เจาะกลยุทธ์ผู้นำ ‘แพลททินัม ฟรุ๊ต’  คิดล้ำๆ ทดลองทำ  สู่เป้าหมายความสำเร็จ

05 พ.ค. 2566 | 01:15 น.

ในปีที่อากาศร้อนแรงเช่นนี้ รู้หรือไม่ว่า มันคือการสร้างโอกาสให้ธุรกิจส่งออกผลไม้สดของไทยอย่างมหาศาล ด้วยมุมมองของผู้ชำนาญการอย่าง “ณธกฤษ เอี่ยมสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด

ที่คลุกคลีอยู่กับวงการผลไม้สดมากกว่า 30 ปี จนกลายเป็นผู้ส่งออกผลไม้สดรายใหญ่ของไทย ด้วยมูลค่ารายได้กว่า 5,200 ล้านบาทในปี 2565

เจาะกลยุทธ์ผู้นำ ‘แพลททินัม ฟรุ๊ต’  คิดล้ำๆ ทดลองทำ  สู่เป้าหมายความสำเร็จ

“ณธกฤษ” บอกเลยว่า ปีนี้ผลไม้ไทยรสชาติดีหมด เพราะอากาศแห้ง โดยเฉพาะทุเรียน และมะพร้าว ซึ่งเป็น 2 ใน 4 ของผลไม้ส่งออก ที่แพลททินัม ฟรุ๊ต ทำตลาดอยู่ โดยยังมี ลำไย และมังคุด เป็นอีก 2 ผลไม้ทำรายได้ให้กับบริษัท 


“ปีนี้สภาพอากาศเมืองไทยถือว่าใช้ได้ ผลไม้อร่อย เพราะผลไม้ชอบอากาศแห้ง มีน้ำ อย่างมะพร้าวตอนนี้ก็จะหวาน ปีนี้ไม่มีปัญหาเรื่องทุเรียนไม่อร่อย เพราะอากาศแห้ง แล้วทำให้ทุเรียนคายน้ำ รสชาติทุเรียนจึงดี”

นั่นคือส่วนหนึ่งของความรู้ที่ “ณธกฤษ” เรียนรู้จากประสบการณ์ และเขายังเผยอีกว่า ปีหน้าเป็นปีที่ต้องระวัง หากยังแล้งเช่นนี้อีก ผลผลิตผลไม้จะมีปัญหา เพราะฉะนั้น เจ้าของสวนต้องรูัจักวิธีแก้ไขป้องกัน ซึ่งเขาเองได้เรียนรู้และศึกษา พร้อมทั้งทำงานศึกษาวิจัย โดยตั้งทีมงาน R&D ในส่วนนี้ขึ้นมา เพื่อศึกษาและพัฒนาผลผลิต และนำองค์ความรู้ที่ได้ ส่งต่อให้กับชาวสวนเทคนิคและความรู้ที่มีกว่า 30 ปี

เจาะกลยุทธ์ผู้นำ ‘แพลททินัม ฟรุ๊ต’  คิดล้ำๆ ทดลองทำ  สู่เป้าหมายความสำเร็จ

ประกอบกับความช่างสังเกต และคิดหาวิธีการแก้ไข ทำให้ธุรกิจส่งออกผลไม้สดของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว จากรุ่นพ่อแม่ ที่ทำรายได้ปีละ 150 ล้านบาท กลายเป็น 5,200 ล้านบาทในวันนี้ และเขายังเตรียมขยายตลาดต่ออย่างเต็มที่

ตลาดที่ผู้บริหารหนุ่มคนนี้มองไว้ คือ การเจาะตลาดเดิม ที่ได้แก่ อินโดนีเซีย และ จีน ซึ่งมีทั้งกวางเจา เซี่ยงไฮ้ และชิงเต่า รวมไปถึงตลาด ไต้หวัน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และยุโรป อย่างอังกฤษ ด้วยปริมาณการส่งออกกว่า 1.8 หมื่นตันต่อปี ก็เตรียมขยายเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็มองหาตลาดใหม่ๆ อย่างเวียดนาม และการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาด 
  เจาะกลยุทธ์ผู้นำ ‘แพลททินัม ฟรุ๊ต’  คิดล้ำๆ ทดลองทำ  สู่เป้าหมายความสำเร็จ

“ณธกฤษ” ย้ำมากกว่า การเพิ่มรายได้ ไม่ใช่แค่การขยายตลาด แต่ต้องดูทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นผลไม้ในสวนต้องมีคุณภาพ การจัดส่ง การโลจิสติกส์ต้องดี พันธมิตรต้องมีความร่วมมือกัน ทำให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนไม่มีปัญหาติดขัด หรือติดขัดน้อยที่สุด นั่นจึงจะทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จได้
 

หัวใจสำคัญที่ “ณธกฤษ” ใส่ใจอย่างมาก คือ การทำงานให้สมูททั้งระบบ ซึ่งต้องอาศัยการลงรายละเอียดมากมาย เขาจึงสร้างอีโคซิสเต็มในระบบการทำธุรกิจของเขาไว้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่การสร้างเครือข่ายพันธมิตร ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมายาวนาน ทั้งกับลูกค้า เรือขนส่ง ทีมงาน ชาวสวน โดยสิ่งที่เขานำมาเป็นเครื่องมือในการผูกใจอีโคซิสเต็มตลอดซัพพลายเชน คือ “ความจริงใจ และตรงไปตรงมา” มีความรู้ก็แบ่งปัน มีปัญหาก็ช่วยคิดหาวิธีแก้ และไม่ได้คิดแค่กอบโกยกำไรหรือรายได้ แต่ต้องมองการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวและยั่งยืน นั่นคือ การสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ เรื่องเหล่านี้ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด  
     

ย้อนไปในยุคเริ่มต้นของ “ณธกฤษ” ที่เข้ามารับช่วงธุรกิจครอบครัวเต็มตัวเมื่อปี 2553 โดยเริ่มต้นจากการอุดรอยรั่วทั้งหมดในองค์กร ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และสรรหาผู้จัดการใหม่เข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อน เซ็ททีมลีดเดอร์ ขึ้นมาในแต่ละส่วน เพื่อควบคุมประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมทั้งต่อยอดธุรกิจจากปัญหาที่เห็น อย่างเช่น การเริ่มทำธุรกิจโลจิสติกส์เอง เพื่อลดปัญหาการขนส่งล่าช้า หรือทำให้ผลไม้ขาดคุณภาพ รวมถึงการทำ R&D ที่เดิมมุ่งเน้นการเพิ่มและรักษาคุณภาพผลผลิต จนปัจจุบัน ขยายไปสู่การคิดพัฒนาวิจัยคุณภาพดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและท้ายที่สุดคือการได้ผลผลิตทีดีนั่นเอง 


 แนวทางที่ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ใช้ ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง เขายกตัวอย่างในช่วงโควิดแพร่ระบาด การขนส่งระหว่างประเทศมีปัญหา ผู้ค้าในธุรกิจหลายรายประสบภาวะถดถอย แต่สำหรับ แพลททินัม ฟรุ๊ต กลับสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นจาก 2.500 ล้านบาท เป็นกว่า 3,000 ล้านบาท โดยการแก้ปัญหาในแต่ละจุด 


“ตอนนั้นปัญหาคือ ราคาตู้จะสูงขึ้น เรือที่เรามีคอนเนคชั่น 20-30 ปี เราซัพพอร์ตสายเรือในเรื่องลานตู้ การลงทุนเรื่องตู้ Cool Chain ซึ่งเรานำมาใช้เป็นรายแรกๆ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของสินค้า เรามี “ลานตู้” ให้สายเรือ เขาเลยมาที่เรา ตู้เราก็ไม่ขาด และเราเริ่มนโยบายการทำความสะอาดสินค้าในตู้ ถือเป็นโรงต้นแบบที่สร้างความมั่นใจให้คู่ค้า ทำให้การทำงาน การส่งของของเราสมูท” 


วิธีการโหลดสินค้าก็เปลี่ยน การเซ็ทอุณหภูมิตู้ Cool Chain ที่จะส่งไปในแต่ละจุด จำนวนวันในการเดินทาง ทุกอย่างต้องนำมาคำนวณ แล้วเซ็ทเป็นค่าอุณหภูมิที่แม่นยำ ทำให้เมื่อสินค้าไปถึงปลายทางแล้วสุกพอดีรับประทาน ได้เนื้อตามที่ผู้บริโภคต้องการ ซึ่งเรื่องนี้ ก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้บริหารแพลททินัม ฟรุ๊ต ให้ความสำคัญ นั่นคือ ผู้บริโภคในแต่ละที่ชอบทานผลไม้เนื้อแบบไหน รสชาติอย่างไร 
 

ตอนนี้เรามีความมั่นใจ สิ่งที่เราพูด เป็นจริงได้ 90% ขึ้นไป เราคิดล่วงหน้า คิดตรรกะว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความเสี่ยงในอนาคตคืออะไร แล้วเราก็บอกลูกค้าให้เตรียมตัว และเราเองก็เตรียมตัว เราพูดสิ่งที่เราคิด และบอกกับลูกค้า เมื่อเขาทำตามก็ได้กำไร การทำงานสมูท ไม่ติดขัด แล้วเราได้กำไร ลูกค้าก็ได้กำไร ธุรกิจก็เติบโต เราก็ขยายไปทำเรื่องอื่นได้ต่อ”  
 

ทั้งหมดนั่นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของ แพลททินัม ฟรุ๊ต ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีหน้า ระดมทุนมาขยายตลาดเพื่อเข้าห้าง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้รวมให้แตะหมื่นล้านบาท มาร์จิ้นไม่ต่ำกว่า 10% 
 

เฟสต่อไป คือการรุกหนักด้านโลจิสติกส์ที่ปัจจุบันทำอยู่แล้วให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการขยายตลาดของผลไม้อื่นๆ ในบริษัท ซึ่ง “ณธกฤษ”  มองว่า ตลาดส่งออกผลไม้ 4 อย่าง คือ ทุเรียน ลำไย มะพร้าว มังคุด มีมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้าน ปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ถึง 2 แสนล้านบาท และยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตรงนี้ยังมีโอกาสอีกมหาศาลที่เขาจะเข้าไปช่วงชิง 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,884 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566