ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (10) พลังงานทดแทน

15 ส.ค. 2564 | 07:50 น.

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (10) พลังงานทดแทน : คอลัมน์เศรษฐทัศน์ โดย รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,705 หน้า 5 วันที่ 15 - 18 สิงหาคม 2564

บทความตอนนี้จะเป็นการปิดท้ายการสรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงพลังงานซึ่งบทความในตอนก่อนๆ นี้ได้อธิบายถึงสถานการณ์ เป้าหมาย และโอกาสการพัฒนาวัตถุดิบต่างๆ เพื่อใช้ผลิตพลังงานให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

1. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

 

เมื่อมีการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นในอนาคตก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องรองรับ ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้ารายสถานีไฟฟ้า ความสามารถของสายส่งในการรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนรายสถานีไฟฟ้า การจัดลำดับการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐบาล

 

จากข้อมูลเป้าหมายในระยะใกล้ (2563-2564) สรุปเป้าหมายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะรับซื้อสะสมรวม 1,933 เมกะวัตต์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (10)  พลังงานทดแทน

 

ในขณะที่ เมื่อมองตั้งแต่ปี 2561-2580 กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายใหม่ของกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจากโรงงานทุกประเภท ให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังข้อมูลสรุปไว้ดังนี้

 

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (10)  พลังงานทดแทน

 

จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดเป้าหมายว่า กำลังการผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าของประเทศจะมีขนาดเพิ่มขึ้นมากในอนาคต และมีความคาดหวังว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศในปี 2579 จะมีระดับถึง 20.11%

 

ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในระยะต่อไปนั้น ต้องพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในรูปแบบที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง และแบบที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง เนื่องจากบางพื้นที่อาจอยู่ห่างไกลจากระบบสายส่ง จึงควรพัฒนาระบบที่เหมาะสม เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อจัดทำระบบประจุแบตเตอรี่ ระบบสูบนํ้า ระบบมินิกริด (Mini Grid) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานนํ้าขนาดเล็กมาก เป็นต้น

 

2. การผลิตความร้อน

 

จากข้อมูลในปี 2561 ชีวมวลถูกนำมาใช้ผลิตความร้อนมากที่สุดถึง 90% ของการผลิตพลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนทั้งหมด ทั้งนี้ 50% ของชีวมวลจากชานอ้อยในอุตสาหกรรม นํ้าตาล ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานความร้อนจากก๊าซชีวภาพ ขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์

 

โดยในปี 2579 เดิมคาดการณ์ว่าปริมาณความร้อนจากชีวมวลต่างๆ ดังกล่าว มีขนาด 25,088 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ ในขณะที่พลังงานความร้อนที่ต้องการประมาณการไว้ว่า มีระดับ 68,414 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบหรือคิดเป็น 36.67%

 

สำหรับในอนาคตจนถึงปี 2579 (ใหม่) ควรส่งเสริมการผลิตความร้อนรองรับความต้องการใช้พลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทนเพื่อผลิตความร้อนซึ่งเพิ่มขึ้นด้วยในระหว่างทาง และควรเพิ่มให้อัตราส่วนความร้อนจากพลังงานทดแทนต่อพลังงานความร้อนที่ต้องการเพิ่มขึ้น 41.61% โดยการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีแนวทางดังต่อไปนี้

 

• การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อบแห้งทั้งในระดับอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็กและครัวเรือน

 

• การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวล

 

• การส่งเสริมระบบบ่อเลี้ยงปลาพลังงานแสงอาทิตย์

 

• การส่งเสริมการผลิตชีวมวลจากไม้โตเร็วเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล

 

• การส่งเสริม การผลิตการใช้ก๊าซชีวภาพจากนํ้าเสียและของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็ก

 

3. การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

 

การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขนส่งนั้น ในอดีตถูกมองว่ามีประโยชน์เนื่องจากนํ้ามันปิโตรเลียมมีจำนวนจำกัด การหันมาใช้เชื้อเพลิงจากพืชนํ้ามันไปผลิตเป็นเอทานอลแอลกอฮอร์และเป็นส่วนผสมในนํ้ามันเชื้อเพลิงขนส่ง จะเป็นทางออกหนึ่งแก้ไขความมีจำกัดของเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น 

 

อีกทั้งการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นส่วนผสมก็มีความแพร่หลาย จนมีพระราชบัญญัติกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562 กำหนดไม่ให้ใช้เงินกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคานํ้ามันที่มีเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นส่วนผสม

 

จากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ความต้องการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งลดลง การกำหนดเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจึงมีระดับลดลง โดยมีการปรับเป้าหมายดังนี้

 

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (10)  พลังงานทดแทน

 

• ปรับลดเป้าหมายการใช้เอทานอลจากเดิม 11.30 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 7.50 ล้านลิตรต่อวันในปี 2580

 

• ปรับลดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลจาก 14.00 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 8.00 ล้านลิตรต่อวันในปี 2580

 

• ยกเลิกเป้าหมายการผลิตไบโอมีเทนอัดในภาคขนส่ง

 

ประโยชน์ของการผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทน

 

การผลักดันให้มีการพัฒนาการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกนั้นมีประโยชน์อยู่หลายมิติ ได้แก่

 

• ด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ช่วยลดเงินตราต่างประเทศที่ต้องสูญเสียไป นอกจากนี้ยังเป็นการนำศักยภาพพลังงานธรรมชาติในประเทศมาเปลี่ยนเป็นพลังงานใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากวัสดุ ขยะของเสียมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน เกิดการลงทุนในโครงการด้านพลังงานในขนาดต่างๆ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

• ด้านสังคม การพัฒนาพลังงานในพื้นที่ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีพลังงานใช้เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และประหยัดค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรที่ใช้พลังงานที่ผลิตได้เอง เป็นต้น

 

• ด้านพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจะเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศเกิดองค์ความรู้และนำไปสู่การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานต่อไป

 

• ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การนำขยะ ของเสีย นํ้าเสียและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่องโดยไม่เกิดของเสีย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน