10 อุตสาหกรรมดาวเด่นครึ่งปีหลังแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องดันส่งออกโต 5-7%

06 ก.ค. 2564 | 09:39 น.

ส.อ.ท.เผย 10 อุตสาหกรรมดาวเด่นยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง ชี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เติบโตตามการฟื้นตัวตลาดโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในครึ่งปี 2564 มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาจาก 10 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, อาหาร, เครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (รวมถุงมือยาง), ยาและสมุนไพร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, เฟอร์นิเจอร์, หัตถกรรมสร้างสรรค์ และเครื่องสำอาง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญให้การเติบโตของการส่งออกปี 2564 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ระดับ 5-7%
ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมดังกล่าวมีการเติบโต 20.3% และคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการส่งออก ซึ่งพบว่ามีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวโดยเฉพาะจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ และจีน สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินไว้ว่าส่งออกปีนี้จะโตได้ 5-7% ไม่น่ามีปัญหา และอาจจะสูงกว่าด้วยหากการเติบโตแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือการกลับมาระบาดของโควิด-19 (covid-19) ทั่วโลกว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากมีไม่มากจนกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญก็คิดว่าโอกาสส่งออกของไทยยังเติบโตได้ดี 

อย่างไรก็ดี เมื่อแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มนี้จะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นตามการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากร โดยกลุ่มอาหารได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และการมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ด้านปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มนี้ ได้แก่ การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอาหารเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานแปรรูปอาหาร

แนวโน้ม 10 อุตสาหกรรมส่งออกครึ่งปีหลัง
2.อุตสาหกรรมที่โดดเด่นต่อเนื่องจากเทรนด์สุขภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (รวมถุงมือยาง) อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยกลุ่มนี้ได้รับแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ปัญหามลพิษต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น บำรุงร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แนวโน้มของการเจ็บป่วยประเภทโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงนโยบายที่สนับสนุนให้ไทยเป็น Medical Hub จะช่วยเสริมทิศทางการเติบโตของกลุ่มเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศสูง โรงพยาบาลต่างๆ นิยมใช้สินค้านำเข้ามากกว่าที่ผลิตในไทย อีกทั้งห้อง LAB ในการทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ยังมีไม่เพียงพอ

3.อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วง Work from Homeได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งการ Work from Home ทำให้ผู้คนต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะทำงาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์โลหะ เป็นต้น เติบโตได้ดีตามการใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 ที่ต้องอยู่กับบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Home Device) ที่มีระบบการทำงานที่ฉลาดมากขึ้น กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย การขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ ราคาเหล็กและทองแดงปรับเพิ่มขึ้น ขาดแคลนแรงงาน และค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น
4.อุตสาหกรรมที่มีทิศทางเติบโตตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย (กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์) ได้แก่ อุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ครัวเรือน และธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร จะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยในสินค้ากลุ่มสร้างสรรค์ และการตกแต่งอาคารสถานที่ต่างๆ อย่างมาก จากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ช่วง COVID-19 ที่ธุรกิจต่างๆ หยุดการใช้จ่าย หยุดการพัฒนา ซึ่งในช่วงเวลาที่หยุดไปนั้น สิ่งของต่างๆ ได้ถูกใช้จนเต็มประสิทธิภาพแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีการฟื้นตัวจึงนับเป็นโอกาสของสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่จะฟื้นตัวได้สูง แต่ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มนี้ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ถูกกว่า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น