สถานการณ์ไต้หวัน การฝึก Cobra Gold และการถ่วงดุลอำนาจทางทหารของไทย

08 ก.ย. 2564 | 04:48 น.

สถานการณ์ไต้หวัน การฝึก Cobra Gold และการถ่วงดุลอำนาจทางทหารของไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,712 หน้า 5 วันที่ 9 - 11 กันยายน 2564

สงครามคือสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น และเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม การฝึกร่วม/ผสมทางการทหาร (Military Exercise) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ปฏิบัติการเหล่านี้ในการถ่วงดุลมหาอำนาจที่มักจะเล่นเกมอำนาจในระดับภูมิภาค

 

หลังจากการถอนทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถาน ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตาสนใจ สถานการณ์ไต้หวันและทะเลจีนใต้  เพิ่มมากยิ่งขึ้น จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั่วโลกจับจ้องสถานการณ์นี้ เริ่มจากการแถลงของ Navy Adm. Philip Davidson อดีตผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ (USINDOPACOM, 2018-2021) ต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่า “เห็นได้ชัดว่าไต้หวันเป็นหนึ่งในความทะเยอทะยานของพวกเขา [หมายถึง สาธารณรัฐประชาชนจีน, ผู้เขียน] ... และผมคิดว่าภัยคุกคามดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นในช่วงทศวรรษนี้ อันที่จริง ในอีก 6 ปีข้างหน้า” [1]

 

และคำกล่าวนี้ได้รับการยืนยันว่ามีความเห็นสอดคล้องพ้องกันโดย Navy Adm. John  Aquilino ผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 คนปัจจุบันที่แถลงต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐ (Senate Armed Services Committee) ว่า “ปัญหานี้อยู่ใกล้เรามากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด... วันนี้เราควรเตรียมตัวให้พร้อม” [2]

 

และหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่สหรัฐและสหประชาชาติเองก็ยอมรับในนโยบายจีนเดียว ซึ่งหมายความว่า ช่องแคบไต้หวันจะเป็น “น่านนํ้าภายใน (Internal Water)” ของจีน

 

แต่สหรัฐตลอดปี 2021 ที่ผ่านมาก็นำเรือรบของสหรัฐมาผ่านช่องแคบนี้แล้วอย่างน้อย 7 ครั้ง โดยไม่ได้มีการขออนุญาตทางการจีน ซึ่งถือเป็น การยั่วยุ ประกอบกับที่ ในรายงาน U.S. military operations in the South China Sea ของ The Institute for National Defense and Security Research (INDSR) ของไต้หวันเองก็พิจารณาว่า “สหรัฐฯ ได้ดำเนินการเดินเรือที่ผิดปกติ (irregular naval voyages) …  ในพื้นที่ “สองแนว หนึ่งแถบ” ของทะเลจีนใต้” [3]

 

ดังนั้นความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างจีน และสหรัฐ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

คำถามสำคัญ คือ หากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้เส้นทางการเดินเรือที่สำคัญที่สุดในโลกในทะเลจีนใต้นี้ ไม่สามารถใช้งานในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะพลังงาน ระหว่างประเทศได้ ใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

จากการศึกษาของ Coşar และ Thomas (2020) โดยใช้แบบจำลอง Geographic Information System (GIS) รวมกับแบบจำลอง Computable General Equlibrium Model (CGE) ทดสอบสมมติฐานหากไม่สามารถเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้และหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซีย แต่ต้องใช้เส้นทางการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดีย อ้อมไปยังทวีปออสเตรเลียก่อนจะตัดเส้นทางกลับเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและสมมติให้ท่าเรือในกัมพูชา, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ไทย และ เวียดนาม ถูกปิด

 

สถานการณ์ไต้หวัน การฝึก Cobra Gold และการถ่วงดุลอำนาจทางทหารของไทย

 

งานศึกษาชิ้นนี้พบว่า ระดับสวัสดิการสังคม (ความพึงพอใจของประชาชน) ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จะปรับตัวลดลงระหว่าง 6.2% - 12.4%

 

โดยประเทศไทยจะมีระดับสวัสดิการสังคมลดลงในระหว่าง 9.15% - 20.97% ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 รองจาก ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และ เวียดนาม และพบว่าประเทศในกลุ่มนี้จะเผชิญกับการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศแท้จริง (Real GDP) โดยประเทศที่มีงบประมาณรายจ่ายทางทหารสูง จะยิ่งมีค่า GDP แท้จริงลดลงมากยิ่งขึ้น  [4]

 

คำถามสำคัญ คือ หาก ปฏิบัติการทางการทหารเหล่านี้เกิดขึ้นกองทัพไทย พร้อมรับกับสถานการณ์นี้หรือไม่ผมค่อนข้างโชคดี ที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนายทหารระดับสูงที่ทำงานในหน่วยงานวิจัย คลังสมองเสนาธิการ และวิทยาลัยต่างๆ ของกองทัพอยู่เสมอๆ จึงทำให้พอเข้าใจและรับรู้มาตลอดว่า กองทัพของเรามีการเตรียมพร้อม ศึกษา และวางยุทธศาสตร์ ในเรื่องเหล่านี้อย่างรอบคอบรัดกุมอยู่ตลอดเวลา

 

สำหรับท่านที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารของกองทัพอย่างใกล้ชิด อาจกังวล เพราะเห็นข่าวบางด้าน เช่น ตั้งแต่รัฐประหารในปี 2014 กองทัพสหรัฐลดความสัมพันธ์กับกองทัพไทย ไทยซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นจากจีน อินเดียให้เรือดำนํ้ากองทัพเมียนมาไปใช้ฟรีๆ หรือ ล่าสุดไทยฝึกร่วม/ผสมทางการทหาร Cobra Gold ร่วมกับสหรัฐ ครบรอบ 40 ปี ซึ่งถือเป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ฯลฯ

 

ตกลงไทยเลือกข้างหรือไม่ แล้วถ้าเลือกข้าง เราเลือกข้างไหนสหรัฐ หรือ จีน ถ้าเลือกสหรัฐ แต่จีนอยู่ใกล้บ้าน จะต้องห่วงกังวลหรือไม่

 

คำตอบคือ ประเทศไทยดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบครับในการ Hedging หรือ ถ่วงดุลระหว่างมหา อำนาจ ให้สังเกตพิจารณา เราจะเห็นชัดเจนว่า ในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของไทย เราจะเลือกซื้อจากหลากหลายประเทศ กระจายตัวเพื่อลดการพึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเป็นพิเศษ (สำคัญคือต้องเชื่อมโยงระบบที่มาจากต่างที่ต่างถิ่นให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นระบบเดียวได้)

 

และในการฝึกร่วมทางการทหาร (Military Exercise) แน่นอนว่า Cobra Gold คือ การฝึกที่คลอบคลุม ยิ่งใหญ่ และต่อเนื่องมา ยาวนานระหว่างไทย สหรัฐ และพันธมิตร แต่กับมหาอำนาจด้านการทหารรอบบ้านเรา กองทัพไทยก็มีการฝึกร่วมกับกองทัพประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2005-2019

 

กองทัพไทยฝึกร่วมกับกองทัพจีนแบบทวิภาคีไปแล้ว 13 ครั้ง แบบพหุพาคี 14 ครั้ง ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการรับมือภัยก่อการร้าย การรบทางอากาศ การรบทางทะเล การเก็บกู้กับระเบิด และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และในวันที่ 6-15 กันยายนนี้ ก็จะมีการฝึกร่วมระหว่างไทย จีน ปากีสถาน และ มองโกเลีย ในชื่อ Shared Destiny 2021 ที่เน้นการฝึกตามหลักการของสหประชาชาติในการรักษาสันติภาพ

 

หรือกับกองทัพอินเดีย อีกหนึ่งพี่ใหญ่ในภูมิภาค เรามีการฝึกร่วม “MAITREE (ไมตรี)” อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2006 เน้นการต่อต้านภัยผู้ก่อการร้าย และมีการฝึกลาดตระเวนทางทะเลร่วมกันระหว่างไทย และอินเดีย ปีละ 2 ครั้งมาตั้งแต่ปี 2005 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วมากกว่า 31 ครั้ง โดยเน้นการรักษาแนวชายแดนทางทะเลในอ่าวเบงกอล ป้องกันและกดดันไม่ให้เกิดการประมงผิดกฎหมาย(IUU) การค้าสินค้าผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์ และยังมีการฝึกร่วมที่เรียกว่า SITMEX ร่วมกันระหว่างสิงคโปร์อินเดีย และไทย

 

ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่า นโยบายการต่างประเทศด้านกลาโหมของไทย ทำได้ดีมาก โดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์ในการถ่วงดุลอำนาจ (Strategic Hedging) ระหว่างมหาอำนาจทางการทหารสำคัญในระดับโลก 3 ประเทศ นั่นคือ สหรัฐฯ จีน และอินเดีย 

 

เอกสารอ้างอิง

[1] Suliman A. (2021) China could invade Taiwan in the next 6 years, assume global leadership role, U.S. admiral warns. NBC News. March 10, 2021, 10:28 PM CST. https://www.nbcnews.com/news/world/china-could-invade-taiwan-next-6-years-assume-global-leadership-n1260386

[2] Lendon B. (2021) Chinese threat to Taiwan ‘closer to us than most think,’ top US admiral says. CNN News. March 25, 2021. https://edition.cnn.com/2021/03/24/asia/indo- pacific-commander-aquilino-hearing-taiwan-intl-hnk-ml/index.html

[3] Chen K. (2021) Taiwan scholar reveals extent of US military operations in South China Sea: Military analyst recommends US continue monitoring regional Chinese military activities. Taiwan News. 2021/08/30 13:04. https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4279069

[4] Coşar K. and Thomas B.D. (2020) The Geopolitics of International Trade in Southeast Asia. Nber Working Paper Series. National Bureau Of Economic Research. Working Paper 28048. http://www.nber.org/papers/w28048