คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (จบ)

17 พ.ย. 2564 | 08:51 น.

คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขันยังกำหนดให้ผู้ที่มาจากต่างประเทศ เดินทางออกจากจีนภายใน 24-48 ชั่วโมง ภายหลังการแข่งขันสิ้นสุดลง ส่วนในกรณีของนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องของจีน ก็ถูกกำหนดให้ต้องกักตัวต่ออีก 3 สัปดาห์ก่อนที่จะกลับเข้าสู่พื้นที่สาธารณะของจีน Bottom of Form

 

ดังนั้น ผมจึงประเมินว่า ในชั้นนี้ รัฐบาลจีนจะรอให้การแข่งขันกีฬาฯ สิ้นสุดลงแล้ว จึงจะพิจารณาเปิดด่าน ซึ่งเท่ากับว่าเงื่อนเวลาที่จะปลดล็อกอย่างเร็วที่สุด ก็น่าจะเป็นหลังเดือนเมษายน 2022 เป็นต้นไป 

คำถามถัดมาก็คือ หากพ้นการจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวแล้ว จีนยังไม่เปิดอีก ก็อาจเป็นเพราะจีนต้องคำนึงถึงงานใหญ่อีก 2 งานที่รออยู่ ซึ่งก็ดูจะเป็นด่านที่หินไม่แพ้กัน  

 

งานแรกได้แก่ การเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย อาจดีหน่อยที่งานนี้จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่พื้นที่ย่านนั้นมีอากาศอบอุ่น-เย็นสบาย และสถานการณ์การฉีดวัคซีนของคนจีนก็คงทะลุเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ หากโชคดีก็อาจมียารักษาโรคออกมาใช้กันแล้ว    

ขณะที่งานหลังเป็นการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนในต้นเดือนพฤศจิกายน โดยที่จีนยึดถือหลักว่า “การเมืองนำเศรษฐกิจ” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมจึงคิดว่า รัฐบาลจีนคงไม่ต้องการเห็นการประชุมดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง อันเนื่องจากการเกิดวิกฤติโควิด-22 ในช่วงเวลานั้นเป็นแน่ 

 

แถมการประชุมใหญ่ในครั้งนี้จะมีวาระการประชุมที่สำคัญยิ่ง อันได้แก่ การรับรองรายชื่อคณะผู้บริหารระดับสูงชุดใหม่ ซึ่งคาดว่า สี จิ้นผิง จะอยู่ในตำแหน่งเป็นเทอมที่ 3 ติดต่อกัน กอปรกับเงื่อนเวลาของงานใหญ่ทั้งสองที่อยู่ใกล้กัน จึงทำให้งานหลังเป็นเสมือนเงื่อนไขภาคบังคับที่จีนต้องพิจารณาให้ความสำคัญไปโดยปริยาย  

                                               คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (จบ)

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเงื่อนเวลาของสองงานหลังจะทอดยาวออกไปอีกราวเกือบ 1 ปีนับจากนี้ ก็มีหลายตัวแปรสำคัญที่อาจเกิดขึ้น ในเชิงบวก ระดับการฉีดวัคซีนของคนจีนครบโดสและเข็มบูสเตอร์ในจีนก็คาดว่าจะทะลุ 85% ของจำนวนประชากรโดยรวมไปแล้ว  

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนอาจต้องประเมินสถานการณ์ในอนาคตก่อนการตัดสินใจใดๆ อาทิ การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ประสิทธิภาพของวัคซีน และ ยารักษาโรค ระดับการติดเชื้อของต่างประเทศ และ ความแม่นยำในการตรวจเชื้อก่อนเข้าจีน ซึ่งหากตัวแปรเหล่านี้ไม่เป็นใจ การปลดล็อกและการลดเงื่อนเวลาการกักตัวคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก็จะเกิดขึ้นอย่างเร็วสุดในช่วงสิ้นปี 2022 เลยทีเดียว

 

หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง ผมก็เชื่อมั่นว่า ผู้นำจีนจะไม่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจใดๆ ในต่างประเทศจนกว่าการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนในเดือนพฤศจิกายนสิ้นสุดลง  
 

 

ในประเด็นนักเรียนนักศึกษาต่างชาติ จากสถิติในปี 2019 ระบุว่า สถาบันการศึกษาในจีนมีชาวต่างชาติเข้าไปศึกษาต่อรวมเกือบ 500,000 คน และเมื่อจีนประสบวิกฤติโควิด-19 นักเรียนนักศึกษาต่างชาติก็ทยอยเดินทางกลับประเทศนับแต่ต้นปี 2020 โดยเกือบทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติใดกลับเข้าไปจีนอีก ยกเว้น เกาหลีใต้ และ คนที่เรียนในบางโปรแกรมที่ร่วมมือกับต่างประเทศ  
 

 

ประเด็นที่จีนเปิดให้นักเรียนนักศึกษาของบางชาติและบางโครงการกลับเข้าไปเรียนในจีนได้ดังกล่าว ก็ทำให้หลายประเทศไม่พอใจอย่างมาก เพราะรู้สึกว่ามีการเลือกปฏิบัติ หรือสองมาตรฐาน ถึงขนาดมีกระแสเรียกร้องจากหลายประเทศ ขอให้จีนพิจารณาทบทวนและปฏิบัติกับนักเรียนนักศึกษาต่างชาติอย่างเข้าอกเข้าใจ เสมอภาค และโปร่งใส รวมทั้งสื่อสารอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมามากขึ้น
 

 

ผมคิดว่า จีนเองก็อาจรู้สึกว่า การเปิดไฟเขียวแก่นักศึกษาต่างชาติบางกลุ่มดังกล่าว เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ด้วยสถานการณ์ที่พลิกผัน และเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องปิดด่านเข้าออกประเทศในเวลาต่อมา 
 

 

ในมุมมองของผมแล้ว การเปิดไฟเขียวให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติกลับเข้าไปจีน มีระดับความสำคัญต่ำในมุมมองของรัฐบาลจีน ดังนั้น หากสถานการณ์โควิด-19 ในจีนและต่างประเทศยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” อยู่เช่นนี้ ผมคาดว่า รัฐบาลจีนจะไม่อนุมัติ “วีซ่านักเรียน” แก่ชาวต่างชาติยาวไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2022 เป็นอย่างน้อย  

 

ในกรณีของนักเรียนนักศึกษา ภาคการศึกษาก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จีนใช้ประกอบการพิจารณา ผมคิดว่า จีนคงอยากให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติกลับมาเรียนแบบ “ออนไซต์” อย่างพร้อมเพรียงกันนับแต่ช่วงต้นภาคการศึกษา ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังการเปิดด่านระยะเวลาหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นักเรียนนักศึกษาต่างชาติคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพิ่มเติมก่อนที่จะลงทะเบียนเรียนได้ในภาคการศึกษาถัดไป

 

ดูท่าว่าโอกาสที่เราจะเห็นคนจีนเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยเป็นหมู่คณะ และนักเรียนนักศึกษาไทยกลับไปเรียนที่จีนได้ จะเป็นหนังเรื่องยาวซะแล้วครับ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,732 วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564