คณบดีป้ายแดง  นำ ‘ใจศิริราช’  สร้าง Smart Hospital ต้นแบบ

31 ธ.ค. 2565 | 01:02 น.

โรงพยาบาลศิรราช สถานพยาบาลที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 134 ปี ในยุคที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ เดินหน้าไปไกล วันนี้ศิริราชเปลี่ยนแปลงไปมาก และยังคงเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการเดินหน้าสู่ Smart Hospital และต้นแบบสถานพยาบาลแห่งความเป็นเลิศระดับโลก

“ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งต่อจาก ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่หมดวาระไป เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565

 

“อาจารย์อภิชาติ” สามารถเข้ารับไม้ต่อตามแนวทาง Smart Hospital ของศิริราชทันที ด้วยความที่เป็นบุคลากรที่เติบโตอยู่ในองค์กรแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป็นแพทย์และอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ทำงานอยู่ในศิริราชกว่า 30 ปี และทำหน้าที่ในระดับบริหารราว 25 ปี 
 

พันธกิจของศิริราชคือ รักษา สร้างคน และสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยการทำวิจัย “อาจาย์อภิชาติ” เล่าว่า การรับไม้ต่อครั้งนี้ ภารกิจที่เร่งดำเนินการคือ การเพิ่มคุณค่าการให้บริการที่เป็นเลิศกับผู้ป่วย ซึ่งทำทั้งการการเสริมเทคโนโลยี และเสริมทักษะให้บุคลากร เพื่อให้ศิริราชเป็น Smart Hospital คนไข้มาแล้วต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม ถูกต้องแม่นยำ ปลอดภัย และคุ้มค่า

ส่วนของการเป็นสถาบันการแพทย์ หรือโรงเรียนแพทย์ ต้องทำหน้าที่สร้างบัณฑิตหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจริยธรรม มีความสามารถและออกไปเป็นคนศิริราชที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ รวมทั้งยังต้องสร้างศิริราชให้เป็นสถาบันต้นแบบทางด้านการแพทย์ และการรักษา ด้วยการสร้างนวัตกรรมต้นแบบ Smart Hospital โดย

คณบดีป้ายแดง  นำ ‘ใจศิริราช’  สร้าง Smart Hospital ต้นแบบ

  1. คนศิริราชต้องสมาร์ท รู้และเข้าใจการใช้เทคโนโลยี
  2. ต้องมีสมาร์ทอินฟอร์เมชั่น ข้อมูลที่ไ่ด้ต้องนำมาวิเคราะห์ปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง เพื่อให้มั่นใจว่า คนไข้ได้รับการดูแลที่ดี ไม่ติดขัด 
  3. ความคุ้มค่า
  4. ต้องมีสมาร์ทโอปอเรชั่น ต้องมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพ เพื่อลดขั้นตอน ต้อง Lean ประหยัดต้นทุน
  5. ต้องมีการทำรีเสิร์จ ศิริราชจะเป็นต้นแบบของการทำ “Routine to Research” หรือ R2R เป็นการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย

“อาจารย์อภิชาติ” ขยายความถึงการเป็น Smart Hospital ของศิริราชที่อำนายความสะดวกด้านการรักษาพยาบาลให้กับคนไข้ ด้วยการขยายจุดให้บริการ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เช่น การทำ Si Connect ที่ทำให้คนไข้สามารถติดต่อสื่อสารกับแพทย์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง รวมถึงการขยายจุดรับบริการ เช่น ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่กำลังขยายบริการให้เป็นศูนย์อุบัติเหตุ และศูนย์มะเร็ง หลังจากพัฒนาให้เป็นศูนย์ไตแล้ว
  คณบดีป้ายแดง  นำ ‘ใจศิริราช’  สร้าง Smart Hospital ต้นแบบ

นอกจากนี้ ยังมีการขยายจุดตรวจเลือด Drive thru ที่บริเวณติดกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร และจุดเจาะเลือดที่อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 1 ซึ่งขณะนี้เตรียมร่วมมือกับศูนย์การค้า เช่น กลุ่มเซ็นทรัลในการเปิดศูนย์ลักษณะนี้เพิ่มเติม ที่บริเวณเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และปี 2566 ยังเตรียมสร้าง   
 

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ที่สมุทรสาตร เป็นสถานฟื้นฟูร่างกายให้ผู้ป่วยสูงอายุ และยังเป็นศูนย์ฝึกสอนให้ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย โดยได้รับการบริจาคที่ดินกว่า 24 ไร่ และเงินอีก 200 ล้านบาท จาก วารุณี อยู่พูนทรัพย์ 
 

รวมถึงอาคารรักษาพยาบาล และสถานีรถไฟร่วมศิริราช บนสถานีรถไฟฟ้าสายสายสีส้ม และสายสีแดงอ่อน ซึ่งจะเป็นเหมือนคลินิกขนาดใหญ่ เป็นโครงการพัฒนาอาคารศูนย์การแพทย์รวมแห่งใหม่ ที่จะใช้ทดแทนอาคารผู้ป่วยนอกเดิมของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งจะเกิดอีกราว 10 ปีข้างหน้า 
 

การกระจายจุดบริการของศิริราชออกไปข้างนอก นอกจากลดความแออัดที่มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการวันละกว่า 1 หมื่นคน ปีละกว่า 4.2-4.5 ล้านคนแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกให้กับคนไข้ด้วย แต่ “อาจารย์อภิชาติ” ย้ำว่า การที่ศิริราชจะไปเปิดที่ไหน สิ่งที่ระมัดระวังที่สุดคือ แบรนดิ้งศิริราชต้องไม่ตกมาตรฐานแบรนดิ้งศิริราชต้องไปพร้อมกับคนศิริราช ระบบไม่มีปัญหา ต้องมีการเช่ื่อมโยง (linkage) ระบบได้ และสำคัญที่สุดคือ “คน” 
 

“อาจารย์อภิชาติ” ขยายความอีกว่า “คนศิริราช” ต้องมี “หัวใจศิริราช” ลักษณะที่สำคัญจะต้องมีคุณสมบัติ คือ

 

AIR เริ่มจากตัว R : Responsibility คือ ความรับผิดชอบ ทุกคนต้องรู้ว่างานของตนเองคืออะไร และต้องให้ดีที่สุดด้วยทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ I : Integrity ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ สุจริต ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงที่รับรองแล้วอย่างมีเหตุมีผล ไม่เอาอารมณ์หรือความคิดส่วนตัวมาใส่ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ บนฐานข้อมูลที่เป็นจริง ตรงนี้สำคัญมากเพราะมันคือเรื่องของชีวิตคน ต้องดูว่าอะไรที่เหมาะที่สุดกับคนไข้นั้น และต้องทำให้ดี และ A : Altruism ความบริสุทธิ์ใจ การคิดอันเป็นกุศล ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา และทำทุกอย่างให้ดีที่สุด 
 สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความศรัทธาต่อศิริราช 

 

“อาจารย์อภิชาติ” เล่าว่า การทำงานวันนี้ยังไม่เจออะไรที่หนักใจ มีแต่เรื่องที่ต้องทำและทำไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับคนศิริราชกว่า 2 หมื่นคน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Smart Hospital และสถาบันทางการแพทย์ต้นแบบของคนไทยและประชากรโลก 


หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,848 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565