื่อการฟูมฟักและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของกิจการกว้างขวางและยืดหยุ่นมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ จีนมีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ที่ใหญ่กว่าไทยราว 18 เท่า ซีกตะวันออก ตอนกลาง และซีกตะวันตกมีระดับการพัฒนาที่ลดหลั่นกันไป ขณะที่ชุมชนเมืองและชนบทก็ยังมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเฮลธ์แคร์ที่แตกต่างกันอยู่มาก 

 

โรงพยาบาลที่ดีและมีมาตรฐานสูงส่วนใหญ่จึงยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ คนไข้ที่มีอาการหนักจึงต่างยอมเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปเข้าคิวรอพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลตามเมืองใหญ่

ปัญหานี้ใหญ่มากขึ้นเมื่อโรงพยาบาลเหล่านี้มีอุปสงค์มากกว่าอุปทานด้านการรักษาพยาบาลอยู่มาก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) จีนมีแพทย์ต่อประชากรในอัตราส่วน 1: 6,666 ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนของค่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า ผนวกกับจำนวนคนไข้จำนวนมากมาย จึงไม่ต้องแปลกใจที่แพทย์แต่ละคนต้องตรวจอาการคนไข้เฉลี่ยวันละ 200 ราย!

 

ครั้นเมื่อกฎหมายกฎระเบียบของอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์จีนได้รับการผ่อนคลาย ผู้ประกอบการต่างเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่รออยู่ เราจึงเห็นการลงทุนของกิจการเฮลธ์แคร์ ทั้งกิจการภายในและต่างประเทศ ขยายตัวอย่างรวดเร็วในจีน ทำให้รัฐบาลจีนต้องเร่งพัฒนากำลังคนในสาขาด้านนี้ เพื่อให้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงคุณภาพ

 

นอกเหนือจากการจัดระเบียบและพัฒนาระบบนิเวศที่ครบวงจร จีนยังพยายาม “เปลี่ยนเกม” ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเฮลธ์แคร์ด้านดิจิตัล เราเห็นกิจการเหล่านี้พยายามปรับระบบและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตัลของจีนที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้บริการเฮลธ์แคร์ของจีนดูทันสมัยและมีมาตรฐานอย่างมากในระยะหลัง

 

จีนอาจเป็นผู้ตามด้านระบบโทรคมนาคมในยุค 2G-4G แต่สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่นำร่องใช้ระบบ 5G นับแต่ปลายปี 2018 ณ เซี่ยงไฮ้ และเปิดให้ใช้บริการในเชิงพาณิชย์ในราวหนึ่งปีต่อมา กอปรกับความเก่งกาจของกิจการเอกชนของจีน ทำให้อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ของจีนเติบใหญ่ในตลาดภายในประเทศและก้าวสู่เวทีโลก 

 

หากเรามองดูวงการดิจิตัลของจีนก็อาจนึกถึง Baidu-Alibaba-Tencent หรือ “BAT” ว่าเป็นผู้เล่นหลักของจีน แต่ในวงการเฮลธ์แคร์ของจีนก็มี PingAn-Alibaba-Tencent หรือ “PAT” เป็นพี่เบิ้มอยู่ ซึ่งสะท้อนว่าผู้นำด้านดิจิตัลของจีนได้ขยายธุรกิจสู่ด้านเฮลธ์แคร์ และนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบและเป็นระบบดิจิตัลมากขึ้น ซึ่งช่วยให้บริการรักษาพยาบาลมีคุณภาพดี ถ้วนหน้า และเฉพาะตัวอย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้ ในระยะหลัง ผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง JD.com และสตาร์ทอัพหน้าใหม่จำนวนมาก ก็นำเอาความสามารถและความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิตัลในการเข้าถึงผู้บริโภคและโลจิสติกส์ มาป่วนตลาดที่อยู่ในรูปแบบเดิม

 

หลายผลการวิจัยในช่วง 2-3 ที่ผ่านมาต่างยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า จีนมีบทบาทนำในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ในด้านเฮลธ์แคร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้เฮลธ์แคร์โดยรวมของจีนสามารถแบ่งปันทรัพยากรและความเชี่ยวชาญเพื่อจัดหาบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพในต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง
 

เทเลเฮลธ์ (Telehealth) และ เทเลเมดิซิน (Telemedicine) ได้ช่วยให้คนไข้และญาติพี่น้องประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจากพื้นที่ห่างไกลไปยังโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น กลางดึก มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรือหิมะตกหนัก 

 

การเห็นหน้าตาและได้ยินเสียงของแพทย์และคนไข้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ งานวิจัยหนึ่งระบุว่า ในกรณีของโรคทั่วไปที่ไม่ฉุกเฉิน คนไข้และญาติพี่น้องชาวจีนต้องการสื่อสารทางไกลกับแพทย์ในสัดส่วน 44% เทียบกับค่าเฉลี่ยของนานาชาติที่ 27% 

 

นอกจากนี้ ระบบบริการ “ทางไกล” ยังเปิดโอกาสให้แพทย์ได้สังเกตอาการของคนไข้ผ่านใบหน้าและน้ำเสียง ซึ่งเป็นผลดีต่อการวินิจฉัยโรค ขณะที่คนไข้และญาติก็ได้สอบถามและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจากแพทย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เสมือนไปพบแพทย์ซึ่งหน้า

 

จีนยังเก่งในการดึงเอาพันธมิตรมาร่วมมือการพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ที่ดี ยกตัวอย่างเช่น โรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงอันดับต้นๆ ของจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกือบ 70% ของคนไข้โรคนี้ถูกตรวจพบและรักษาในระยะสุดท้าย ซึ่งอัตราการอยู่มีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีมีไม่ถึง 5%! 

 

แน่นอนว่า คนไข้จะได้รับประโยชน์อย่างมากหากได้รับการตรวจสอบอาการแต่เนิ่นๆ ผ่านเครื่องซีทีสแกน (CT Scan) และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยอื่น อย่างไรก็ดี เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากร และเทคโนโลยีทางการแพทย์ของจีนที่เกี่ยวข้องก็ยังมีการกระจุกตัวอยู่มาก ซึ่งทำให้หลายสิ่งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้

 

ในปี 2018 ฟิลิปส์ (Philips) หนึ่งในกิจการต่างชาติรายแรกๆ ที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิตัลเข้าจีน ก็ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับดิจิตัลเฮลธ์จีน (Digital Health China) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดูแลสุขภาพผ่านคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนในขณะนั้น ผ่านแพล็ตฟอร์มรังสีวิทยาทางไกล (Tele-Radiology Platform) ระบบดังกล่าวช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและบริการรักษาคนไข้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทางไกลได้ 

 

โมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์และเข้ากับปัจจัยแวดล้อมของจีนก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของระบบเหล่านี้ โมเดลธุรกิจดั้งเดิมต้องการให้โรงพยาบาลใส่เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากล่วงหน้า แต่โมเดลธุรกิจใหม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่อการใช้งานในแต่ละครั้ง ทำให้โรงพยาบาลลดข้อจำกัดด้านงบประมาณไปเป็นอันมาก และยังช่วยให้โรงพยาบาลขนาดเล็กสามารถรับเอาระบบดังกล่าวมาให้บริการแก่คนไข้ได้อีกด้วย

 

ประการสำคัญ รัฐบาลจีนก็สนับสนุนให้บริการเฮลธ์แคร์ทางไกลเหล่านี้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนชาวจีนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดให้บริการดังกล่าวเข้าร่วมในโครงการประกันสังคมอีกด้วย ซึ่งช่วยขจัดปัญหาความยากจนด้วยสวัสดิการสังคมที่มีอยู่ได้อย่างแท้จริง

 

จีนยังมีนวัตกรรมของสินค้าและบริการ โมเดลธุรกิจ และอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่คงต้องติดตามตอนหน้านะครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,740 วันที่ 16-18 ธันวาคม พ.ศ. 2564