2 ยักษ์จีน-อเมริกา ปลุกเศรษฐกิจโลก อานิสงส์ไทย 4 ด้าน ลุ้นส่งออกโต 10%

08 ก.ค. 2564 | 01:29 น.

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิเคราะห์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ในระลอกที่ 4 ขณะที่อีกฟากฝั่งของโลก สหรัฐฯและจีน 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก สามารถคุมโควิดได้ดี อานิงส์ครั้งนี้จะตกกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ในขณะที่ทั่วโลกยังอยู่ในอาการสะพรึงกับการแพร่ระบาดของเจ้าวายร้ายไวรัสโควิด-19 มานานนับปี หลายประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจเดินหน้าบริหารจัดการต้านโรคร้ายจนเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่อีกหลายประเทศยังไม่สามารถควบคลุมได้ทั้งในแง่การเร่งตรวจคัดกรอง และการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะประเทศไทย ความเคลื่อนไหวดังกล่าว รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศไว้อย่างน่าสนใจ 

รศ.ดร.สมภพ เปิดประเด็นด้วยข่าวดีที่ภาพรวมเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปีนี้คาดจะยังเป็นไปตามเป้าจีดีพีโต 8.4-8.5%  ขณะที่จีดีพีโลกเติบโต 6% ถือว่าเติบโตมากถ้าเทียบจากที่โลกเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิดเมื่อปี 2563 ที่จีดีพีโลกติดลบที่ 4.3 % 

สัญญาณบวกศก.โลกมาแล้ว 

ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวก เนื่องจากการค้าต่างประเทศของจีนจะเป็นตัวนำที่ทำให้โลกฟื้นตัว  ขณะนี้จีนและสหรัฐอเมริกาทำให้การค้าต่างประเทศขยายตัว 40-50% ดังนั้น 2 ชาตินี้ จะทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มาจากการค้า การส่งออกและการนำเข้า  ซึ่งจีนและอเมริกาค้าขายร่วมกันต่อปีมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (15.5 ล้านล้านบาท) 

มองว่าการขยับตัวไปในทิศทางบวกของจีนและอเมริกานั้น  ไทยจะได้รับอานิสงส์ 4 ด้านหลักในเบื้องต้นคือ 1.การค้าระหว่างไทย-จีน และไทย-สหรัฐฯ ก็จะดีขึ้นด้วย พอจีนและสหรัฐฯดีขึ้นก็จะลากทั้งโลกดีขึ้นตาม โดยตัวเลขการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2564 โตถึง 41% เป็นผลจากการค้าต่างประเทศฟื้นตัว 

2.ถ้าไทยสามารถบริหารการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดีขึ้น นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะมาไทยคือจีน โดยจีนจะยังไม่ไปเที่ยวประเทศไกล ๆ อย่างสหรัฐฯา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่จะมาเที่ยวในประเทศกลุ่มเซาท์อีสท์เอเชียก่อน  โดยเฉพาะไทย ถ้ายิ่งฉีดวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มจำนวนมากคนจีนยิ่งมั่นใจเพราะเป็นวัคซีนที่มาจากจีน  ดังนั้นภายในสิ้นปี 2564 ถ้าฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมทั่วประเทศสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก็จะดีต่อประเทศไทยอย่างมาก 

3.จีนจะเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น และไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่จีนจะเดินหน้าการลงทุนต่อโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี จากที่ก่อนหน้านี้เข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอจำนวนมากก็จะเกิดการลงทุนต่อเนื่อง  

4.ต้นปี2565 ไทยจะได้รับอานิสงส์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป(RCEP) สมาชิกประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียนและ 5 ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีไต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ก็จะเป็นอีกตัวกระตุ้นที่ทำให้จีนออกมาลงทุนมากขึ้น เพราะจะมีการลดภาษีสินค้าระหว่างกันในระดับที่มากกว่าเอฟทีเอทวิภาคี ซึ่งประเทศในกลุ่มอาร์เซ็ปมีจีดีพี 30% ของโลก และมีประชากร 30% ของโลก 

ที่สำคัญการขยับตัวของจีน จะทำให้สินค้าส่งออกไทยที่น่าจับตามากที่สุดคือ 1.กลุ่มชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2.กลุ่มสินค้าเกษตร เช่นยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล 3.เม็ดพลาสติก 4.ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 5.กลุ่มอาหาร เช่น ทุเรียน มังคุด ผลไม้อบแห้ง เหล่านี้เป็นกลุ่มสินค้าที่จีนต้องการมากหลังฟื้นตัวจากโควิด

สมภพ  มานะรังสรรค์

มองประเทศไทยครึ่งปีหลัง

 รศ.ดร.สมภพ ยังมองภาพรวมประเทศไทยในครึ่งปีหลังว่า จะขึ้นอยู่ที่ปัญหาในประเทศไทยเอง ที่ความเคลื่อนไหวด้านโควิดเดินสวนทางกับหลายประเทศที่การดูแลการแพร่ระบาดของโควิดดีขึ้น แต่ไทยยังควบคุมได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะการระบาดในโรงงานในขณะที่การส่งออกในขณะนี้เป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยโลก ภาคการผลิตจึงสำคัญทุกกลุ่ม และถ้าโรงงานจะต้องล็อกดาวน์บ่อย ๆ ก็จะมีปัญหาด้านความมั่นคงด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เหล่านี้คือปัญหาของเราที่เกิดขึ้นในประเทศและถ้าคุมไม่อยู่จะเสียโอกาสการส่งออกที่เริ่มมีทิศทางที่ดีได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน 

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งฉีดวัคซีนครอบคลุมให้เร็วที่สุด จะต้องคัดกรองคนติดแยกออกมาให้มากที่สุดเร็วที่สุด แล้วฉีดวัคซีน ซึ่งวิธีปฏิบัติแบบนี้ทั้งจีนและเวียดนามทำได้สำเร็จแล้ว  รวมถึงการควบคุมแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อลักลอบเข้ามาและที่เข้ามาถูกต้องให้ได้ด้วย

 “ปี 2564 มีตัวช่วย 2 ตัวที่พอจะฝาก ผีฝากไข้ได้คือการส่งออกของไทย แต่ขึ้นอยู่ที่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานให้ได้ด้วย และการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวที่ควบคุมได้เช่นสถานที่เที่ยวที่เป็นเกาะ เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ ดังนั้นภาครัฐจะต้องระดมตรวจโควิดและระดมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด” 

ครึ่งหลัง ปี 65 ศก.จะโงหัว 

 เมื่อถามว่าประชาชนคนไทยจะเผชิญพิษโควิดอีกนานแค่ไหนนั้น รศ.ดร.สมภพมองว่าจะขึ้นอยู่ที่ว่าไทยจะบริหารการรับมือโควิดได้แค่ไหน โดยรัฐจะต้องให้ความสำคัญอันดับแรกคือเร่งตรวจโควิด และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ก่อน ถ้าทำตรงนี้ได้คิดว่าครึ่งปีหลังปี 2565 ภาพรวมทางเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มโงหัวขึ้น 

 “ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้จักจัดอันดับความสำคัญก่อน-หลังของการแก้ไขปัญหาและโดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อนคือ ต้องระดมตรวจคนติดเชื้อโควิด และต้องระดมฉีดวัคซีน และไปกอบกู้ภาคการส่งออกและบริการให้ดีขึ้นโดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และมองว่าจีดีพีของประเทศปี 2564 น่าจะโตเต็มที่ที่ 1.8% ตามที่แบงก์ชาติประเมินไว้ก่อนหน้านี้  และคิดว่าการส่งออกปีนี้ยังเติบโตได้ทั้งปีอย่างน้อย 10% เหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณดี แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการ การรับมือวิกฤติโควิดของรัฐบาลด้วย” 

2 ยักษ์จีน-อเมริกา ปลุกเศรษฐกิจโลก อานิสงส์ไทย 4 ด้าน ลุ้นส่งออกโต 10%

มองจุดแข็งประเทศไทย 

รศ.ดร.สมภพยังมองถึงจุดแข็งของประเทศไทยด้วยว่า มีหลายส่วนที่ได้เปรียบหลายๆประเทศไล่ตั้งแต่ 1.สถานการณ์เงินในประเทศยังไม่ได้ขาดแคลนดูจากเงินฝากในสถาบันการเงินพาณิชย์มีเงินฝากประชาชนจำนวนมากแต่ปัญหาใหญ่ของเราคือใช้เงินไม่เป็น   

2.แบงก์ชาติมีทุนสำรองต่างประเทศจำนวนมากหรือมีครึ่งหนึ่งของจีดีพี ถือว่าสูงมาก 3. รัฐบาลไม่ได้มีหนี้สาธารณะมาก ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและรัฐบาลเป็นหนี้ต่างประเทศก็น้อยมาก 4.ธุรกิจของไทยยังไม่ได้เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมากแบบสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง 

ดังนั้นในแง่เศรษฐกิจมหภาค ไทยเรายังมีจุดแข็งในลำดับต้น ๆ ของเอเชีย และเมื่อเศรษฐกิจมหภาคแข็งก็ต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวด้วย 

พร้อมทิ้งท้ายฝากรัฐบาลว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้จักจัดอันดับความสำคัญก่อน-หลังของการแก้ไขปัญหาและโดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อนคือ ต้องระดมตรวจคนติดเชื้อโควิด และต้องระดมฉีดวัคซีน  และไปกอบกู้ภาคการส่งออกและบริการให้ดีขึ้นโดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และมองว่าจีดีพีของประเทศปี 2564 น่าจะโตเต็มที่ที่1.8%ตามที่แบงก์ชาติประเมินไว้ก่อนหน้านี้  และคิดว่าการส่งออกปีนี้ยังเติบโตได้ทั้งปีอย่างน้อย 10%เหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณดี แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการ การรับมือวิกฤติโควิดของรัฐบาลด้วย