“จีน”เรียกร้องประเทศใน"เอเชีย-ยุโรป"เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสู้โควิด-19

29 พ.ย. 2564 | 05:19 น.

“จีน”เรียกร้องประเทศในเอเชีย-ยุโรปเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยยึดมั่นในแนวทางที่ถูกต้อง หากมีปัญหาทุกประเทศควรยึดมั่นในกลไกพหุภาคี ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศ

วันนี้ (29 พ.ย.64) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ ๑๓ เมื่อช่วงค่ำวันที่ ๒๖ พ.ย.๖๔ ผ่านระบบทางไกลจากมหาศาลาประชาชน (ในกรุงปักกิ่ง) และกล่าวสุนทรพจน์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำของประเทศต่างๆ ในประเด็นระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค โดยมีสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า การประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรปเป็นเวทีการประชุมระหว่างรัฐบาลใหญ่ที่สุดระหว่างเอเชีย-ยุโรป โดยมีสมาชิก ๕๓ ราย (๕๑ ประเทศและ ๒ องค์กร) ซึ่งมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนเกือบ ๖๐% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก และการค้าคิดเป็นเกือบ ๗๐% ของโลก จึงมีบทบาทสำคัญต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

ขณะนี้ ประเทศในเอเชียและยุโรปกำลังเผชิญกับความท้าทายในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และประเด็นการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศจำต้องยึดมั่นในแนวทางที่ถูกต้อง คือ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือ

 

ในขณะที่มีความมั่นใจและความกล้าหาญที่จะเอาชนะความยากลำบาก ทุกประเทศต้องรักษาการค้าเสรี รักษาห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานของโลกให้มีเสถียรภาพและปราศจากอุปสรรค ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตามที่กำหนดในปีหน้า และจะเป็นแรงผลักดันใหม่สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค 

นายหลี่ เค่อเฉียง ชี้ว่า ประเทศในเอเชียและยุโรปมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ การมีความเห็นต่างกันในบางประเด็นจึงเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทุกฝ่ายต้องเคารพซึ่งกันและกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง 
ต้องมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการรักษาระบบระหว่างประเทศที่มีองค์การสหประชาชาติเป็นแกนหลัก รวมทั้งระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และบรรทัดฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ 

 

เมื่อต้องรับมือกับปัญหาเร่งด่วนระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ทุกประเทศควรยึดมั่นในกลไกพหุภาคี แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น 
 บทสรุป  นายหลี่ เค่อเฉียง เน้นย้ำว่า ด้วยความพยายามร่วมกันของประเทศในเอเชียและยุโรป ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากแต่ยังสามารถบรรลุการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ รวมทั้งการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในเอเชีย ยุโรป และทั่วโลก
 
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://kz.china-embassy.org/gyzg/202111/t20211127_10454278.htm )