ชาวนาเฮ ตลาดใน-นอกต้องการข้าวเพิ่ม ห่วงข้าวอินทรีย์ตกขบวน “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

22 เม.ย. 2567 | 06:57 น.

ชาวนาเฮ“พาณิชย์-เอกชน” เคาะเป้าส่งออกข้าวใหม่รอบ 2 จาก 7.5 ล้านตันเป็น 8.030 ล้านตัน ขณะคาดปี 67 นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทะลักเข้าไทย 35 ล้านคน บวกแรงงานต่างด้าว หนุนบริโภคข้าวในประเทศเพิ่ม ด้าน สว.ห่วงผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ 2 แสนครัวเรือน ตกขบวน “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

 “ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรสำคัญในลำดับต้น ๆ ของไทย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และมีผลผลิตเหลือส่งออกมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 16 ล้านคน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในการลดต้นทุนการผลิต รัฐบาลได้ออกมาตรการทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการกำหนดเป้าหมายการผลิต การส่งออก และการใช้ข้าวในแต่ละปี เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา ล่าสุดมีการประชุมกำหนดความต้องการใช้ข้าวปีการผลิต 2567/68 ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

ชาวนาเฮ ตลาดใน-นอกต้องการข้าวเพิ่ม ห่วงข้าวอินทรีย์ตกขบวน “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุม ( 11 เม.ย.67) ได้ปรับเป้าการส่งออกข้าวปี 2567 ใหม่เป็นรอบที่ 2 จากเดิมคาดจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน เพิ่มเป็น 8.030 ล้านตัน เนื่องจากการส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มขยายตัว โดยประเทศคู่ค้ามีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มีความต้องการข้าวเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกำหนดความต้องการใช้ข้าวปีการผลิต 2567/68 มีปริมาณรวม 29.391 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น 19.104 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.3% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 29.296 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 19.042 ล้านตันข้าวสาร แบ่งเป็นเพื่อการบริโภคในประเทศ ปริมาณรวม 10.157 ล้านตันข้าวสาร โดยคาดการณ์คนไทย 65.5 ล้านคน มีอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 75.65 กิโลกรัม (กก.)ต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 200 กรัมข้าวสาร คิดเป็น 500 กรัมข้าวสุก หรือ 3 จาน/วัน (165 กรัม/จาน) เท่ากับปีก่อน

 

ชาวนาเฮ ตลาดใน-นอกต้องการข้าวเพิ่ม ห่วงข้าวอินทรีย์ตกขบวน “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

ส่วนความต้องการบริโภคข้าวของแรงงานต่างด้าวมีทิศทางเพิ่มขึ้น จากภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัว เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดทำยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวไทย ปี 2567 ตั้งเป้าหมายผลักดันนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน มีการคำนวณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 1.48 กก. / คน / ปี โดยพักอาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 15 วัน และ บริโภคต่อวันน้อยกว่าคนไทยครึ่งนึง (100 กรัมข้าวสาร หรือ 200 กรัมข้าวสุก หรือ 2 มื้อต่อวัน) ดังนั้น คาดการณ์ ปี 2567 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีความต้องการบริโภคข้าว เท่ากับ 0.052 ล้านตัน ข้าวสาร เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า การกำหนดความต้องการข้าวนับเป็นข้อดี จะทำให้ชาวนาได้รับทราบว่าตลาดต้องการข้าวชนิดใด จะได้ผลิตตามความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังเป็นข้อกังวลในโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ เนื่องจากชาวนาต้องจ่ายครึ่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถเลือกสูตรปุ๋ยเองได้ ตกลงว่าจะช่วยชาวนา หรือพ่อค้าปุ๋ย

ชาวนาเฮ ตลาดใน-นอกต้องการข้าวเพิ่ม ห่วงข้าวอินทรีย์ตกขบวน “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

เช่นเดียวกับนายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล รองเลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ถือเป็นโครงการที่ดี แต่ยังมีข้อห่วงใย จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.กรณีจะตัดเงินในส่วนที่เคยช่วยเหลือชาวนาจากจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ จ่ายสูงสุด 2 หมื่นบาทนั้นจะตัดงบประมาณจากเงินส่วนใด

2.มีแนวทางการจัดหาปุ๋ยอย่างไร เช่น จะให้ชาวนาจัดหาเองหรือ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้จัดหาให้ชาวนา ซึ่งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพ ปุ๋ยปลอม และมีราคาสูงกว่าราคาตลาด อีกทั้งอาจเป็นช่องทางการทุจริตในการจัดซื้อจัดหาของผู้ที่เกี่ยวข้อง และที่น่าห่วงคือ เกษตรกรที่ทำข้าวอินทรีย์ 2 แสนครัวเรือน จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร ปุ๋ยที่จะจัดซื้อตรงมาตรมาตรฐานอินทรีย์หรือไม่ หากไม่ผ่านมาตรฐานจะมีแนวทางแก้ไขและมีผู้รับผิดชอบหรือไม่