กรมพัฒน์เล็ง ตั้งธุรกิจใหม่ปีมังกรพุ่ง 9.5 หมื่นราย เสริมรัฐดันจีดีพีโต

16 ก.พ. 2567 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2567 | 07:51 น.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลการจดทะเบียนธุรกิจ (ทั้งตั้งใหม่ และเลิกประกอบกิจการ) การส่งเสริมธุรกิจในประเทศ การบริการข้อมูลธุรกิจ

นอกจากนี้ทางกรมฯยังกำกับดูแลการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งในรอบปี 2566 ที่ผ่านมาภาพรวมผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และทิศทางแนวโน้มปี 2567 จะเป็นอย่างไรนั้น “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นางอรมน กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 85,300 ราย ถือเป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปี (นับตั้งแต่ปี 2557) ทุนจดทะเบียนรวม 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีทุนจดทะเบียน 429,282.81 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ที่มียอดจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป, อสังหาริมทรัพย์, ภัตตาคาร/ร้านอาหาร, ให้คำปรึกษา และตัวแทนนายหน้า

ส่วนการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 667 ราย เงินลงทุนรวม 127,532 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนผ่านช่องทางขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ)  439 ราย

กรมพัฒน์เล็ง ตั้งธุรกิจใหม่ปีมังกรพุ่ง 9.5 หมื่นราย เสริมรัฐดันจีดีพีโต

  • ญี่ปุ่นยังเบอร์ 1 ลงทุนไทย

โดย 5 อันดับแรกประกอบด้วย ญี่ปุ่น 137 ราย, สิงคโปร์ 102 ราย, สหรัฐอเมริกา 101 ราย, จีน 59 ราย และฮ่องกง 34 ราย ในจำนวนทั้งหมดสนใจลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 134 ราย (20%) มูลค่าการลงทุน 38,613 ล้านบาท และโดยภาพรวมประเภทธุรกิจที่ต่างชาติสนใจลงทุนประกอบธุรกิจในไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ บริการรับจ้างผลิต, บริการด้านคอมพิวเตอร์, บริการให้คำปรึกษา, ค้าส่งสินค้า และบริการทางวิศวกรรม

  • คาดปี 67 ยอดโตต่อเนื่อง

 “ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2567 คาดจะอยู่ที่ 90,000-95,000 ราย หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 5-10% ส่วนการลงทุนของต่างชาติตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5-10% และอาจมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 15%ปี โดยการขยายตัวดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ โดยสภาพัฒน์คาดจีดีพี หรือเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.7-3.7% และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.7% ส่วนกระทรวงการคลังคาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% ส่งออกไทยคาดว่าน่าจะโต 2-3%”

นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวก็คาดจะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้น เช่น มีมาตรการวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยว และพยายามสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยว และพยายามที่จะนำประวัติศาสตร์รากเหง้าวัฒนธรรมที่เราเรียกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” มาทำเรื่องราวเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศในสาขาต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น และทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีความเชื่อมโยงกันขยายตัว และมีการจดทะเบียนตั้งใหม่เพิ่มขึ้นตามมา เช่น การก่อสร้าง ร้านอาหาร/ภัตตาคาร ก่อสร้าง จัดนำเที่ยว เป็นต้น

  • อีกพลังขับเคลื่อน ศก.ไทย

นางอรมน กล่าวอีกว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปข้างหน้า โดยด้านแรก จากที่กรมฯกำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนธุรกิจไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด

ทั้งการจดทะเบียนตั้งใหม่ และเลิกกิจการ ซึ่งจะดูแลผู้ประกอบให้ได้รับความสะดวกที่สุด เวลานี้สามารถจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ รวมถึงจะทำสัญญาสั่งซื้อ-สั่งขายในการประกอบธุรกิจ ที่ต้องแนบใบรับรองนิติบุคคลก็สามารถขอได้อย่างรวดเร็วทันใจ และนอกเวลาราชการก็ยังขอได้ เพราะใช้ระบบออนไลน์ ช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายได้มาก

ด้านที่สอง เมื่อผู้ประกอบการตั้งธุรกิจขึ้นมาแล้วก็ต้องดูแลให้เติบโต เน้นที่เอสเอ็มอี โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีโครงการ/กิจกรรม และมีพันธมิตร ในการให้การสนับสุนและช่วยเหลือ เช่น เป็นตัวกลาง ไปคุยกับสถาบันการเงินเพื่อขอให้มีแพ็กเกจพิเศษให้กับเอสเอ็มอีที่บางครั้งมีปัญหาในการขอกู้เงิน ขณะที่นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมพัฒน์ฯ ไปช่วยเจรจากับตลาดนัด ร้านค้าปลีก-ค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าที่หากมีพื้นที่ว่าง ขอโอกาสให้ SME มาลองใช้พื้นที่ฟรีในการขายสินค้า หากธุรกิจไปได้ดี ค่อยว่ากันในเรื่องค่าเช่า ที่อาจลดราคาให้

ด้านที่สาม การทำธุรกิจต้องมีธรรมาภิบาล ซึ่งหลายธุรกิจมีคนตั้งข้อสังเกตและมีคำถามเรื่องนอมินี ซึ่งทางกรมฯได้เข้าไปดูแลตรวจสอบให้ต่างด้าวถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% และคนไทยต้องถืออย่างน้อย 51% ถ้าเกินถือว่าขัดต่อกฎหมายและต้องดำเนินการเอาผิด

“ทางกรมฯยังเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล พ.ร.บ.การบัญชี ซึ่งการจะทำธุรกิจอย่างยั่งยืนผู้ประกอบการจะต้องมีการทำบัญชีที่ถูกต้อง ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญไปสอนให้ เพราะไม่อย่างนั้นคุณก็จะเจอความยากลำบาก จะคำนวณต้นทุนอย่างไร จะตั้งราคาอย่างไร สินค้าคงคลัง และอื่น ๆ พูดง่ายๆ เราดูหลังบ้านให้ด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีส่วนช่วยผู้ประกอบการ ช่วยให้ธุรกิจขยายตัว และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกทางหนึ่ง” นางอรมน กล่าว