คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (2)

12 พ.ย. 2564 | 23:09 น.

คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หากเราย้อนกลับไปดูตัวเลขในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนรวมเกือบ 40 ล้านคน-ครั้งต่อปี โดยในจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวจีนถึงราว 10 ล้านคน-ครั้ง จีนจึงถือเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดความคาดหวังดังกล่าวขึ้น

 

แต่ทำไมผมจึงเน้นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับ “คณะนักท่องเที่ยว” ก็เพราะในบรรดาจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดที่มาไทย ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาเป็นหมู่คณะ นี่จึงเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ที่กิจการที่เกี่ยวข้องในไทยรอคอยอยู่

จากคำบอกเล่าของคนในวงการทัวร์ไทย-จีน พบว่า ในการจัดทริปพาคนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเป็นหมู่คณะนั้น บริษัททัวร์ของจีนต้องนำเสนอข้อมูลของคณะนักท่องเที่ยวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนเพื่อประทับตราให้ความเห็นชอบ ซึ่งในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานจีนระงับการรับพิจารณาเรื่องนี้ และยังไม่อนุมัติการออกหนังสือเดินทางใหม่ หรือไม่รับต่ออายุหนังสือเดินทางที่หมดอายุของคนทั่วไปอีกด้วย

 

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา คนจีนส่วนใหญ่ที่เดินทางไปต่างประเทศจึงเป็นผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่ทางการทูตและภาครัฐ นักธุรกิจ และพนักงานของกิจการเอกชน ที่มีภารกิจสำคัญผูกพันไว้ก่อนหน้านี้ โดยในกรณีหลัง บริษัทต้นสังกัดต้องออกหนังสือรับรองการไปปฏิบัติงานในต่างประเทศเพื่อประกอบการพิจารณา

หากเรามองข้ามช็อตไปยังปีหน้า หากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ยังไม่ส่งสัญญาณเชิงบวกอย่างชัดเจน รัฐบาลจีนก็อาจต้อง “ปรับแผน” และเตรียมความพร้อมในหลายด้านอีกด้วย อาทิ การจำกัดจุดและขั้นตอนปฏิบัติในการกักตัวผู้เดินทางเข้าจีน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการลงทุนก่อสร้างศูนย์กักกันกลางขนาดถึง 5,000 ห้องขึ้นที่นครกวางโจว มณฑลกวางตุ้งด้วยเม็ดเงินถึง 260 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา

 

ประการสำคัญ จีนยังอีกหลายตัวแปรที่ต้องประกอบการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จีนจะมีหลายงานใหญ่รออยู่ในปีหน้า เริ่มจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ณ กรุงปักกิ่ง กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในเดือนกันยายน ณ นครหังโจว และการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีวาระสำคัญยิ่งบรรจุอยู่

                                         คนจีนจะมาท่องเที่ยวเมืองไทยกันได้เมื่อไหร่ (2)

สำหรับการฝ่า “ด่านแรก” เพื่อหวังให้จีนเปิดก่อน Beijing 2022 คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการเป็นเจ้าภาพ Beijing 2022 ในครั้งนี้ จนผู้คนต่างเปรยกันว่า ในห้วงนี้ “จีนยอมยกเลิกทุกกิจกรรมเพื่อ Beijing 2022”

 

ภายหลังการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติจีนครั้งที่ 14 (The 14th National Games of China) ระหว่างวันที่ 15-27 กันยายน ที่ผ่านมา ณ นครซีอาน สิ้นสุดลง จีนก็ทยอยประกาศยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬาสำคัญมาโดยลำดับ ทั้งที่หลายงานถูกวางแผนที่จะใช้ในการสร้างกระแสความสนใจต่อการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว

 

ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันสเก็ตลีลา “China Cup” สนามที่ 3 ของ ISU กรังปรีซ์ ซึ่งเดิมกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 4-7 พฤศจิกายน 2021 ณ นครฉงชิ่ง หรือการแข่งขันสเก็ตและการเต้นรำน้ำแข็ง “The Four Continents Championships” ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 17-22 มกราคม 2022 ณ นครเทียนจิน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งราว 150 กิโลเมตร รวมทั้งการย้ายทัวร์นาเม้นท์การแข่งขันเทนนิสหญิงอาชีพรอบสุดท้าย (Women’s Professional Tennis Tour Finals) ที่จะจัดในเดือนพฤศจิกายน 2022 จากเมืองเซินเจิ้น ไปยังเมืองกัวดาลาฮารา เม็กซิโก

 

และเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้กำหนดเงื่อนไขการเดินทางเข้าชมการแข่งขันไว้อย่างเข้มข้น โดยสรุปก็คือ จีนจะไม่อนุมัติวีซ่าแก่คนทั่วไปที่เดินทางจากต่างประเทศไปชมการแข่งขันกีฬาดังกล่าว งานนี้ผู้เชียร์กีฬาเกือบทั้งหมดคงเป็นคนจีน โดยผู้ชมต้องฉีดวัคซีนครบสองโดส และตรวจเชื้อได้ผลเป็นลบก่อนการแข่งขันภายใน 72 ชั่วโมง

 

อย่างไรก็ดี จีนยังกำหนดเงื่อนไขอย่างเปิดกว้างให้แก่นักกีฬา เจ้าหน้าที่ และกรรมการต่างชาติ โดยคนกลุ่มนี้ต้องฉีดวัคซีนครบสองโดส ตามที่องค์การอนามัยโลก หรือ องค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ในกรณีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบสองโดส ก็ต้องโดนกักตัวในสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลา 21 วันนับแต่วันที่เดินทางเข้าจีน 

 

หลังจากนั้น คนเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลอย่างเข้มงวดภายใต้ระบบการจัดการแบบปิด (Closed-Loop Management System) ที่ไม่อนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ หรือ สัมผัสกับบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง และทดสอบการติดเชื้อทุกวัน เป็นต้น

 

เงื่อนไขในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ก็จะถูกใช้กับสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ ซึ่งจะถูกกำหนดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกประจำตลอดงาน เช่น โรงแรม รถบัส และ ห้องแถลงข่าว โดยต้องแยกพื้นที่จากสาธารณชน และแยกส่วนออกจากกันในแต่ละพื้นที่สนามแข่งขันทั้งสามส่วน (ปักกิ่ง เหยี่ยนชิ่ง และจางเจียโค่ว)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,731 วันที่ 14 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564